Author: admin

by admin admin ไม่มีความเห็น

ประโยขน์ของการนึกถึงความตาย

ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย

   ประโยชน์ของการนึกถึงความตาย ทำให้เป็นคนไม่ประมาท เพราะรู้ตัวว่าจะตายได้ แสวงหาความดีใส่ตัว โดยรู้ตัวว่า

   ชาตินี้จน เพราะชาติก่อนให้ทานไว้น้อย ถ้าชาติหน้าไม่อยากจนอีก ก็พยายามให้ทานเสมอๆ ตามกำลังทรัพย์ที่พอจะให้ได้ และอย่าให้จนหมดตัว จะเกินพอดี ต้องให้พอเหมาะพอดี ไม่เดือดร้อนภายหลังนั่นแหละจึงจะควร

   รู้ตัวว่ามีโรคมาก ป่วยไข้ไม่สบายเสมอๆ

   ของหายบ่อยๆ

   รูปร่างสวยน้อยไป

   คนในบังคับบัญชาดื้อด้าน

   อารมณ์ความจำเสื่อม

   ถ้าต้องการให้สิ่งบกพร่องเหล่านี้ สมบูรณ์ในชาติหน้า จะได้พยายามรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ครบถ้วน แล้วก็จะได้รับอานิสงส์ มีอายุยืน มีรูปสวย ไม่มีโรคภัยรบกวน ไม่มีภัยจากโจรรบกวนสมบัติ คนในบังคับบัญชาอยู่ในโอวาทเป็นอันดี ไม่มีใครดื้อด้าน มีวาจาศักดิ์สิทธิ์ พูดอะไรเป็นจริง มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และก็ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์

ถ้าเห็นว่ามีปัญญาน้อย ไม่ใคร่ทันเพื่อน ก็พยายามเจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน พอมีฌาน มีฌานเล็กน้อย ในชาติต่อไปก็จะเป็นคนมีปัญญาเลิศ

   เห็นทุกข์

   ถ้าเห็นว่าความเกิดเป็นโทษ เป็นทุกข์ เพราะการเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร มีตระกูลสูงส่งประการใดก็ตาม ต้องประสบกับความทุกข์อย่างมหันต์ และหลีกเลี่ยงไม่ได้

   ถ้าไม่ต้องการพบความเกิดอีก ก็เร่งรัดเจริญสมถะให้ได้ฌานต้น แล้วเจริญวิปัสสนาญาณให้จบกิจพระศาสนา ซึ่งเป็นของไม่หนักเลย สำหรับท่านที่นึกถึงความตายเป็นปกติ หรือที่เรียกว่า เจริญมรณานุสสติกรรมฐาน คือ นึกถึงความตายเป็นอารมณ์

   วันหนึ่ง พระองค์ ตรัสถามพระอานนท์ว่า

   “อานันทะ ดูก่อนอานนท์ เธอนึกถึง ความตายวันละกี่ครั้ง?”

   พระอานนท์ กราบทูลตอบว่า

   “ข้าพระพุทธเจ้านึกถึงความตายวันละ 7 ครั้ง พระเจ้าข้า”

    พระองค์ตรัสว่า

   “ยังห่างมาก อานนท์ ตถาคตนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก”

   เตรียมพร้อม

การนึกถึงความตายเป็นปกติ เป็นของดี แม้แต่พระพุทธเจ้ายังเฝ้าคิดถึงความตาย เพราะผู้ที่คิดถึงความตาย รู้ตัวว่าจะตายแล้ว ย่อมไม่สั่งสมความชั่ว คอยปลีกตัวออกจากความชั่ว และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวในเมื่อความตายมาถึงแล้ว เพราะคิดรู้อยู่เสมอแล้วว่าเราต้องตายแน่

   ความตายนี้ หานิมิตเครื่องหมายไม่ได้

กำหนดการเกิด หมอบอกได้

   แต่กำหนดเวลาตาย ไม่มีใครกำหนดได้แน่นอน สำหรับปุถุชนคนธรรมดา

   สำหรับพระอริยเจ้า หรือท่านที่ชำนาญใน อานาปานุสสติกรรมฐานท่านสามารถบอกเวลาตายที่แน่นอนของท่านได้ วิชชาสาม เป็นอย่างน้อย ถ้ามีความรู้พิเศษต่ำกว่านั้น ท่านก็กำหนดเวลาตายไม่ได้เหมือนกัน

