คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๒ ๓ ม.ค. ๓๑

by admin

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๒ ๓ ม.ค. ๓๑

by admin

by admin

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๒ ๓ ม.ค. ๓๑ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน 
ที่มา หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๔๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ท่านเป็นโรคเรื้อนด้วย ที่อาตมาใช้คำว่าท่านก็เพราะว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าทรงชีวิตอยู่ ถ้าพูดตามอายุท่านก็ต้องเป็นพี่ ดีไม่ดีเลยปู่ ๒,๕๐๐ ปี ปู่อายุไม่ถึงใช่ไหม ถ้าตามฐานะของพระท่านต้องเป็นพี่ เพราะเกิดก่อน และท่านผู้นี้ท่านเป็นพระโสดาบัน แล้วการเป็นของท่านก็เป็นไม่ยาก เพราะว่าบารมีถึง ตามบาลีท่านก็ไม่ได้บอกว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ว่าอย่างไร เป็นแต่เพียงว่าท่านบอกว่าพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ คือพระพุทธเจ้าไปนั่งเทศน์ขวางทาง

คำว่าขวางทางท่านทราบว่าวันนี้สุปปพุทธกุฏฐิจะมาที่นี่ คำว่ากุฏฐิแปลว่าโรคเรื้อน สุปปพุทธเป็นชื่อ ท่านเป็นขอทาน ท่านก็ทราบตั้งแต่ตอนเช้ามืดว่า วันนี้ท่านสุปปพุทธกุฏฐิจะมาฟังเทศน์จากเรา เมื่อเราเทศน์จบ เธอจะได้พระโสดาบัน และก็ทรงทราบต่อไปว่า วันรุ่งขึ้นเธิจะมารายงานผลที่พึงได้รับคือ ความเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นก็ถูกนางยักษิณีแปลงเป็นวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบอย่างนี้ จึงเสด็จไปเทศน์ขวางทาง พอท่านไปนั่งที่ไหนคนก็มามาก มามากท่านก็เทศน์ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิท่านเป็นขอทานด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย เมื่อผ่านไปพบพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์ก็ไม่กล้าเข้าไปนั่งใกล้ใคร แล้วในฐานะก็ไม่ควรจะนั่งใกล้ คือความเป็นโรคเรื้อนก็ไม่ควรจะนั่งใกล้ผู้อื่น ก็นั่งไกลหน่อย

แต่การนั่งนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท จะใกล้ก็ตาม จะไกลก็ตาม คนที่ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีการแสดงธรรมเป็นปาฏิหาริย์ ก็คือว่าคนทุกคนจะนั่งด้านไหนก็ตาม จะมีความรู้สึกเห็นว่าพระพุทธเจ้าหันหน้าเข้าไปหาตนเองอยู่เสมอ ไม่มีหลัง มีแต่หน้า

แล้วประการที่ ๒ จะนั่งไกลแสนไกลเท่าไหร่ก็ตาม อาศัยพระพุทธปาฏิหาริย์ คนฟังทุกคนจะฟังเข้าใจชัดเจนถนัดทุกคน เป็นอันว่าสุปปพุทธถึงแม้จะนั่งไกลไปหน่อย ก็ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าได้ชัดเจนแจ่มใส

เมื่อฟังเทศน์จบท่านก็บรรลุพระโสดาปัตติผล พระพุทธเจ้าก็ทรงกลับ ท่านสุปปพุทธก็กลับ กลับกระท่อม พระพุทธเจ้ากลับวิหาร ตอนกลางคืนท่านมานั่งครุ่นคิดว่า เมื่อตอนกลางวันเราฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมาร เราเป็นพระโสดาบัน ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเราซึ่งเป็นขอทานด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย เป็นโรคที่คนรังเกียจ แต่บังเอิญเวลานี้เป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจะดีใจมาก จึงตั้งใจว่าวันพรุ่งนี้จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบในความเป็นพระโสดาบัน

