หลวงพ่อเล่าเรื่อง จิตของพระอริยะ

by admin

หลวงพ่อเล่าเรื่อง จิตของพระอริยะ

by admin

by admin

จิตของพระอริยะ

ท่านที่มีอารมณ์วิปัสสนาญาณเล็กน้อย เรียกว่าได้เจริญวิปัสสนาญาณพอมีผลบ้าง จะเห็นจิตเริ่มมีประกายออกเล็กน้อย เป็นลักษณะบอกชัดว่าท่านผู้นั้นได้เจริญวิปัสสนาญาณได้ผลบ้างแล้ว

พระโสดาบัน กระแสจิตจะเกิดเป็นประกายคลุมจิตเข้ามา ประมาณหนึ่งในสี่
พระสกิทาคามี กระแสจิตจะมีประกายออกประมาณครึ่งหนึ่ง
พระอนาคามี กระแสจิตจะเป็นประกายเกือบหมดดวง จะเหลือส่วนที่ไม่เป็นประกายนิดหน่อย
ท่านได้บรรลุอรหันต์กระแสจิตจะเป็นประกายหมดทั้งดวง คล้ายดาวประกายพรึกลอยอยู่ในอก

กระแสจิตที่เป็นประกายทั้งดวงนี้ ควรเป็นกระแสจิตที่นักปฏิบัติสนใจและพยายามแสวงหามาให้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องเสียชีวิต เพราะได้มาซึ่งกระแสจิตผ่องใสเป็นประกายแล้ว ก็ควรเอาชีวิตเข้าแลกประกายจิตไว้ เพราะถ้าได้จิตเป็นประกายก็จะหมดทุกข์สิ้นกรรมกันเสียที มีพระนิพพานเป็นที่ไป จะพบแต่สุขอย่างประเสริฐ ไม่มีทุกข์ภัยเจือปนเลย

ท่านที่ได้เจโตปริยญาณ มีผลเพื่อเสริมสร้างความบริสุทธิ์ผุดผ่องของจิตอย่างนี้ และสามารถควบคุมจิตให้สะอาดผ่องใส ปราศจากละอองธุลีอันเป็นผลของกิเลสตลอดเวลา รวมทั้งรู้อารมณ์จิตของผู้อื่นด้วย การรู้อารมณ์จิตของท่านผู้อื่นก็มีประโยชน์มาก เพราะถ้ารู้ว่าท่านผู้ใดทรงคุณธรรมสูงกว่า เพราะกระแสจิตผ่องใสกว่าจนพยากรณ์ไม่ได้ แสดงว่าสูงกว่าเราด้วยคุณธรรมแน่แล้ว ก็ควรรีบเข้าไปกราบไหว้ท่าน ขอให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์สั่งสอนเพื่อผลต่อไป ถ้าเห็นว่าด้อยกว่า ก็ควรคิดให้อภัยเมื่อผู้นั้นล่วงเกิน หรือพลั้งพลาด ถ้าเป็นครูสอนสมณธรรม ก็ได้ประโยชน์มาก จะได้ให้กรรมฐานที่พอเหมาะพอดีแก่อัชฌาสัยและจริตศิษย์ จะได้ผลว่องไวในการปฏิบัติ

สำหรับทราบกายในกายก็เหมือนกัน กายคือจิต จิตก็คือกาย เพราะเวลาถอดกายในออกก็มีสภาพเป็นกาย ไม่ใช่เป็นก้อนเป็นแท่งตามที่คนทั่วไปคิด เมื่อถอดกายในกายออก กายในจะปรากฏตามบุญญาธิการที่สั่งสมอบรมไว้ ถ้าบุญมีผลเพียงเทวดา กายในกายก็จะมีรูปเป็นเทวดา เมื่อออกจากร่างนี้ไปสู่ภพอื่น ถ้ามีฌาน ร่างกายในก็จะปรากฏเป็นพรหม ถ้าหมดกิเลส กายในกายก็จะสดสะอาด มีประกายออก ร่างใสคล้ายแก้วสุกสว่างมีแสงสว่างมาก ร่างอย่างนี้จะปรากฏเมื่อถอดกายในกายออกท่องเที่ยว

เจโตปริยญาณนี้ นอกจากจะรู้ความรู้สึกนึกคิดของตนและสัตว์แล้ว ก็ยังรู้ภาวะของจิตใจคนและสัตว์ที่มีบุญและบาปสั่งสมไว้มากน้อยเพียงใด ที่มีประโยชน์มากที่สุดก็คือรู้อารมณ์จิตของตนเองว่าขณะนี้เป็นจิตที่ประกอบด้วยกุศลหรืออกุศล จิตมีกิเลสอะไรสั่งสมอยู่มากน้อยเพียงใด กิเลสที่สำคัญก็คือกิเลสที่เป็นอนุสัย คือกิเลสที่มีกำลังน้อยไม่ค่อยจะแสดงอาการปรากฏชัดเจนนัก แต่ก็ฟูขึ้นในบางขณะ ยามปกติก็มีอาการนิ่งสงบ เช่น อารมณ์สมถะที่เป็นอุปกิเลสของวิปัสสนาญาณ

