ธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่างๆ-ธรรมะที่ได้ขณะกินอาหาร

by admin

ธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่างๆ-ธรรมะที่ได้ขณะกินอาหาร

by admin

by admin

เรื่อง ธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่างๆ

ในวันพุธที่ 7 ต.ค. ปี 2535 หลวงพ่อฤาษีท่านเมตตาสอนเรื่องธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่าง ๆ มีความสำคัญ ดังนี้

1. ผักบุ้งมีไวตามินสูง โดยเฉพาะไวตามินเอ คนตาไม่ค่อยเห็นในตอนกลางคืน เพราะขาดไวตามินเอ ผักบุ้งมีฤทธิ์ เป็นยาระบาย กินมากก็เสาะท้อง ท่านไม่ได้ฉันมานานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชอบ และยังรักษาโรคไตได้ ที่ท่านฉันก็เพื่อให้ท้องถ่ายง่าย แต่ถ้าเป็นผักบุ้งดองก็แสลงต่อโรคไต คนท้องผูกเพราะธาตุไฟ ไม่ทำงาน ในคนสูงอายุธาตุไฟอ่อนกำลังเพราะความเสื่อมของร่างกาย

2. อาหารรสจัด ๆ ของเผ็ดร้อนเป็นธาตุไฟ ซึ่งพวกคนแก่จะทานได้น้อย เมื่อธาตุไฟอ่อนกำลังลงทำให้ไม่สามารถขับธาตุลม ให้ไปขับธาตุน้ำ ให้ไปไล่ธาตุดิน (ขี้หรืออุจจาระ) ให้ออกไปได้ ท้องคนแก่จึงผูกด้วยเหตุนี้

3. อาหารทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษ ธรรมะที่เกี่ยวกับอาหารเป็นของละเอียด เพราะเกี่ยวข้องกับธาตุ 4 โดยตรง ซึ่งพวกพุทธจริต(คนที่ลาพุทธภูมิมาเป็นสาวกภูมิ)เท่านั้นจึงจะพูดกันเข้าใจและรู้เรื่องได้ดี ยิ่งพวกกินอาหารโดยขาดการพิจารณาด้วยยิ่งไปกันใหญ่ อาหาเรปฏิกูลสัญญา,ปัจจเวกขณะ 4 ซ้ำอาหารบางอย่างมีคุณค่าเป็นยารักษาโรค มีคุณค่าของอาหารต่าง ๆ กัน คนส่วนใหญ่กินอาหารตามสัญญาเดิม กินตามอุปาทานของตน และกินเพราะติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร

4. ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ทราบว่าขณะนี้ร่างกายกำลังขาดธาตุอะไร หรือมีธาตุอะไรเกินพอ จึงไม่สามารถเอาธาตุ 4 ภายนอกไปเสริมได้ถูก ดีไม่ดีแทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษก็ไม่น้อย

5. ผักมีธาตุน้ำพอ ๆ กับธาตุดิน ข้าว เผือก มัน ฟักทอง มีธาตุดินมากกว่าธาตุน้ำ ต้มจืดมีธาตุน้ำมาก ต้มยำมีธาตุไฟและธาตุน้ำมาก ผักดองมีแก๊ส(ลม) และกรดมาก ดังนั้นหากขาดธาตุลมต้องกินผักดอง น้ำตาลมีธาตุไฟมาก เป็นความหวานในขนมและผลไม้ ผลไม้ธาตุน้ำมากกว่าธาตุดินซึ่งมีแร่ธาตุหลายชนิด ความหวานเป็นธาตุไฟ ทุเรียนมีธาตุลมมาก แต่พวกมีเม็ดเลือดมากอย่ากิน
ความดันจะขึ้นสูงง่าย บางรายกินและลมดันขึ้นจนหัวใจวายตายก็มี ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นธาตุไฟ ฝรั่งมีธาตุดิน แตงโมมีน้ำ 98 % เพราะฉะนั้นการกินจึงต้องใช้มัชฌิมา ไม่กินเพื่อให้อ้วน ให้ผอม ให้ผิวพรรณผ่องใส แต่กินตามที่ร่างกายต้องการธาตุที่ขาด (ธรรมเรื่องอาหารนี้จึงยาก เพราะละเอียดมาก ดังนั้นผู้ที่รู้ดีจริงในเรื่องนี้ จึงควรจะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้น) สับปะรดเปรี้ยวใช้รักษาโรคนิ่วได้ เพราะน้ำสับปะรดเป็นกรดสามารถละลายก้อนนิ่วได้