หลังจากนั้นพระอินทร์ทรงทราบก็มาลองใจท่านสุปปพุทธ ตอนนี้ก็จะให้บุคคลทุกคนทราบว่ากำลังของพระโสดาบันมีแค่ไหน ความจริงกำลังพระโสดาบันมีไม่มาก กำลังของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีน่ะมี ๓ ก็คือ

สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย คือสักกายทิฏฐินี่มีความรู้สึกไม่เท่ากัน พระโสดาบันและพระสกิทาคามีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่มีศีลบริสุทธิ์

ฉะนั้นการใช้ปัญญาของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีในข้อสักกายทิฏฐิ จึงมีแต่ความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย

ถ้ากำลังของพระอนาคามีในข้อสักกายทิฏฐิซึ่งเป็นนิพพิทาญาณ คือมีความเบื่อหน่ายในร่างกาย

ถ้ากำลังของพระอรหันต์นี่สักกายทิฏฐิ จะมีความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

ที่นี้กำลังปัญญาของพระอริยเจ้าไม่เท่ากัน ในเมื่อพระโสดาบันมีกำลังน้อย อันดับแรกก็มีความรู้สึกด้านปัญญาว่าชีวิตนี้ต้องตาย

แล้วต่อมาพระโสดาบันก็มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ย่อมเป็นที่พึ่งสำหรับเรา ชีวิตของเราจะมีความเป็นสุขได้ในปัจจุบันและสัมปรายภพก็เพราะพระไตรสรณาคมน์ทั้ง ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ฉะนั้น จึงตัดสินใจด้วยกำลังของปัญญายอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ ไม่เคลือบแคลงสงสัยต่อไป

หลังจากนั้นก็ทรงศีลบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่ทราบมาว่าพระโสดาบันนี่ไม่ใช่ศีล ๕ แต่เป็นกรรมบถ ๑๐ เพราะจะสังเกตถ้อยคำของนางวิสาขาก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตาม หลายท่านที่เป็นพระโสดาบัน สังเกตที่วาจา ศีล ๕ ท่านห้ามเฉพาะพูดคำเท็จเท่านั้น แต่คำหยาบหรือการเสียดสีกัน หรือการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไม่ได้ห้าม

และพระโสดาบันนี่ไม่ใช่ว่าไม่พูดเท็จอย่างเดียว ไม่พูดเท็จด้วย ไม่ใช้วาจาหยาบเป็นที่สะเทือนใจใครด้วย ไม่เสียดสีใครให้แตกร้าวกันด้วย ไม่ใช้วาจาที่ไร้ประโยชน์ด้วย ก็รวมความว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี มีกรรมบถ ๑๐ อันนี้เป็นเครื่องสันนิษฐานนะ ก็รวมความว่าพระโสดาบันทรงทั้งศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ ครบถ้วน เหตุที่พูดตามนี้เป็นตามหลักสูตร ตามหลักสูตรของหนังสือ

แต่ว่าแนวการปฏิบัติจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าทำสมาธิวิปัสสนาญาณร่วมก็ต้องสังเกตอาการ อาการของบุคคลที่จะเป็นพระโสดาบันน่ะมีอยู่ ตอนนี้หนังสือเขาไม่ได้เขียน เพราะหนังสือเขียนไม่ไม่ได้ต้องคนเขียน แล้วอาการที่เป็นพระโสดาบันที่มีอยู่ให้สังเกตตามนี้

ขณะที่ทรงสมาธิร่วมวิปัสสนาญาณ ก่อนที่จะภาวนาเราต้องใช้ปัญญาเสียก่อนจึงจะดี ปัญญาก็ใช้การพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย เมื่อมีความเกิดแล้ว ต่อไปก็ต้องแก่ ขณะที่ทรงตัวอยู่ในก็ป่วย แล้วก็การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความตายในที่สุด