   ท่านเปรียบเทียบชีวิตไว้คล้ายกับคนขีดเส้นบนผิวน้ำ ขีดพอปรากฏว่ามีเส้น แล้วในทันที เส้นที่ขีดนั้นก็พลันสูญไป

   ชีวิตของสัตว์ที่เกิดมาก็เช่นเดียวกัน ความตายรออยู่แค่ปลายจมูก ถ้าสิ้นลมปราณเมื่อไร ก็สิ้นสภาวะเมื่อนั้น เอาความยั่งยืนไม่ได้เลย

วิธีหนีทุกข์

   ท่านเจริญ มรณานุสสติกรรมฐาน เมื่อท่านคิดถึงความตายเป็นปกติ จนเห็นความตายเป็นปกติธรรมดา เตรียมพร้อมเพื่อรับสถานการณ์คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา พอสมควรแก่ความต้องการแล้ว


ถ้าคิดให้ไกลไปอีกสักนิดว่า

   ความตายเป็นของมีแน่ เราไม่หนักใจแล้ว ความเกิดต่อไปก็มีแน่ จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม เต็มไปด้วยความทุกข์ หนีทุกข์ไม่พ้น เราไม่ต้องการความเกิด อันเป็นเหยื่อของวัฏฏะอีก

   แม้แต่ร่างกายอันเป็นที่หวงแหน ยิ่งจะต้องพังสลายไป เรายังไม่มีเยื่อใย และก็สมบัติอะไรในโลก ที่เราต้องการ

   สิ่งที่พอใจที่สุดก็คือ พระนิพพาน ทำใจให้ว่างจากความเกิด ความเกาะในชาติภพ ปรารภพระนิพพานเป็นปกติ

   อย่างนี้ ท่านมีหวังสิ้นชาติสิ้นภพ ประสบผลอย่างยอด คือถึงพระนิพพานในชาติปัจจุบันแน่นอน สวัสดี*

คัดลอกจากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 383 กุมภาพันธ์ 2556

หน้า 25-27

#แอดมิน 

by admin admin ไม่มีความเห็น

ทำสมาธิ

ทำสมาธิ

   สมาธิ แปลว่า ตั้งใจ ถ้าตั้งใจรักษาศีลให้ครบถ้วน ตั้งใจทรงอารมณ์ในกรรมบถ 10 ให้ครบถ้วน ก็เป็นสมาธิในศีลและกรรมบถ 10 ถ้ามีอารมณ์ทรงตัว โดยที่ศีลและกรรมบถ 10 ไม่คลาดจากใจ คิดไม่ลืม ไม่มีการปฏิบัติผิดพลาด อย่างนี้ท่านเรียกว่า ผู้ทรงฌานในศีลและกรรมบถ 10 ท่านที่มีอารมณ์นับถือว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์แน่นอน ไม่ปรามาสแม้แต่พูดเล่น อย่างนี้ท่านเรียกผู้นั้นว่าผู้ทรงฌานในพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ ท่านที่ไม่ลืมคือ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย ไม่ประมาทในชีวิต คิดทำความดี ละความชั่วเป็นปกติ ท่านก็เรียกท่านผู้นั้นว่า มีฌานในมรณานุสสติ

   รวมความแล้ว สมาธิ มีแก่ท่านที่ทรงอารมณ์อย่างนี้อยู่แล้ว ท่านจะนั่งขัดสมาธิภาวนาหรือไม่ก็ตาม ท่านก็เป็นผู้มีฌานในสมาธิต่างๆอยู่แล้ว

   ถ้าจะถามว่า “จำเป็นไหมที่จะต้องนั่งขัดสมาธิ”

   ก็ขอตอบว่า “ตามใจท่าน” ท่านเป็นคนมีอริยทรัพย์ สมบูรณ์แล้ว ท่านจะขัดเกลาอริยทรัพย์ทั้งหลายนั้นหรือไม่ อริยทรัพย์ทั้งหลายเหล่านั้นก็ไม่เศร้าหมอง เพราะอารมณ์บารมีของท่านสมบูรณ์แล้ว ปฏิปทาแบบนี้เป็นปฏิปทาของคนที่มีบารมีเต็มสมบูรณ์แบบ

