มักจะเผลอบ่อยๆ ในเวลาปฏิบัติ

by admin

มักจะเผลอบ่อยๆ ในเวลาปฏิบัติ

by admin

by admin

ถาม – มักจะเผลอบ่อยๆ ในเวลาปฏิบัติ

เผลอเกิดจากอะไร ? เกิดเพราะสนใจน้อยไป ในการทำสมาธิ 15 นาที เธอรู้ไหมว่าลมกระทบจมูกเธอตลอดเวลานั้น สังเกตรู้ไหม ไปหัดทำเสีย 15 นาที พยายามเอาความรู้สึกไว้ที่ปลายจมูก ถ้าเธอทำได้คือมีความรู้สึกว่าลมผ่านจมูกเธอตลอด 15 นาที ก็นับว่าต่อไปเธอจะมีสมาธิ มีสติที่ตั้งมั่นได้นาน ความเผลอจะลดถอยไปเอง เป็นอย่างไร ประพฤติธรรม อยู่ในธรรมดีรึ ? ความมั่นคงในธรรมนั้น ไม่ใช่อยู่ที่ความพอใจของอารมณ์ที่กวัดแกว่งไปมาสู่ภาวะของกิเลส

โลภะ อยากให้เขารักเรา อยากให้ของที่รักเป็นของเรา ไม่รู้จัก “พอควร”

โทสะ โกรธที่ไม่ได้ที่ตนหวัง ที่ตนต้องการ โทสะมากๆ กลายเป็นอาฆาตน้อยๆ คือจำ เคียดแค้น ไม่มีอภัยทาน ไม่มีพรหมวิหาร

โมหะ หลง อุปาทานว่าเราจะต้องเป็นเอก เป็นเอกในความสำคัญของตน ฉันก่อน ฉันดี ฉัน ของฉัน ฉันรัก ฉันหวง เธอต้องให้ฉัน ขอโทษฉัน

ตัณหา ความปรารถนาที่จะพึงได้ในภวตัณหา วิภวตัณหา คืออยากได้ในสิ่งที่รัก ไม่อยากได้ในสิ่งที่ไม่ชอบ อะไรจะบังคับให้ตามใจตนเองได้ (ล่ะ) ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ไม่สมควรต้องตอบสนองเราในบางคราว และจะไม่ตอบสนองเราในบางคราว

อุปาทาน เป็นทิฐิมานะอย่างหนึ่งที่ทำให้ถือตัวตน ถือเขาถือเรา ฉันทำให้เธอแล้ว เธอต้องทำให้ฉันบ้าง เพราะฉันมีบุญคุณ อุปาทานว่าตัวตนดีพร้อม คนอื่นตามไม่ทันหลงในรูป รส ยศศักดิ์

เท่านี้ เป็นไฟที่จุดอยู่ในอารมณ์เธอว่า เธอเป็นเธอ นี่คือฉัน ยึดเพราะหลงกรรมตนเอง ซึ่งเลือกไม่ได้ที่จะเกิด ที่จะเป็น ที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ลำบากบ้าง หลงระเริงเข้าไปในอารมณ์ทำไม เผาผลาญใจเราให้ร้อนรุ่มกลุ้มใจเราอยู่ทุกนาที ชอบรึ สบายดีรึ นั่นแหละทรมานตนเองให้หมดไหม้ในกองไฟ

จงพิจารณาให้เห็นสัจธรรม

  • ทุกข์ อะไรคือทุกข์
  • สมุทัย เหตุแห่งทุกข์ อะไรที่เป็นเหตุให้อารมณ์ร่างกายจิตใจเรามัวหมอง ขุ่นในทุกข์
  • นิโรธ ทางดับทุกข์ อะไรเป็นยาสำหรับดับกิเลส ตัณหา อุปาทาน
  • มรรค วิธีปฏิบัติให้ถึงทางดังทุกข์ ทางไหนทำเอาเอง วิธีให้พ้นทุกข์คือการเข้าสู่อมตนิพพาน แต่เห็นหลายหน้า หลายคนบ่นๆ อยากไป ใจพระท่านก็อยากให้ได้ไปได้ถึง

แต่แค่ภาวนาแล้วนึกไปนิพพานเฉยๆ น่ะยาก ต้องปฏิบัติที่ใจจึงจะไปได้ แม้ว่าจะมาร้องขอว่า “ขอฉันไปนิพพานเถอะ” ฉันเองก็ได้แต่ยินดีที่เขาปรารถนา แต่จะทรงตัวอยู่กับทางโลกและไม่ถึงธรรมนั้น เป็นเหตุให้นิพพานเป็นของยากมาก ขอพูดว่านิพพานไม่ได้อยู่ที่ปาก แต่อยู่ที่การปฏิบัติใจ บนพระนิพพานไม่มีกิเลสตัณหาอุปาทาน แบกไปไม่ไหวหรอก ใช่ไหม.. ร. เธอเห็นคนบนนั้นแบกไหม..?

ร. ตอบ – เจ้าค่ะ ความรู้สึกว่าแม้แต่ฝุ่นจุดเดียวก็ไม่มี

จำไว้ทุกคน โลภ โกรธ หลง เป็นสมบัติของกิเลส ตัณหา อุปาทาน พิจารณาลง (ท้าย) ด้วยอริยสัจ แล้วปฏิบัติด้วยการถือศีล สมาธิ ปัญญา คือการทรงสติให้ครบบริบูรณ์ ใช้วิปัสสนาเป็นเครื่องพิจารณา ดูด้วยพรหมวิหาร 4 เป็นพื้นฐานของจิตใจ เอาทุกขังเป็นส่วนโจทย์ เอาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไตรลักษณ์เป็นผลสรุป ดูด้วยบารมีสิบทัศน์ สังโยชน์ 10 ข้อ กรองอารมณ์ว่ามันดีมันชั่วมันติดตรงไหน เมื่อรู้ก็ระงับข้อเสีย พิจารณาดูช่องรั่ว ช่องว่างต่างๆ ว่าตรงไหนไว้ใจไม่ได้ คืออายตนะตรงไหนไว้ใจไม่ได้ก็ปิด อดเสีย หรือถ้าไว้ใจได้ ตาเห็นก็เฉย ไม่รู้สึกสะทกสะท้าน ทำได้ไหม ? ไม่ได้ก็รอ…!

ทำน่ะ ทำได้ทุกคน แต่อยู่ตรงที่จะทำไหม หรือไม่ (ก็) อยู่ตรงที่จะยอมมอง ยอมดูตัวเองไหม เรื่องชาวบ้านน่ะอย่าไปดูเขาเลย เพราะใครทำใครได้ ดูที่ตัวของเราดีกว่า แก้ที่ตัวของเราดีกว่า ต่างคนต่างดู ต่างแก้ของตนแล้ว ทุกคนจะอยู่ในธรรมอันเดียวกัน และจะไม่ต้องแก้ให้ใครอีก จะเข้าหากันได้เอง เพราะมีข้อธรรมเป็นความประพฤติ เป็นนิสัยอันเดียวกัน.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Top