ในเมื่อความตายมีอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องกาโมกขธรรม คือธรรมที่พ้นจากความตาย ธรรมที่ทำให้พ้นจากความตายจริงๆ ก็ต้องเป็นอรหันต์ หรือว่ายังเป็นอรหันต์ไม่ได้ ความมั่นใจยังไม่พอ จะเป็นอรหันต์ได้หรือไม่ได้ก็ต้องยึดอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน เพราะว่าอารมณ์พระโสดาบันนี่ทำลาย คือปิดกั้นเขตของอบายภูมิ บุคคลใดที่เป็นพระโสดาบันแล้ว บาปกรรมเก่าๆ ทั้งหมดที่ทำมาแล้วจะมากจะน้อยอย่างไรก็ตาม ร้ายแรงแบบไหนก็ตาม ไม่มีโอกาสให้ผล

ถ้าตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้ายังไปนิพพานไม่ได้ แต่ถ้าบุญบารมีเต็มเพียงใดก็ไปนิพพานทันที เรื่องอบายภูมิไม่ลงกัน รวมความว่าผลของบาปเก่าไม่มีต่อไปอีก ไม่มีโอกาสให้ผล ในเมื่อมั่นใจอย่างนี้ก็มีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม ปละพระอริยสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์

แล้วการพิจารณากรรมฐานต้องตัดสินใจก่อน ก่อนเจริญกรรมฐานให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดนี่มันเป็นทุกข์ ถ้าเราจะอยู่อย่างนี้อีกก็มีแต่ความทุกข์ เราไม่ต้องการการเกิดอีก เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน หวังสูงไว้ก่อน 

หลังจากนั้นก็พยายามยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ แล้วเอาศีลคุมกำลังสมาธิไว้ เพราะว่าสมาธิจะทรงได้เพราะศีล ถ้าศีลบกพร่อง สมาธิก็บกพร่อง ต้องควบคุมศีลไว้ให้ทรงตัว

หลังจากนั้นก็เจริญสมาธิตามธรรมดา เมื่อกำลังปัญญายังอ่อน สามารถเข้าเขตพระโสดาบันได้ แต่ขณะที่จะเข้าเขตพระโสดาบันนี้ต้องเข้าถึงโคตรภูญาณของพระโสดาบันก่อน คำว่า โคตรภูญาณ ก็หมายความว่าความรู้ที่เข้าอยู่ในระหว่างระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระคำว่าโลกีย์คือโลก จิตยังเต็มไปด้วยโลกโลกุตตระคือมรรคผล พ้นโลก แล้วจิตอยู่ในช่วงโลกีย์กับโลกุตตระ

ท่านเปรียบเหมือนว่า เรายืนคร่อมลำรางเล็กๆ เท้าขวาก้าวไปเหยียบฝั่งโน้น แต่เท้าซ้ายยังไม่ยกจากฝั่งนี้ ยืนคร่อมแบบนี้ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณ จะเรียกว่าพระโสดาบันก็ยังไม่ได้ จะเป็นญาณโลกีย์ก็ไม่ได้ เพราะคร่อมระหว่าง

ในระหว่างโคตรภูญาณนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท สิ่งที่ท่านจะสังเกตได้ว่าเป็นโคตรภูญาณ ในตอนนั้นจะรู้สึกอารมณ์ของท่านจริงๆ ท่านจะมีความรู้สึกรักเฉพาะพระนิพพานอย่างเดียว จิตจะมีความมั่นคงเฉพาะพระนิพพาน ไม่ต้องการอย่างอื่นอีก ถึงแม้จะตัดกิเลสยังไม่หมด

ถ้าถามว่าความรักยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความอยากรวยยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความโกรธยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความหลงยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี

แต่ว่าทั้ง ๔ อย่างนี้จะมีได้ก็อยู่ในขอบเขตของศีล ๕ 

รัก ก็ไม่ละเมิดศีล ๕
อยากรวย ก็ไม่ละเมิดศีล ๕
โกรธได้ แต่ไม่ทำลายเขา ไม่ละเมิดศีล ๕
ความหลงก็หลงได้ แต่ไม่ละเมิดศีล ๕