 คนที่มีกำลังอ่อนกว่านั้น

 คำว่า บารมี แปลว่า มีกำลังใจเต็ม คนที่มีกำลังใจเต็มพร้อมทุกอย่าง ไม่มีอะไรต้องอธิบาย ทำอะไรก็ได้ทันที ตัวอย่างสมัยพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ท่านเทศน์จบเดียวคนเป็นพระอริยะกันเป็นแถว ที่เป็นอย่างนั้นเพราะท่านทั้งหลายเหล่านั้นมีกำลังใจเต็ม ไม่เป็นบารมีหัวเต่าผลุบเข้าผลุบออก เอาจริงบ้าง ไม่เอาจริงมาก แต่ปากชอบคุยโวอวดตัวว่าฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้ เอาวิธีทำหรือเวลาที่ทำไปอวดเขา เนื้อแท้แล้วเหลวทั้งเรื่อง ทุกท่านโปรดทราบว่า น้ำที่เต็มกระบอกแล้วเขย่าไม่ดัง เพราะไม่มีช่องให้น้ำขยับตัว แต่กระบอกไหนถ้าน้ำไม่เต็ม เขย่าดัง เหมือนกับคนที่มีดีสมบูรณ์ ไม่บกพร่อง เขาก็ไม่คุยโวอวดชาวบ้าน คนที่หาความดียาก หรืออาจไม่มีเลย ชอบคุยอวด นั่นคือคนเลว

   ตอนนี้มาคุยถึง การทำสมาธิ คนที่มีกำลังใจไม่เข้มแข็ง ต้องฝึกใจให้เกิดสมาธิ คือฝึกใจให้ทรงอยู่ในความรู้สึกของความดีที่จะหนีนรกได้ ถ้าจะฝึกเราจะทำอย่างไร นั่งหรือนอน นอนหรือยืน ยืนหรือเดิน อย่างไหนถึงจะถูก ก็ต้องตอบว่า ถูกทุกอย่าง พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทำความดีนั้น ทำได้ทุกอิริยาบถ นั่งนอนยืนเดิน ได้ทั้งนั้น ก็ต้องคิดอีกนิดว่า นั่งนอนยืนเดินแบบไหนจึงจะถูกวิธี ถ้าทำคนเดียว อยู่ในที่พักของเราเอง ก็ขอตอบว่า นั่งนอนยืนเดินตามสบาย ที่ไม่ฝืนอารมณ์ใจ ใช้ได้เลย ถ้าฝืนอารมณ์ใจ จิตจะไม่เป็นสมาธิ เพราะเราฝึกที่ใจ ไม่ได้ฝึกที่กาย เว้นไว้แต่ถ้าอยู่ในกลุ่มมากด้วยกัน ต้องนั่งตามระเบียบของสถานที่

   จะภาวนาว่าอย่างไรดี

เรื่องทำสมาธิ ไม่มีแต่ภาวนาอย่างเดียว ท่านให้มีพิจารณาด้วย ขอให้ทำตามชอบใจของอารมณ์ แต่อย่าตามใจอารมณ์มากเกินไป ให้คิดไว้ก่อนว่า วันนี้เราจะฝึกไปอยู่สวรรค์ พรหม นิพพาน มากกว่า ด้วยหนังสือนี้ มีชื่อว่า “หนีนรก” จึงไม่ขอแนะแนวทางไปนรก ขอแนะแนวเดียวคือ หนีนรก เมื่อจะหนีนรกก็เอาอย่างนี้ เวลานี้เราพูดกันถึง การลิดรอนกำลังของสังโยชน์ 3 สังโยชน์ 3 มีอะไรบ้าง ขอทบทวนอีกครั้ง เพื่อจะได้ไม่ต้องพลิกไปอ่านตอนต้น

   สังโยชน์ 3

   สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกที่สอนใจเรา ให้เข้าใจผิด ตามความเป็นจริง มีอารมณ์คิดว่า “เราไม่ตาย ร่างกายเราสวยและสะอาด ร่างกายเป็นเราเป็นของเรา”

   การที่เราปฏิบัตินี้ ต้องใช้อารมณ์ตรงกันข้าม เพราะยอมปฏิบัติตามอารมณ์ของสังโยชน์ข้อนี้เราตายไปตกนรกแน่ เพราะถ้าเราคิดว่าไม่ตาย หรือตายแล้วสูญก็จะทำความเลวทุกอย่างตามสบาย ตายเมื่อไหร่ ลงนรกเมื่อนั้น เมื่อทำสมาธิ อันดับแรก คิดก่อน ให้จิตทรงตัวว่า “ร่างกายนี้ มันต้องตายแน่ แต่จะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ทราบ เมื่อมันยังไม่ตาย ขอทำความดีก่อน” และตั้งใจทำความมดีดังต่อไปนี้

