ภัยร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

by admin

ภัยร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

by admin

by admin

ภัยร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม

พระพุทธเจ้าองค์ปฐม

ขึ้นหัวข้อตอนนี้ไว้ว่า ภัยร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรม คงเป็นอีกตอนหนึ่งที่มีคุณค่าไม่น้อยกว่าทุกตอนที่นำเสนอมาแล้ว พระพุทธพจน์อีกมากมายที่ประทับใจเป็นอย่างมากเช่นโลกนี้ไม่มีใครผิดใครถูก,อยากพ้นกฎของกรรม ก็จงเพียรทำความดีเพื่อชนะความเลว,วิธีพ้นภัยตนเอง,มื่อสิ้นความเบียดเบียนตนเองแล้ว คำว่าจักไปเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้นย่อมไม่มี,อย่าปฏิบัติเลื่อนลอยจักไม่ได้ผล,การแนะนำอย่ากระทำตนเป็นผู้รู้ ให้ถ่อมตนเข้าไว้ว่า ที่รู้นั้นรู้ตามพระพุทธเจ้าท่านสอน,ทุกๆ คนย่อมมีบาปเก่า ๆ ท่วมทับใจอยู่ บาปเก่า ๆ เหล่านี้แหละที่จักสามารถดึงทุกท่านลงนรกได้,การเอาชนะอารมณ์ที่เป็นกิเลสนี้ นี่แหละคืองานประจำเป็นต้น พระธรรมชุดนี้ผมนำมาจากหนังสือธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้นเล่ม ๗ มิถุนายนตอน ๓ ที่ รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน ลองอ่านดูนะครับ

อย่าเอาความเลวไปแก้ความเลว

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอน โดยให้หลักไว้ดังนี้
๑. อย่าเอาความเลวไปแก้ความเลว จงเอาความดีเข้าไปชนะความเลวของจิตตนเองไม่ใช่เอาความเลวของเราไปชนะความเลวของบุคคลอื่น เพราะนั่นไม่ใช่วิสัยของ อริยชน

๒. ที่พวกเจ้าต้องผจญอยู่กับกฎของกรรมเยี่ยงนี้ ก็เพราะเป็นผลแห่งความเลวที่พวกเจ้าได้กระทำกันมาก่อน จึงพึงสร้างความดีลบล้างอารมณ์จิตเลว ที่ยอมรับผลแห่งกฎของกรรม มัวแต่ไปโทษบุคคลอื่นเยี่ยงนี้มันก็ไม่ถูกต้อง

๓. วางอารมณ์เสียใหม่ อยากได้มรรคผลนิพพาน จักต้องเคารพกฎของกรรมให้มาก ๆ ให้จิตมีความอดทนต่อกฎของกรรมเข้าไว้ โลกนี้ไม่มีใครผิดใครถูก มีแต่กฎของกรรมแสดงอยู่ไม่เว้นตลอดกาลตลอดสมัย

๔. อยากพ้นกฎของกรรม ก็จงเพียรทำความดีเพื่อชนะความเลว อันเป็นกิเลสแห่งจิตของตนให้สิ้นซากไปเท่านั้น จึงจักพ้นได้จงหมั่นตรวจสอบสังโยชน์ดูให้ดี ๆ อย่าลืมซิว่า เวลานี้พวกเจ้าต้องการอะไร (ก็ตอบว่า ต้องการพระนิพพาน)

๕. แล้วการมีอารมณ์ไม่พอใจอยู่ในขณะนี้ จักเข้าถึงพระนิพพานได้ไหม (ตอบว่า เข้าไม่ได้)

๖. แล้วจักเกาะทุกข์เหล่านี้อยู่ทำไม ให้จิตเศร้าหมองอยู่อย่างนั้นหรือ อย่างนี้เป็นคุณหรือเป็นโทษ (ตอบว่า เป็นโทษ)

๗. เมื่อเป็นโทษก็พึงอย่าทำ ละวางอารมณ์นี้ลงไปเสีย จงเลือกเอาแต่อารมณ์ที่เป็นคุณมากระทำ จึงจักถูกต้องเพื่อมรรคผลนิพพาน

๘. เมื่อเข้าใจแล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย ทำได้หรือไม่ได้ก็ต้องทำ