อยู่ในขอบเขตของศีล ๕ มันยังมีอยู่ มันไม่หมด แต่ความรุนแรงน้อยไป แต่ตอนนี้กำลังใจของทุกคนที่เข้าอยู่ในเขตโคตรภูญาณ จิตจะรักพระนิพพานอย่างยิ่ง มีความมั่นคงในพระนิพพานจริงๆ

ในระหว่างนั้นอารมณ์ใจจะโปร่ง มีความผ่องใสมาก จิตใจทรงตัวดี ถ้ากำลังใจอย่างนี้แล้วจิตใจจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจากพระนิพพาน อย่างนี้ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณของพระโสดาบัน แล้วคำว่าโคตรภูญาณนี่มีทุกขั้นนะ ของพระโสดาบันก็มี พระสกิทาคามีก็มี พระอนาคามีก็มี พระอรหันต์ก็มี เหมือนกันหมด และอยู่ในระหว่าง

ถ้าญาติโยมจะถามว่าจิตจะทรงอยู่ในโคตรภูญาณสักกี่วัน อย่างนี้ก็ตอบได้ยาก สุดแล้วแต่กำลังอธิษฐานบารมีของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลนั้นปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้วก็มาลาพุทธภูมิภายหลัง ปรารถนาเป็นสาวกภูมิ พวกนี้ต้องทรงโคตรภูญาณนานหลายวันอยู่ ดีไม่ดีต้องทรงโคตรภูญาณถึงเดือน

สำหรับท่านที่มุ่งหมายมาเป็นพระสาวกโดยเฉพาะ อย่างนี้ถ้าจิตทรงโคตรภูญาณอย่างนานที่สุดไม่เกิน ๗ วัน แต่บางคนก็ทรงได้แค่วันสองวันก็เป็นพระโสดาบันเลย ทีนี้ตอนหลังถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบันจริงๆ อารมณ์รักพระนิพพานยังทรงตัว มีความหนักแน่นมาก แต่ว่าจะมีอารมณ์เพิ่ม คืออารมณ์ธรรมดา ความรู้สึกของจิตว่าธรรมดาย่อมเกิดขึ้น

สมัยก่อนเราไม่ค่อยจะมีธรรมดาใช่ไหม ผิดใจหน่อยเราก็ใช้ธรรมด่าแทน งดอารมณ์ไม่พอใจ ถ้าด่าเสียได้เมื่อไหร่หมดอารมณ์ไม่พอใจเสียเมื่อนั้น ตอนนี้พอเข้ามาถึงอารมณ์พระโสดาบันเข้าครองใจจริงๆ ที่ยังตอบไว้เมื่อกี้นี้ ถ้าถามว่ายังมีความโกรธอยู่ไหม ก็ต้องตอบว่ามีความโกรธ

แต่ความโกรธของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีไม่รุนแรง ไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย และถ้าหากว่าถามว่าถ้าอารมณ์ธรรมดาเกิดขึ้น ในเมื่อเป็นพระโสดาบันจริงอารมณ์ธรรมดาก็เกิดขึ้น การกระทบกระทั่งไม่รุนแรงเกินไปใจก็เฉย 

พระโสดาบันนี่มี ๓ ขั้นนะ คือ
๑. เอกพิซี
๒. โกลังโกละ
๓. สัตตักขัตตุงปรมะ

เอกพิซี มีอารมณ์ละเอียดมาก สูงสุดของพระโสดาบัน อย่างนี้ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวจะเป็นพระอรหันต์
โกลังโกละ ขั้นกลาง ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติจึงเป็นพระอรหันต์
สัตตักขัตตุงปรมะ ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติจึงเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้นกำลังของพระโสดาบันไม่เหมือนกัน ถ้าในขั้นสัตตักขัตตุงปรมะ การกระทบกระทั่งเบาๆ จะไม่มีความรู้สึก แต่การกระทบกระทั่งเพื่อให้โกรธรุนแรงจะมีความรู้สึกบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก ไม่ถึงกับคิดอยากฆ่า