   วิจิกิจฉา เป็นสังโยชน์ข้อที่ 2 คือ มีอารมณ์สงสัยพระพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า คิดว่าท่านดีจริงหรือไม่ดีจริง ไม่มีอารมณ์แน่นอน ยอมรับนับถือก็ไม่ใช่ สังโยชน์ข้อนี้ เป็นกำลังดึงลงนรกอีก ต้องใช้กำลังใจ เมื่อนั่งหรือนอนเป็นต้น ขณะฝึกสมาธิ ทำอารมณ์ตรงกันข้ามกับอารมณ์ที่บังคับใจ ตอนนี้ต้องใช้ปัญญา

   ปัญญาที่ใช้

   นึกถึงพระพุทธเจ้า เวลานี่เราไม่พบองค์ท่านแล้ว ก็เอาหลักฐาน คือคำสอนเป็นเครื่องพิจารณา คราวนี้ขออธิบายควบไปเลย จะได้ไม่ยืดยาด เอาคำสอนของท่านมาคิดว่าที่ท่านสอนให้ละชั่ว ประพฤติดี ตามคำแนะนำของท่านนั้น มันดีอย่างไร เอาตัวอย่างเล็กน้อยมาพิจารณาก่อน เช่น ท่านสอนให้มีความเคารพต่อผู้มีอายุสูงกว่า เป็นต้น ท่านบอกว่า เคารพเขาดี มีประโยชน์ ก็ลองดูสักหน่อยเมื่อเห็นคนที่มีอายุสูงกว่าเข้า เราก็ยิ้มให้ท่าน ยกมือไหว้ท่าน ทำอย่างนี้บ่อยๆ ลองพิจารณาผลในวันต่อไป เมื่อพบเห็นท่านผู้นั้นเข้าอีก ท่านจะยิ้มให้เรา หรือท่านจะด่าเรา เมื่อเรายกมือไหว้ท่านและยิ้มให้ท่าน ผลที่ได้รับจริงๆก็คือความเป็นมิตร ได้รับความเมตตาปรานีจากท่าน เราก็สบายใจ ท่านก็ชื่นใจเมื่อพบกัน ดีไม่ดี แค่ยกมือไหว้และยิ้มให้ ไม่ต้องลงทุนอะไร  อาจจะได้กินอาหารฟรี และได้รับของแจกฟรีก็ได้ และได้จริงๆด้วย ทั้งนี้เพราะเราละความชั่ว ประพฤติดีตามพระพุทธเจ้าทรงแนะนำ

   ถ้าอยากมองดูผลของความชั่วที่ท่านบอกให้ละก็ไม่ยาก เจอหน้าใครก็ด่าดะ ผลที่ได้รับ ถ้าไม่เจ็บตัว ก็หาคนรัก คนยิ้มให้ไม่ได้ เราเมื่อหมดมิตรที่รักก็นอนเป็นทุกข์ เพราะเกรงภัย

   เอาตัวอย่างเท่านี้พอนะ แนะนำมากก็รำคาญ ทุกท่านเป็นผู้ใหญ่แล้ว ความรู้ที่พระพุทธเจ้าสอนเรา เราได้มาจากพระอริยสงฆ์ ท่านอุตส่าห์รวบรวมแนะนำมาสั่งสอน ควรยอมรับนับถือท่านไหม ใช้ปัญญาคิดตามเอาความพอใจของแต่ละคน ที่พูดมาแล้วนั้นเป็นตอนใช้ปัญญาพิจารณา การคิดถึงความตาย การคิดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม  พระอริยสงฆ์ ขณะที่คิดถึงอยู่ จิตของแต่ละท่านก็ว่างจากกิเลส มีบุญมาก สามารถหนีนรกได้ เพราะอารมณ์คิดถึงตามที่กล่าวมาแล้วอย่างไม่ยากเลย

คัดลอกจากหนังสือ หนีนรก โดย พระราชพรหมยาน

หน้า 20-25

by admin admin ไม่มีความเห็น

เกิดมาแล้วทำไมต้องตาย

เกิดแล้วทำไมต้องตาย

   “เกิดมาแล้วทำไมจึงต้องตายครับ”