วิธีพ้นภัยตนเอง

สมเด็จองค์ปฐม ทรงมีพระเมตตา ตรัสสอนไว้ดังนี้

๑. อยู่ที่การหมั่นตรวจสอบจิต ให้มีอารมณ์ผ่องใสอยู่ในธรรมให้เสมอ ตั้งแต่เช้าลืมตาขึ้นมาพยายามตั้งอารมณ์ให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ และพยายามตั้งอยู่ให้มั่นคง ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งหลับตานอนหลับไป หากทำได้จิตจักผ่องใส เจริญอยู่ในธรรมตลอดเวลา เพราะอำนาจของพรหมวิหาร ๔ จักบังคับจิตไม่ให้เบียดเบียนตนเองเมื่อสิ้นความเบียดเบียนตนเองแล้ว คำว่าจักไปเบียดเบียนบุคคลอื่นนั้นย่อมไม่มี

๒. ภัยร้ายแรงที่สุดในการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู้ความพ้นทุกข์ ก็คือ ภัยจากอารมณ์จิตของตัวเราเองทำร้ายจิตของเราเอง ดังนั้น หากเราทรงอารมณ์ให้อยู่ในพรหมวิหาร ๔ ได้ครบทั้ง ๔ ประการได้มั่นคงตลอดเวลา จิตเราก็ผ่องใสตลอดเวลา เท่ากับสิ้นความเบียดเบียนตนเองแล้ว หรือพ้นภัยตนเองแล้วอย่างถาวร

๓. ในการปฏิบัติหากจิตมีอารมณ์คิด ก็ให้คิดใคร่ครวญอยู่ในธรรม แม้จักไม่มีคู่สนทนา ก็จงสนทนากับจิตตนเองคือ ใคร่ครวญในพระธรรมวินัย หรือใคร่ครวญในพระสูตรให้จิตตนเองฟัง และเจริญอยู่ในธรรมนั้น ๆ ทำได้เยี่ยงนี้จิตเจ้าจักผ่องใสอยู่ตลอดเวลา ศีล สมาธิ ปัญญาจักเกิดขึ้นได้ด้วยการใคร่ครวญในธรรมนั้น ๆ และจักทำให้จิตจำพระธรรมคำสั่งสอนได้ดีพอสมควร ธรรมเหล่านี้จักเป็นผลพลอยได้ ซึ่งกาลต่อไปเจ้าจักมีโอกาสนำไปสงเคราะห์บอกต่อให้แก่ผู้อื่นได้ศึกษาและเข้าใจถึงธรรมนั้น ๆ ไปด้วย

๔. แต่อย่าลืมหลักสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการอย่าปฏิบัติเลื่อนลอยจักไม่ได้ผล แม้การแนะนำผู้อื่นก็เช่นกัน อย่าทิ้งหลักสังโยชน์ ๓ ประการเบื้องต้นเป็นอันขาด

๕. การแนะนำอย่ากระทำตนเป็นผู้รู้ ให้ถ่อมตนเข้าไว้ว่า ที่รู้นั้นรู้ตามพระพุทธเจ้าท่านสอน ท่านสอนให้ตัดสังโยชน์ ๓ ประการเบื้องต้น เพื่อกันอบายภูมิ ๔ ไว้ก่อน เพราะการไปละเมิดศีล ๕ เข้าข้อใดข้อหนึ่ง กรรมนั้นก็จักถึงให้ตกนรก

๖. นรกขุมแรก สัญชีพนรก๙ ล้านปีของมนุษย์เท่ากับนรกขุมนี้ ๑ วันให้เกรงกลัวบาปเข้าไว้ แต่มิใช่คิดประมาทว่าเป็นไร เราจะพยายามไม่ละเมิดศีล แต่ไม่ต้องรักษาศีลก็แล้วกัน ถ้าบุคคลใดคิดเช่นนั้น ให้ดูตัวอย่าง อานันทเศรษฐี ผู้ไม่มีทั้งกรรมดี คือ ไม่ยอมให้ทานเลย แต่ก็ไม่มีกรรมชั่ว เพราะเขาไม่ได้รักษาศีล แต่ก็ไม่ได้ละเมิดศีล ผลของการไม่ให้ทานทำให้เกิดเป็นลูกขอทานผลที่เขาไม่ได้รักษาศีล ทำให้รูปร่างเขาเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น กฎของกรรมมันเป็นอย่างนี้