อารมณ์ของสมถะนั้นจะแสดงอาการสงบแนบนิ่งมาก จนความไหวทางจิตในเรื่องความใคร่ ความโกรธแค้นขุ่นเคือง ความสั่งสมผูกพันไม่มีอาการปรากฏ จนเจ้าของเองคิดว่า เรานี่สำเร็จมรรคผลเสียแล้วหรือ แต่พอนานๆ เข้าก็มีฟูขึ้นน้อยๆ เกิดขึ้นในยามสงัด คือไม่มีวัตถุเป็นเครื่องล่อ เช่น ครุ่นคิดถึงความสวยสดงดงามของรูป ความไพเราะเพราะพริ้งจากเสียง ความหอมหวนจากกลิ่นรสอันโอชะจากรสต่างๆ และความนิ่มนวลของสัมผัส

อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในยามที่ว่างจากสิ่งเหล่านั้น แต่จิตคิดไปและจะระงับได้เพราะการพิจารณาในกรรมฐานที่มีอาการตรงกันข้าม เช่น อสุภะเป็นต้น ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะกำลังฌานในสมถะ ก็มีกำลังที่จะกดขี่กิเลสให้สงบระงับแนบสนิทได้ แต่มิใช่ว่าทำลายกิเลสให้สิ้นอำนาจเด็ดขาด เป็นแต่ปรามให้สงบระงับไปได้ชั่วคราวเท่านั้น ในยามที่อำนาจสมถะปรามกิเลสให้สงบนี้ ท่านที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์จึงหลงผิด คิดว่าสำเร็จมรรคผล ถ้าเราสำรวจตรวจจิตไว้เสมอตลอดวันเวลา แล้วเราก็จะทราบชัดว่า จิตเราสะอาดจริง หรือยังมีสิ่งโสมมแปดเปื้อนอยู่

จะรู้ได้เพราะสีของจิต สีจะชัดหรือใสจางก็ตามและจะเป็นสีอะไรก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสีจะเป็นสีแดง สีดำ สีอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม เว้นไว้แต่สีใสและสีประกายพรึกเต็มดวงของจิต สีใสที่ไม่มีประกายหรือสีใสมีประกายไม่เต็ม ยังมีสีใสปกติปนอยู่ ก็จงเร่งตำหนิตนเองได้แล้วว่า นี่เรายังคบความเลวไว้มากมาย เพราะสีใสชื่อว่าเป็นสีประเสริฐ คือเป็นการแสดงออกของอุเบกขาจิต แต่ทว่าสีใสธรรมดาที่ไม่มีประกายนั้นเป็นสีใสของฌานโลกีย์ มีอันที่จะสลายตัวกลับมาเป็นสีขุ่นมัวคือสีแดง สีดำเต็มขนาดได้เพราะฌานโลกีย์ยังมีเสื่อม ยังจัดเป็นจิตเลวสำหรับนักปฏิบัติเพื่อมรรคผล

ต่อเมื่อไรชำระจิตให้ใสสะอาดเป็นปกติ และมีประกายเต็มดวงโดยที่ไม่ต้องคอยปรับปรุงแก้ไข มองดูด้วยญาณเมื่อไรก็เป็นประกายแพรวพราว ถึงแม้จะประสบกับศัตรูเก่าที่เคยอาฆาตคุมแค้นกันมาแต่ปางก่อน จะถูกเสียดสีถากถางด้วยวาจาปรามาสอย่างไรก็ตาม จิตสงบระงับ อำนาจโทสะ ไม่ฟูออก จิตใจมีอาการปกติ สม่ำเสมอ ตรวจดูด้วยญาณ ตรวจขณะที่ถูกด่า ก็พบว่าจิตใสประกายแพรวพราว แม้อารมณ์ราคะหรืออื่นใดก็ตามมายั่วเย้า จิตใจก็สดใสเป็นปกติ อย่างนี้ใช้ได้

นักปฏิบัติเพื่อมรรคผลไม่ชมตัวเอง แต่ต้องคอยตำหนิตัวเองตลอด ๒๔ ชั่วโมง ตรวจจิตซ้ำๆ ซากๆ ตลอดวันเวลา อย่างนี้จึงจะสมควร และเป็นผู้ไม่ประมาท เป็นนักปฏิบัติเพื่อมรรคผลจริง หากทำได้อย่างนี้ ท่านมีหวังถึงพระนิพพานในชาตินี้ เพราะอารมณ์จิตที่ผ่องใสเป็นประกายเต็มดวงนั้น เป็นจิตที่ชำระกิเลสไม่เหลือเป็นจิตของพระอรหันต์เท่านั้น ท่านจึงยกย่องนักปฏิบัติที่ได้เจโตปริยญาณว่า เป็นผู้ใกล้ต่อพระนิพพานมากกว่าการได้ญาณ อย่างอื่น

ที่ท่านกล่าวอย่างนี้ก็เพราะว่า ญาณนี้สามารถคอยชำระจิต คือตรวจสอบจิตของตนได้ตลอดเวลา แม้แต่อารมณ์กิเลสที่เป็นอนุสัยก็ยังรู้ ฉะนั้น นักปฏิบัติผู้หวังความพ้นทุกข์แก่ตนแล้ว จงพยายามฝึกฝนตนให้ชำนาญในเจโตปริยญาณนี้และเล่นให้คล่องแคล่วว่องไวจะได้ผลตามที่กล่าวมาแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

Top