เพราะอยากตาย ไอ้คนอยากเกิดก็อยากตายด้วย ใช่ไหม เกิดมาแล้วมันก็ต้องตาย เพราะธรรมดาเราฝืนมันไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราไม่ต้องการตาย เราก็ไม่ต้องเกิด

   “ที่นิพพานไม่มีการเกิดใช่ไหมครับ จึงไม่มีการตาย”

อันนี้เคยมีพระหรือพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานจะไม่มีการเกิดก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าเกิดก็ไม่ได้ ถ้าเรียกว่าเกิดก็ต้องตาย ถ้าจะว่าไม่เกิด แต่สภาวะมันมีอยู่ ตอนแรกฉันอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลยย่องไปถามพระ ฉะนั้นนิพพานควรเรียกว่าอะไร ท่านบอกว่าควรจะเรียกทิพย์พิเศษ ที่ไม่มีการเคลื่อน เทวดาหรือพรหมยังมีการเคลื่อน ที่เรียกว่าจุติ จุติแปลว่าเคลื่อน ไอ้ศัพท์ที่ว่าตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียก ท่านเรียกกาลังกัตวา ถึงวาระแล้ว ถึงกาลเวลาแล้ว ท่านไม่เรียกว่าตาย ตายนี่มรณะ ตามศัพท์ของภาษาบาลี ไม่มีคำว่ามรณะ ไม่ใช้ศัพท์มรณะ ท่านเรียกว่ากาลังกัตวา แปลว่าถึงวาระที่จะต้องไปจากร่างกายนี้ ร่างนี้มันพัง มันไม่ยอมทำงาน

   “ขอหลวงพ่อโปรดอธิบายเรื่องนิพพานให้ผมเข้าใจด้วยครับ”

คำว่านิพพานหรอ คุณต้องการรู้เรื่องนิพพานไปทำไม

   “เอาไว้ประดับความรู้ครับ”

เอาไว้ประดับความรู้ ดี คำว่า นิพพานเป็นของง่าย เป็นของไม่ยาก นิพพานนี่เขาแปลว่าดับนะ ถ้าจะถามว่า ดับอะไร ก็ขอตอบว่า ดับความชั่ว คนที่จะถึงนิพพานได้ ต้องไม่มีความชั่ว 3 อย่างคือ

   1.ไม่ชั่วทางกาย

   2.ไม่ชั่วทางวาจา

   3.ไม่ชั่วใจ

   ถ้าทุกคนดับความชั่วได้หมด บุคคลนั้นก็ขึ้นชื่อว่า เป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

   “แต่ผมเคยได้ยินว่านิพพานแปลว่าดับไปเลย ไม่เหลืออะไรเลยนี่ครับ”

   ความจริงคุณจะต้องรู้ว่าอะไรดับ คำว่านิพพานแปลว่าดับ ดับทีแรก คือดับกิเลส ดับที่สอง คือ ดับขันธ์ 5 แต่ว่า ตามพระบาลีไม่ได้ว่าจิตดับ ปัญหาของคุณที่ถามนี่ เหมือนกับปัญหาของพระที่ถามพระพุทธเจ้าเคยถามมาแล้ว คือ ท่านผู้นั้นมีนามว่าพระโมกขราช พระโมกขราชถามพระพุทธเจ้าว่า

   “นิพพานมีสูญใช่ไหม พระพุทธเจ้าข้า”

   หมายความว่า เมื่อถึงนิพพานแล้วก็ดับสูญ มีสภาพคล้ายกับควันไฟที่ลอยไปในอากาศ ไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่อยู่ อย่างนั้น

   องค์สมเด็จพระบรมครูตรัสว่า

   “โมกขราช เรากล่าวว่านิพพานนั้น หมายถึงกิเลสดับและขันธ์ 5 ดับ”

   พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่าจิตดับ

   ทีนี้ ถ้าหากว่าคุณจะศึกษาเรื่องนิพพาน ถ้าเราจะพูดกันไปกี่ร้อยปีมันก็ไม่จบ”

   ถ้าต้องการจะรู้เรื่องนิพพานจริงๆ คุณจะต้อง

   เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ เป็นอันดับแรก

   เป็นผู้ทรงฌานสมาบัติ ในขณะที่ทรงฌานสมาบัติได้แล้ว คุณจะต้องทำจิตของตนให้เข้าถึงซึงทิพจักขุญาณ  