๗. และอย่าลืมว่าเรามิใช่เกิดมาแต่เพียงชาตินี้ คือปัจจุบันชาติเท่านั้น หากใช้ปัญญาพิจารณาถอยหลังไป คนแต่ละคนเกิดมาแล้วนับอสงไขยไม่ถ้วนในอดีตชาติที่ผ่านมาอย่างนับไม่ถ้วนนั้นทุกๆ คน ทำกรรมชั่วละเมิดศีล ๕ มาแล้วมากกว่าทำกรรมดีนี่เป็นสัจธรรม เพราะฉะนั้นทุกๆ คนย่อมมีบาปเก่า ๆ ท่วมทับใจอยู่ บาปเก่า ๆ เหล่านี้แหละที่จักสามารถดึงทุกท่านลงนรกได้ถ้า หากจิตไม่เข้าถึงความเป็นพระอริยเจ้า คือพระโสดาบันขึ้นไปเป็นอันดับเบื้องต้น เพราะฉะนั้น จุดนี้ทุกคนจึงไม่ควรจักประมาท ให้พยายามตัดสังโยชน์ ๓ เอาไว้ให้ดี ๆ เพื่อป้องกันการไปจุติยังอบายภูมิ ๔ อย่างเด็ดขาด

๘. การพูดต้องพูดตามนี้การปฏิบัติของพวกเจ้า จักต้องกำหนดรู้อยู่ที่สังโยชน์ ๔-๕ จักได้มีการระงับอารมณ์อันเป็นเหตุให้เกิดความพอใจ และไม่พอใจนี่จักต้องมีสติกำหนดรู้ไว้มิใช่ปล่อยให้กระเจิดกระเจิงไปตามอายตนะสัมผัส เหมือนดังที่ผ่านมานั้นใช้ไม่ได้

๙. เมื่อรู้ว่าพลาดก็จงตั้งต้นใหม่ เพียรต่อสู้เรื่อยไป อย่าท้อถอยมีกำลังใจตั้งมั่นไว้เสมอว่า บุคคลใดจักเข้าถึงพระนิพพานได้ บุคคลนั้นต้องตัดสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ประการได้ จึงจักเข้าถึงได้เราเองก็จักต้องกระทำตามนั้น จักเดินทางอื่นเพื่อเข้าถึงพระนิพพานไม่ได้เลย

๑๐. การเอาชนะอารมณ์ที่เป็นกิเลสนี้ นี่แหละคืองานประจำ คืองานสำคัญที่เราจักต้องทำให้ได้ ถ้าปราศจากการกระทำงานนี้แล้ว การเข้าถึงพระนิพพานนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เตือนจิตตนเองไว้เยี่ยงนี้ให้ดี ๆ ปฏิปทาใดที่ครูบาอาจารย์สอนแล้ว จงหมั่นเดินตามทางนั้นด้วยกำลังใจที่ตั้งมั่นในความเพียรหนทางใดเป็นทางพ้นทุกข์ จงเดินตามทางนั้นหนทางใดที่ท่านสอนไว้ว่าเป็นทุกข์ ก็จงละอย่าเดินซึ่งทางนั้น

๑๑. ความโกรธ โลภ หลง นั้นไม่ดีทางนี้ทำให้จิตมีอารมณ์ของความทุกข์ จักต้องใช้ปัญญาพิจารณาว่า อเนกชาติแล้วนะที่เราเดินมาตามทางแห่งความทุกข์นั้น ทุกข์เพราะความโกรธ โลภ หลง ทำให้จิตต้องเสวยทุกข์จุติไปตามอารมณ์เกาะทุกข์ เพราะความโกรธ โลภ หลงนั้นๆ

๑๒. เพลานี้พวกเจ้าได้พบแล้วซึ่งธรรมพ้นทุกข์ จงเดินตามมาเพื่อจักได้พ้นจากการจุติในวัฏฏสงสารให้ได้ก่อนตาย ร่างกายนี้ต้องตายแน่ จึงไม่ควรที่จักประมาทยอมแพ้เต้นตามกิเลสอยู่ร่ำไปขณะจิตนี้แพ้แล้วก็แพ้ไป ตั้งสติกำหนดรู้ แล้วรีบตั้งใจต่อสู้กับกิเลสใหม่ อย่าปล่อยเวลาให้เสียไปโดยไร้ประโยชน์ ขอให้หมั่นเพียรจริงๆ เถิด คำว่าเกินวิสัยที่จักชนะกิเลสได้ย่อมไม่มี