ถ้าหากโกลังโกละนี่ กระทบกระทั่งแรงๆ ยังเฉย แต่ถ้ากระทบบ่อยๆ ก็มีความหวั่นไหวเหมือนกัน ถ้าเอกพิซี เอกพิซีกับพระสกิทาคามีนี่มีความคล้ายคลึงกันมาก อย่างนี้เพื่อนด่าวันี้ อีก ๓ วันจึงรู้สึกว่าเขาด่า มีไหม เขาด่าวันนี้นะ นั่งฟัง ลืมไปว่าเขาด่าอีก ๓ – ๔ วันรู้สึกว่าไอ้หมอนั่นมันด่ากูนี่หว่า แหม มันไปไกลแล้ว จิตสงบมากนะ นี่เป็นเครื่องสังเกต

ถ้าอารมณ์พระโสดาบันเกิดขึ้น คำว่าธรรมดาย่อมปรากฏ คำว่าธรรมดาปรากฏก็หมายความว่า ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ก็ถือสุภาษิตว่า
นัตถิ โลเก อนินทิโล คนที่ไม่ถูกนินทาเลย ไม่มีในโลก
การกระทบกระทั่ง การนินทา เป็นของธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลกนี้ ทุกจุดในโลกนี้เต็มไปด้วยการนินทาและสรรเสริญ สรรเสริญก็มี นินทาก็มี

ฉะนั้นคนที่เป็นพระโสดาบันจึงใจเชื่องไปหน่อย ใจจืดไปนิดสำหรับการนินทาและสรรเสริญ เขานินทาความหั่นไหวก็น้อย เขาสรรเสริญการยินดียิ้มแย้มแจ่มใสก็น้อยไป มันยอมรับนับถือความเป็นจริงว่าเราจะดีหรือจะชั่วอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ก็วันนี้มันมาอย่างไรนี่ถึงมาลงพระโสดาบันได้ ก็รวมความว่า ไหนๆ พูดแล้วก็พูดกันไป เข้าเรื่องกันให้ได้นะ

ทีนี้มาถึงการปฏิบัติบรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่อคืนนี้พูดถึงอริยสัจ อริยสัจคือทุกขสัจ เห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ ต่อนี้ไปก็จะขอพูดเรื่องวิปัสสนาญาณสักข้อหนึ่ง ใช้คำศัพท์ว่าวิปัสสนาญาณรู้สึกว่าจะหนักนัก คำว่าวิปัสสนาญาณภาษาไทยเขาแปลว่ารู้แจ้งเห็นจริง ถ้าพูดให้เข้าใจชัดก็แปลว่าเข้าใจตามความเป็นจริง

วิปัสสนาญาณข้อนี้ขอนำนิพพิทาญาณมา นิพพิทาญาณนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี ถ้าหากถามว่าถ้าจะเป็นอนาคามีได้ไหม ก็ต้องตอบว่า เป็นได้หรือไม่ได้ก็ไม่แปล เราจะใช้อารมณ์เบื่อหน่ายสักวันละ ๒ นาทีจะไม่ได้หรือ พยายามชนะกำลังใจสักวันละ ๒ นาที ให้มีความรู้สึกเบื่อหน่ายโลกนี้จริงๆ จะเอาเวลาไหนก็ได้

ก่อนหลับหรือตื่นใหม่ๆ ก็ได้ เพราะตื่นใหม่ๆ มันหายเพลีย พอลืมตาขึ้นมาปั๊บก็คิดถึงความจริงของโลกนี้ ว่าโลกนี้มีมุมไหนบ้างที่มีความสงบหรือมีความสุขจริง เราก็จะไม่พบความสุขหรือความสงบของโลก โลกจะมีความวุ่นวาย ที่พระยศท่านบอกว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ คำว่าวุ่นวายคือตัวเราเองก็วุ่นวาย 