   เมื่อได้ทิพจักขุญาณแล้ว จะต้องทำจิตของตนให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ที่เรียกกันว่า สังขารุเปกขาญาณ

   เมื่อจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ก็ต้องชำระกิเลส ด้วยการตัดสังโยชน์ 3 เบื้องต้น คือ

   1.ทำลายสักกายทิฏฐิ

   2.ทำลายวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยให้หมดไป

   3.สีลัพพตปรามาส ทรงศีลให้บริสุทธิ์

   4.มีอารมณ์จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่เราเรียกกันว่า โคตรภูญาณ

   ถ้ากำลังใจของคุณทำได้อย่างนี้ เมื่อจิตเข้าถึงโคตรภูญาณ คุณจะทราบว่าคำว่าดับของพระนิพพานนั้นก็คือ

   1.ดับกิเลส ในขณะที่มีชีวิตอยู่

   2.ดับขันธ์ 5 หรือขันธ์ 5 ดับ

   3.อารมณ์จิตที่บริสุทธิ์ ไม่ได้ดับไปด้วย

   คำว่าพระนิพพาน ยังมีจุดที่เป็นที่อยู่อันหนึ่ง ที่เขาเรียกกันว่า เป็นทิพย์พิเศษ พ้นจากอำนาจของวัฏฏะ คุณทำได้ไหมล่ะ

   “ทำไม่ได้ครับ”

   ทำไม่ได้ แล้วถามทำไม

   “ถามไว้เพื่อเป็นการศึกษาครับ”

   ดี ถามไว้เพื่อเป็นการศึกษา แต่ว่าคุณอย่าลืมนะ เพราะคำว่านิพพาน สมัยนี้เป็นของไม่ยากสำหรับประชาชนแล้วนะ บรรดาบุคคลทั้งหลายที่อยู่ในวัยเรียนชั้นเด็ก คือชั้นประถมก็ดี ชั้นมัธยมก็ดี  และนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ดี เขาได้ญาณประเภทนี้กันเยอะแล้ว และเข้าใจเรื่องพระนิพพานดี

   “กระผมอยากทราบว่า คนเราเกิดมาเพราะเหตุอะไรครับ”

   ก็เพราะกิเลส ตัณหา อุปาทาน และอกุศลกรรม

   กิเลส แปลว่า ความเศร้าหมองของจิต ถ้าแปลเป็นภาษาไทยชัดๆ เขาแปลว่า จิตเลว

   ตัณหา แปลว่า ความทะยานอยากเมื่ออารมณ์มันคิดเลว ก็อยากได้ในสิ่งที่เป็นความเลว

   อุปาทาน แปลว่า ความยึดมั่น ยึดมั่นว่าสิ่งที่เราได้มา มันจะมีการทรงตัวอยู่กับเราตลอดกาล ตลอดสมัย

   อกุศลกรรม แปลว่า ความโง่ เห็นของเลวเป็นของดี

   เกิดมาแล้ว เราต้องมีภาระทุกอย่าง มีการงานทุกอย่าง แล้วร่างกายมันก็ไม่ทรงตัว นี่เราลืมคิดกัน

   เกิดเป็นมนุษย์นี่ดีนะ แต่เกิดเป็นคนนี่ไม่ดี มนุษย์เขาแปลว่า ใจสูง ถ้าเป็นมนุษย์จริงๆ เขาต้องมีกรรมบถ 10 ครบถ้วน หรือว่ามีศีล 5 ครบถ้วน คนเขาแปลว่ายุ่ง คุณเป็นคนหรือเป็นมนุษย์ล่ะ

   “เป็นมนุษย์ครับ”

   บางวันก็เป็นมนุษย์ บางวันก็เป็นคน ใช่ไหมคุณ เป็นมนุษย์ หรือเป็นหมานุษย์ ถ้าฉันพูดแบบสุพรรณฯ ละก็ หมานุษย์เคยไปเที่ยวสุพรรณฯ เห็นเด็กสาวคนหนึ่งมาที่วัด ถามว่า ไอ้หนู มากับใคร เด็กมันตอบว่า มากันหมดเจ้าค่ะ พ่อก็หมา แม่ก็หมา ฉันก็หมาด้วย หมากันหมดบ้านเลยเจ้าค่ะ เป็นอันว่าวันนั้นไม่มีคน มีแต่หมา (หัวเราะ)