ธัมมวิจยะหรือ ธัมมวิจัย

(บุคคลใดที่ใคร่ครวญพระธรรมวินัยอยู่เสมอ บุคคลนั้นจักไม่เสื่อมจากพระธรรม หรือไม่เสื่อมจากสัจธรรมบุคคลใดเห็นธรรม บุคคลนั้นเห็นเราตถาคต ความเป็นพระพุทธเจ้าอยู่ที่พระธรรม หรือจิตที่ทรงธรรม มิใช่อยู่ที่ร่างกาย ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นพระพุทธพจน์ทั้งสิ้น)

จากการศึกษาพระไตรปิฎกว่าด้วยพระธรรมวินัย แล้วนำมา ธัมมวิจยะ พอสรุปได้ดังนี้

๑. ภิกษุอาทิกัมมิกะ (ภิกษุประพฤติชั่วโดยไม่รู้ก่อนที่จะบัญญัติศีล) เป็นผู้ทำให้เกิดศีล ๒๒๗ เพราะเหตุใด ต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากอารมณ์โลภ โกรธ หลง และโลกธรรม ๘

๒. โลกธรรม ๘ กับศีล เกี่ยวข้องกันอย่างไร

๓. โลกธรรม ๘ กับอารมณ์ ๓ คือ โลภ – โกรธ – หลง ก็เกี่ยวเนื่องกันหมด

๔. ธรรมหรือกรรมทั้งหลาย ล้วนมาแต่เหตุทั้งสิ้น

๕. กฎของกรรมนั้นเที่ยงเสมอ และให้ผลไม่ผิดตัวด้วย

๖. พระองค์สอนหรือแสดงธรรมไปในทางเดียวกัน เกี่ยวเนื่องกัน เดินไปในทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้งกันเลย ถ้าผู้รับฟัง ฟังแล้วเข้าใจ

๗. ที่เกิดการขัดแย้งกัน มีความเห็นแตกต่างกัน ( มีทิฏฐิต่างกัน) เพราะจิตของบุคคลผู้นั้นยังเจริญไม่ถึงจุดนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดอารมณ์พอใจ และไม่พอใจขึ้นหมายความว่ามีบารมีธรรมแค่ไหน ย่อมรู้ธรรมได้แค่นั้น เมื่อบารมีธรรมถึงแล้ว ก็จะเข้าใจ และไม่ขัดแย้งกันอีกต่อไป

๘. ในการปฏิบัติทั้งๆ ที่รู้ๆ อยู่นี่แหละ ก็ยังอดเผลอไม่ได้ เหตุจากโมหะ ความหลง หลงใหญ่ที่สุด คือ หลงคิดว่าร่างกายนี้เป็นของเราเป็นตัว สักกายทิฏฐิ (ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย เรียกว่า สักกายทิฏฐิ) เมื่อหลงคิดว่าตัวกูเป็นของกูแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับร่างกาย จึงเหมาเอาว่าเป็นของกูทั้งหมด

๙. ในการปฏิบัติสำหรับคนฉลาดมีปัญญาสูง พระองค์ทรงให้ตัดหลงใหญ่ตัวเดียวคือ สักกายทิฏฐิข้อเดียว หลงเล็กๆ ก็หลุดจากจิตหมด สามารถจบกิจในพระพุทธศาสนาได้

๑๐. กฎของกรรมคืออริยสัจตัวเดียวกันกรรมใดที่เราไม่เคยก่อไว้ทำไว้ในอดีต วิบากกรรมหรือผลของกรรมย่อมไม่เกิดกับเราในปัจจุบัน ทั้งฝ่ายดี (กุศลกรรม) และฝ่ายชั่ว (อกุศลกรรม)

๑๑. ใครหมดความหลงจึงจบกิจในพุทธศาสนาเพราะหลงเป็นเหตุ จึงทำให้เกิดอารมณ์ไม่พอใจ (ปฏิฆะหรือโทสะ) และพอใจ (ราคะหรือ โลภะ)

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง เพื่อให้เห็นประโยชน์อันหาประมาณมิได้ ของธัมมวิจัย ซึ่งทำให้เกิดปัญญาในทางพุทธใครทำใครได้ ใครเพียรมากพักน้อย เดินทางสายกลางก็จบเร็ว แต่ส่วนใหญ่มักเพียรน้อย พักมาก ยังหาทางสายกลางไม่พบก็จบช้า