พวกเราตื่นขึ้นเช้าสิ่งที่ต้องทำก็คือกิน ถ้าไม่กินมันก็หิว ก่อนที่จะกิน ก่อนนั้นมา ก็ต้องหาเงินหาทองมาเพื่อกิน แล้วอาศัยสถานที่อยู่ นี่ก็วุ่นวายพอดู นี่ก็วุ่นวายตลอดชีวิต ตอนนี้มาความวุ่นวายของร่างกาย ร่างกายของเราจากความเป็นเด็กมันก็มาความเป็นหนุ่มเป็นสาว มันไม่ทรงตัว มันเคลื่อนเรื่อย พอถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมันเคลื่อนไปหาวัยกลางคน จากวัยกลางคนมาถึงคนแก่ จากคนแก่ก็จะเป็นคนตาย ขณะที่ทรงชีวิตอยู่ ยังไม่ตายก็มีการป่วยไข้ไม่สบายบ้าง กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจบ้าง พลัดพรากจากของรักของชอบใจบ้าง

ก็รวมความว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ไม่น่าอยู่ เอาง่ายๆ แบบนี้ก่อนนะ แล้วก็ตัดสินใจมองดูว่าโลกนี้มุมไหน เราจะเกิดเป็นคนธานะเช่นใดบ้างที่พ้นจาก
๑. ความแก่
๒. ความป่วย
๓. ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ
๔. ความตาย

เราจะเกิดในตระกูลไหนที่มันจะพ้นจากอาการนี้ ถ้าคิดจริงๆ แล้วเราก็ไม่พ้น ไม่ว่าตระกูลไหนทั้งหมด คนฐานะเช่นใดทั้งหมดก็มีประสบการณ์เหมือนกัน ต้องแก่เหมือนกัน ต้องป่วยเหมือนกันหมด

ก็มองไปดูว่าถ้าเราเกิดในโลกนี้อีกกี่ชาติ เมื่อใดเราจะพบกับความสุขคือความมั่นคง คำว่ามั่นคงหมายความว่าเที่ยง จะไม่มีการเคลื่อนตัว เราก็ไม่พบอีก เพราะโลกทั่งโลกเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง แต่ความจริงอาการอย่างนี้ของพระอาทิตย์เที่ยง แต่เรามีความรู้สึกว่าไม่เที่ยง คนที่เรารัก คนที่เราเคารพ คนที่เราชอบใจ ต้องการให้ท่านอยู่กับเรานานๆ ตลอดกาลตลอดสมัยแต่วาระเข้ามาถึงท่านก็ต้องตาย ความไม่เที่ยง ความสลดใจความเสียใจอ้างว้างก็เกิดขึ้นกับเรา 

นี่รวมความว่าโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ น่าเบื่อเหมือนกัน ร่างกายของเราพอแก่ก็เดินเข้ามาหาความตายทุกวัน จะเลี้ยงขนาดไหน จะรักษาขนาดไหน จะบริหารขนาดไหน ร่างกายก็ไม่หยุดความแก่ ในที่สุดมันต้องตาย ก็น่าเบื่อร่างกายเราอีกเหมือนกัน

รวมความว่าโลกก็ดี สมบัติของโลกก็ดี คือเรา คือสิ่งที่น่าเบื่อนั่นก็คือร่างกาย ถ้าหากว่ามันเบื่อจริงๆ เราก็ต้องคิดอย่างพระโมคคัลลาน์กับพระสารีบุตร ที่พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรท่านดูมหรสพ ดูไปปีก่อนๆ มาเคยมีความรื่นเริงบันเทิงใจกับมหรสพ ในกาลควรให้รางวัลก็ให้ ควรชมเชยก็ชม

แต่ว่ามาปีสุดท้ายทั้ง ๒ ท่านดูมหรสพไม่สนุก นั่งดูสองคนตั้งแต่ต้นจนปลายไม่มีใครยิ้ม ไม่มีใครชม ไม่มีใครให้รางวัลทั้งสองคน เมื่อเลิกแล้ว ทั้งสองท่านก็ถามว่าเพื่อนทำไมเหงาไป ต่างคนต่างก็ถามว่าเธอคิดอะไร