   “หลวงพ่อครับ จะทำความดีอย่างไร ถึงจะได้เป็นมนุษย์ครับ”

   คุณธรรมที่จะสร้างให้คนเป็นมนุษย์มันมี ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ธรรมที่จะให้เกิดเป็นมนุษย์ก็ได้แก่ศีล หรือว่ากรรมบถ 10 และก็ต้องมีหิริ ความละอายต่อบาปโอตตัปปะ ความเกรงกลัวผลของความชั่ว คุณธรรมเหล่านี้ ถ้ามีแก่บุคคลใด คนผู้นั้นถ้าตายจากคน ก็ไปเกิดเป็นมนุษย์หรือเทวดา

   “กระผมอยากทราบว่า พระโสดาบันกับพระอรหันต์นั้น เขาใช้เครื่องวัดกันอย่างไรครับ”

   เขาใช้หลักกิโลเมตรเป็นเครื่องวัด อ้าว! จริงๆ คือว่าการปฏิบัติให้เป็นพระอริยะ คือตั้งแต่พระโสดาบันถึงพระอรหันต์นี่นะ ถ้าถึงพระโสดาบันมันยาว 3 กิโลเมตร ถ้าถึงพระอรหันต์ก็ยาว 10 กิโลเมตร เอ๊ะ ! แย่ไหม คุณถามเครื่องวัดนี่ แต่ว่าเครื่องวัดในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่าจะเอาเชือกไปวัด หรือว่าเอาอะไรเข้าไปวัด ต้องวัดด้วยคุณธรรมที่ละ

   เครื่องวัดมีอย่างนี้ คือว่า พระโสดาบัน กับ พระสกิทาคามี จะต้องละความชั่ว 3 อย่าง

   คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

   สำหรับสักกายทิฏฐิ  พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี จะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เราเกิดมาเพื่อตาย จะไม่มีความประมาทในชีวิต จะคิดทำความดีอยู่เสมอ

   วิจิกิจฉา ไม่สงสัยในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยใช้ปัญญาพิจารณา

   และประการที่ 3 มีศีล 5 บริสุทธิ์  

   นี่เขาเรียกกันว่า พระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี

   สำหรับพระอรหันต์ ต้องละกิเลส 10 ข้อ คือ ต่อไปอีก 7 ข้อ ได้แก่

   ละ กามราคะ คือไม่ยินดีในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ

   ละ ปฏิฆะ คือ ไม่มีความโกรธ ไม่มีความพยาบาท

   ละ รูปราคะ ไม่ติดอยู่ในรูปฌาน

   ละ อรูปราคะ ไม่ติดอยู่ในอรูปฌาน

   ละ มานะ ไม่ถือตัว ถือตน

   ละ อุทธัจจะ ไม่มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน

   ละ อวิชชา ตัดความโง่ทิ้งไปให้หมด

   รวมเป็น 10 อย่าง ถ้าตัดได้ทั้ง 10 อย่างนี้ เป็นอรหันต์ นี่เป็นเครื่องวัด

คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 44 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

หน้า 28-34

#แอดมิน 

by admin admin ไม่มีความเห็น

กฎความจริง

กฎความจริง

   เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ต้องมีความป่วยไข้ไม่สบาย ต้องแก่ ต้องตาย นี่เป็นกฎความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ปุถุชนทั่วไปเห็นคนอื่นป่วย คิดว่าตัวเองคงไม่ป่วย เห็นคนอื่นตาย กลับคิดว่าตนเองจะไม่ตาย

   หรือเห็นคนอื่นแก่ ก็คิดว่าตัวเองไม่แก่ เมื่อเห็นความป่วย ความแก่ ความตาย ก้าวเข้ามาสู่วิถีชีวิต คราวนี้ก็เริ่มดิ้นรน มีความเดือดร้อน แสวงหาทางแก้ป่วย แก้แก่ แก้ตาย

   จะมีทางใดแก้ ก็หมอที่เก่ง สามารถถอดหัวใจ ถอดปอดเปลี่ยนของเก่าเอาออก เอาของใหม่ใส่แทน เพื่อช่วยชีวิตคนอื่น แต่แกเองนั่นแหละตาย เมื่อหมอยังตาย แล้วคนไข้จะไม่ตายอย่างนั้นหรือ