6. น้ำปัสสาวะมีธาตุดินออกมามากเหมือนกัน แต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยดูจากกล้องขยาย ถ้าต้องการเห็นด้วยตาเปล่า หากปัสสาวะเป็นกรด ให้เอาด่างเติมลงไป จะเห็นธาตุดินที่ละลายอยู่ในกรด ตกตะกอนเป็นสีขาว ๆ ให้เห็นได้ชัดเจน

7. สภาพของธาตุดินที่เห็นชัดคือกระดูก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเหมือนโคลนที่อยู่ในน้ำเละ ๆ เปราะบางและสกปรก

ธรรมะที่ได้ขณะกินอาหาร 

1. ก่อนจะกินอาหาร เอาจิตคิดขอถวายอาหารเพื่อบูชาความดีของพระพุทธองค์ เพื่อเอาบุญเสียก่อน และเพื่อความไม่ประมาทในธรรม ควรอาราธนาคาถาป้องกันและทำลายพิษที่อาจมีอยู่ในอาหารเสียก่อนทุกครั้ง

2. พิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา รวมทั้งคุณและโทษของอาหารที่จะบริโภคด้วย เพราะบางคนแพ้หรือไม่ถูกกับอาหารบางชนิด ก็ต้องเว้นเสีย และต้องจำให้ได้ด้วย (หลวงพ่อฤาษีท่านไม่ฉันทุเรียนและสับปะรด เพราะไม่ถูกกับร่างกายของท่าน)


3. เห็นวัฏฏะ เห็นสันตติธรรม เห็นไตรลักษณ์ของธาตุ 4 เราจึงต้องเอาธาตุ 4 ภายนอก(อาหาร) เข้ามาเสริมธาตุ 4 ภายใน(ร่างกาย) อยู่เสมอ เป็นวัฏฏะ หรือสันตติ หรือไตรลักษณ์เวียนอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่มีวันหยุด หยุดเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น


4. พิจารณาเห็นทุกข์จากการหาอาหาร,ปรุงหรือประกอบอาหาร,ระหว่างบริโภคอาหาร และหลังบริโภคอาหารแล้ว มีทุกข์ตลอดเวลา มีรายละเอียดอยู่มาก ตั้งแต่การถางป่า ขุดตอไม้ ไถ ปลูก ระวัง รักษา เก็บเกี่ยวข้าว ขอเขียนย่อ ๆ ไว้แค่นี้(รวมทั้งทุกข์จากการประกอบอาหาร และทุกข์จากข้ออื่น ๆ จากอาหารด้วย)

5. ทุกข์จากระเบียบ วินัย มารยาทในการบริโภค โดยเฉพาะพระสงฆ์มีข้อบังคับอยู่มาก จะฉัน จะนั่ง จะเอื้อมมือตักอาหาร จะเอาช้อนเข้าปาก จะเคี้ยวไม่ให้มีเสียงดัง ห้ามพูดห้ามคุยระหว่างฉัน และอีกมากมาย


6. ทุกข์จากการติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร อันเป็นทุกข์ที่เกิดจากใจ จากกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกาะติดใจมาทุก ๆ ชาติ หากเรารู้ไม่ทัน


7. ให้จบลงในอารมณ์มรณานุสสติควบอุปสมานุสสติ(พระนิพพานระลึก) โดยคิดว่า อาหารมื้อนี้อาจเป็นมื้อสุดท้ายที่เราบริโภค ความตายอาจเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ หากกายพังเมื่อไหร่ จิตเราก็พร้อมจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น นิพพาน สุขัง และจงอย่าลืมอุทิศกุศลให้กับอาทิสสมานกายของผู้บริจาคสังขารเป็นทาน เป็นอาหารให้เรายังชีวิตอยู่ด้วยทุก ๆ ครั้ง ในข้อนี้จิตใครละเอียดแค่ไหน ก็คิดได้ละเอียดแค่นั้น ขอเขียนไว้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น



ผมก็ขอจบไว้สั้น ๆ แค่นี้ เพราะเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญาพระองค์สอนเฉพาะพวกพุทธจริต(พวกจริตรอบรู้) เท่านั้น จึงมีรายละเอียดอยู่มากและบารมีธรรมของคนเราก็สะสมกันมาไม่เสมอกัน 
จิตอยู่ระดับไหน ย่อมรู้ธรรมได้แค่ระดับนั้นเป็นธรรมดา


พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Top