ทั้งสองคนก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่านับตั้งแต่มหรสพก็ดี คนดูก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่ถึงร้อยปีต่างคนต่างตายหมด เราผู้ดูก็ตาย ผู้แสดงก็ตาย คนอื่นที่มาดูก็ตายเหมือนกัน แล้วก็พากันคิดว่าธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมีอยู่ ธรรมที่ธรรมให้คนไม่ตายต้องมีอยู่ เพราะโลกนี้มีของคู่กัน คือมีมือก็ต้องมีสว่าง มีรักก็ต้องมีเกลียด

ก็รวมความว่าทั้งสองคนตัดสินใจหาโมกขธรรม คำว่าโมกข์แปลว่าพ้น คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตาย ท่านจึงเดินไป ผลที่สุดก็ไปชนสำนักสัญชัยปริพาชก ในที่สุดสำนักนั้นสองดีไม่พอ ไม่พ้นจากความตาย ไปพบพระอัสชิเข้า ก็ไปหาพระพุทธเจ้า

บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเห็นว่าเราจะต้องเกิดอย่างนี้ ต้องมีความทุกข์แบบนี้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ต้องถูกทรมาณแบบนี้ ต้องตายแบบนี้ทุกชาติ เราก็หาทางพ้นจากความเกิดเสีย

ความพ้นจากการเกิดอันดับแรกอย่างท่าน ก็คืออารมณ์พระโสดาบัน คิดว่าชีวิตนี้มันต้องตาย เราไม่ต้องการชีวิตอย่างนี้ต่อไปอีก การที่เราจะพ้นจากความตายต่อไปได้ก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมพระอริยาสงฆ์เป็นที่พึ่ง ยอมรับนับถือด้วยความจริงใจ หลังจากนั้นก็มีศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน รักษากำลังใจกำลังกายให้มีความสุข

เมื่อเรามีความสุขตามนี้จิตก็คิดว่าเราต้องการนิพพานจุดเดียว เมื่อทรงอารมณ์อย่างนี้ได้แล้ว ก็ตัดตัวสุดท้ายคืออวิชชาอวิชชานี่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าตัวไม่รู้ คือไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ความจริง อย่างอื่นเขารู้ แต่ตัวที่จะไม่เกิดเขาไม่รู้อวิชชา พระพุทธเจ้าทรงแยกไว้ในขันธวรรค แยกศัพท์ไว้เป็น ๒ ศัพท์คือ ฉันทะกับราคะ

อันดับแรกก็คือตัดฉันทะ คือความพอใจในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แดนพ้นทุกข์ ในมนุษย์มีแต่ความทุกข์ไม่มีความสุข เทวโลกกับพรหมโลกมีความสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องมาเกิดใหม่ เราตัดสินใจว่าขึ้นชื่อโลกทั้ง ๓ เราไม่ต้องการ เราต้องการนิพพานจุดเดียว

หลังจากนั้นก็ตัดราคะ คือความเห็นว่าสวยเห็นว่ามนุษย์โลกสวยไม่มีในเรา เห็นว่าเทวโลกและพรหมโลกสวยก็ไม่มีในเรา เราต้องการนิพพาน

ในเมื่อจิตต้องการนิพพานอย่างนี้ ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทใช้อารมณ์ใจวางเฉย เหนือจากนิพพิทาญาณขึ้นไปหน่อย เป็นตัวสุดท้ายคือ สังขารุเปกขาญาณ

สังขารุเปกขาญาณเป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย คือไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ๙ ตัว ถ้ามีความฉลาดพอสมควรก็ใช้แค่สองตัวก็พอสำหรับวิปัสสนาญาณ ใช้สังขารุเปกขาญาณคือฝึกเฉพาะเวลานิดหน่อย