วิญญาณธาตุเป็นอย่างไร คืออะไร

หลวงพ่อฤๅษี ท่านเมตตามาสอนเรื่องนี้ไว้ มีความสำคัญดังนี้

๑. วิญญาณธาตุ หมายถึง ระบบประสาทสัมผัสทั้ง ๖ อายตนะ ๖ หรือประตูทั้ง ๖ ของร่างกายอันมีระบบประสาทรับรู้ของตา – หู – จมูก – ลิ้น – กาย โดยมีใจหรือจิตเป็นผู้รับรู้ (สมองเป็นหนึ่งในอาการ ๓๒ ของร่างกาย เป็นศูนย์รับระบบประสาทสัมผัสของร่างกาย ซึ่งทำงานของมันอยู่เป็นปกติ เกิดดับๆ อยู่เป็นสันตติธรรมผู้ที่ไปรับรู้เรื่องของสมองก็คือจิต จะเห็นได้ชัดเจนตอนร่างกายถูกดมยาให้สลบ หรือใช้ยาสลบ ร่างกายทุกส่วนก็สลบ รวมทั้งสมองด้วย แต่จิตไม่สลบ ยังคงรู้อยู่เป็นปกติ มิได้สลบตามร่างกาย จุดนี้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ขั้นสูงเท่านั้น จึงจะรู้และเข้าใจได้)

๒. วิญญาณธาตุตัวนี้แหละเป็นตัวสร้างอารมณ์สุข (พอใจ) สร้างอารมณ์ทุกข์ (ไม่พอใจ) ให้เกิดแก่ร่างกาย

๓. บุคคลใดเอาจิตไปเกาะอารมณ์ทั้งสองแล้วหลงคิดว่า สุข-ทุกขเวทนาของกายนี้มีในเรา เป็นของเรา (เราคือจิตไม่ใช่กาย) มีในเขา เป็นของเขา แต่พอร่างกายมันตาย อารมณ์เหล่านี้ซึ่งเกิดจากวิญญาณธาตุ ก็ตายไปพร้อมกับกาย

๔. แต่จิตไม่เคยตาย จิตเป็นอมตะ ผู้ตายคือร่างกาย พร้อมวิญญาณธาตุ อันตรายอันใหญ่ยิ่งอยู่ที่จิตไปยึดเกาะติดวิญญาณธาตุ เกาะอารมณ์สุข-ทุกข์ว่าเป็นเราเป็นของเรา เอาเวทนาของกายมาเป็นเวทนาของจิต นี่แหละคือตัว สักกายทิฎฐิ ตัวอวิชชา

๕. เพราะแยกกาย – เวทนา – จิต – ธรรม ให้ออกจากจิตไม่ได้ สักกายทิฎฐิก็ตัดไม่ได้เช่นกัน
(ขออธิบายสั้นๆ ว่า กาย – เวทนา ๒ ตัวแรก เป็นเรื่องของร่างกาย กายหรือรูปกายปกติของมันก็ เกิดดับๆ เป็นสันตติธรรม เป็นปกติของมันเวทนาอาศัยกายอยู่ เมื่อกายเกิดดับๆ เวทนาก็ย่อม เกิด – ดับๆ ตามกาย๒ ตัวนี้ต้องมีสติกำหนดรู้อยู่เสมอ หากไม่กำหนดรู้ มันก็ไม่รู้ว่ามันเป็นทุกข์ของกายไม่เกี่ยวกับจิต ต้องกำหนดรู้ตลอดเวลา)

ส่วนจิต หมายถึง เจตสิก คือ อารมณ์ของจิต ซึ่งปกติไม่เที่ยง เกิด – ดับๆ ๆ อยู่เป็นสันตติธรรมเช่นกัน สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ ไม่ควรยึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา

ส่วนธรรมก็ เกิด – ดับ ๆ ๆ ไม่เที่ยง ใครยึดเข้าก็เป็นทุกข์ทันที แบบเดียวกันกับเจตสิก

สำหรับจิต คือ เรานั้นเป็นผู้รู้ เป็นผู้รับรู้เรื่องของธรรม ๔ ตัวนั้น คือ กาย – เวทนา – จิต – ธรรม มันเกิด – ดับๆ อยู่ตลอดเวลาคนละส่วนกับเราคือจิต ในการปฏิบัติที่ถูก จึงต้องรู้สักเพียงแต่ว่ารู้ รู้แล้ววางๆ ๆ ไม่ยึด – ไม่เกาะ – ไม่ปรุงแต่งไปตามสิ่งที่ตนรู้นั้นๆ ขอเขียนไว้สั้นๆ แค่นี้)

รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Top