สังขารุเปกขาญาณคือวางเฉยในร่างกาย ร่างกายมันจะแก่เราไม่ทุกข์เพราะว่ามีความรู้สึกตามธรรมดาว่าร่างกายมันเกิดมาเพื่อแก่ ร่างกายป่วยมันก็มีทุกขเวทนาเป็นเรื่องของมัน แต่ใจไม่ยอมทุกข์ด้วย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกายที่เกิดมา มันต้องป่วยอย่างนี้เหมือนกันทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องมีหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นหมอประจำตัว เพราะป่วยเหมือนกัน

ก็รวมความว่าร่างกายจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของร่างกาย อย่างนี้ใช้เวลาฝึกอารมณ์จิตสักวันละ ๑๐ นาทีก็พอ ถ้าจะได้มากกว่านี้ก็ดี ตัดสินใจว่าถ้าร่างกายเลวๆ อย่างนี้มันต้องแก่มันต้องป่วย อย่างนี้เราก็ไม่ต้องการมันอีก ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไหร่ขอไปนิพพานจุดเดียว หลังจากนั้นก็หาทางทำลายรากเหง้าของกิเลสก็คือ

๑ ตัดโลภะด้วยจาคานุสติกรรมฐานและการให้ทาน ยังไม่มีทรัพย์สินจะให้โอกาสยังไม่มีให้ก็คิดว่า ถ้าใครเขามีทุกข์เราจะสงเคราะห์ให้มีความสุขตามกำลัง ถ้าโอกาสเรามีเราก็ให้ โอกาสไม่มีเราก็ไม่ให้ ใช้กำลังใจตัดไว้ก่อน

พยายามค่อยๆ ตัดโทสะเบาๆ ด้วยเมตตาและกรุณาทั้ง ๒ ประการ คือตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กำลังของศีลจะบริสุทธิ์จริงก็คือ ๑ ต้อมีเมตตา ความรัก ไม่ใช่สมาทานเฉยๆ ๒ กรุณาความสงสาร พยายามให้อภัยแก่บุคคลที่ทำให้เราไม่ถูกใจตามสมควร เอาแค่วันละเล็กน้อย

ในที่สุดก็พยายามตัดโมหะคือความหลง หลงที่เห็นว่าร่างกายเราดี ตอนนี้เราไม่หลงแล้วคือเห็นว่าร่างกายมันไม่ดีอยู่แล้ว หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งใจทำอย่างนี้ แล้วใช้อารมณ์สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ร่างกายจะแก่ก็เชิญแก่ เป็นเรื่องของเอ็ง ร่างกายจะป่วยก็เชิญป่วยเป็นเรื่องของเจ้า ร่างกายจะตายก็ตายไป เมื่อตายเมื่อไหร่เราต้องการนิพพานเมื่อนั้น

ถ้ารักษากำลังใจและปฏิบัติจากการให้ทาน ทำลายความโลภ
รักษาศีลทำลายความโกรธ
แล้วก็เข้าใจความจริงของร่างกายเพื่อตัดความหลงอย่างนี้

ถ้ากำลังใจของท่านพุทธบริษัทแบบนี้นะ ง่ายๆ ถ้าเวลาจะตายจริงๆ เมื่อเวลาป่วย กำลังอารมณ์ทั้งหมดจะรวมตัว มันจะมีความรู้สึกเฉยๆ กับอาการป่วยของร่างกาย ร่างกายมันจะตายก็เป็นเรื่องของมัน กำลังใจในตอนนั้นของบรรดาท่านพุทธบริษัทมันจะเฉยๆ ทุกอย่าง ไม่ห่วงร่างกายด้วย ไม่ห่วงบุคคลด้วย ไม่ห่วงทรัพย์สินด้วย จิตใจตั้งตรงจุดเดียวคือพระนิพพานถ้ากำลังใจแบบนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ตายเมื่อไหร่ไปนิพพานเมื่อนั้น

เวลาหมดพอดี ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน สวัสดี

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Top