ความดับไม่มีเชื้อ

   ถ้าเราไม่มีร่างกายเสียอย่างเดียว อาการอย่างนี้มันไม่ปรากฏ

   จิตมันก็กำหนดไว้เลยว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ความเกิดจะไม่มีสำหรับเราอีก การเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราไม่ต้องการ

หรือว่าการที่จะมีอารมณ์พิสมัยว่าโลกมนุษย์สวยสดงดงาม เทวโลก พรหมโลกสวยสดงมงาม มันเป็นที่น่าอยู่ ไม่มีสำหรับเรา

   เราต้องการอย่างเดียวคือความดับไม่มีเชื้อ คือ โลกทั้ง 3 ไม่ต้องการทั้งหมด

   จิตที่เราจะพึงกำหนดไว้คือ ไม่มีร่างกาย แล้วก็มีพระนิพพานเป็นที่ไป

สังขารุเปกขาญาณ

   ถ้าเราจะเปลื้องความทุกข์จากจิต คือเราจะเปลื้องอาการของความทุกข์ ที่เรียกว่า ทุกข์ในอริยสัจ ทุกข์ตัวนี้ ถ้าเปลื้องได้มันก็เปลื้องหมด เปลื้องไม่เหลือ ขณะที่มีชีวิตอยู่ จิตก็เป็นสุข ตายไปแล้วก็มีสุขที่สุดคือ พระนิพพาน

   นี่เราจะเปลื้องทุกข์กันได้แบบไหน ต้องยอมรับนับถือและคิดไว้เสมอทุกขณะจิต ว่าร่างกายของเราก็ดี ร่างกายของบุคคลอื่นก็ดี วัตถุทั้งหลายก็ดีไม่เที่ยง เห็นของใหม่ก็มีความรู้สึกไว้เสมอว่ามันเก่า เมื่อมันเก่าแล้ว ผลที่สุดก็ทรุดโทรมแล้วก็พัง

   มีความรู้สึกว่าร่างกายของเรา ร่างกายของเขาทั้งหมด เป็นร่างกายที่ไม่มีอะไรทรงตัว

   ความป่วยไข้ไม่สบายเป็นของธรรมดา

   ความแก่เฒ่าเป็นของธรรมดา ผมหงอก ฟันหัก ตาพร่า หูฟางเป็นของธรรมดา

   ความตายที่จะเข้ามาถึงเราเมื่อไหร่ เป็นของธรรมดา

   ถ้าจิตยอมรับนับถือธรรมดา มันก็หมดความทุกข์ ชื่อว่าเป็นจิตของบุคคลที่มีความฉลาด ไม่ฝืนกฎธรรมชาติและไม่ฝืนกฎธรรมดา

นี่การที่พระพุทธเจ้าทรงอบรมเรา ต้องการเท่านี้ ต้องการให้จิตของเรา มีความรู้สึกนึกคิดว่า นี่มันเป็นธรรมดาอย่างนี้ เมื่อสภาวะความรู้สึกว่า เป็นธรรมดาเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้สึกสะเทือนใจ ที่เรียกว่า “สังขารุเปกขาญาณ”

สังขารุเปกขาญาณ แปลว่า ญาณเป็นเครื่องรู้ รู้ตามความเป็นจริง แล้วก็วางเฉย

ในเมื่ออาการอย่างนั้นปรากฏ อารมณ์จิตไม่ทุกข์ มีอารมณ์จิตเป็นสุข

คัดลอกจากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 383

หน้า 100-101

#แอดมิน

by admin admin ไม่มีความเห็น

คำสอนก่อนฝึกมโนมยิทธิ

คำสอนก่อนฝึกมโนมยิทธิ

(ถอดเทปโดย คุณวินัย , พิสูจน์อักษรโดย คุณกชกร ใบไม้)

   ต่อนี้ไป ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายรับฟังคำแนะนำสักครู่หนึ่ง ตอนนี้จะขอพูดสำหรับท่านนักปฏิบัติเก่าก่อน ท่านทั้งหลายปฏิบัติมาได้แล้ว จงพยายามรักษาอารมณ์เดิมที่ครูแนะนำไว้ เพราะว่ามีหลายท่านที่ได้ไปแล้ว พอไปถึงบ้านปรากฏว่าสลายตัว ไม่สามารถจะทำได้ นั่นแสดงว่ากำลังใจของท่าน เป็นคนที่หาความแน่นอนไม่ได้

   คือแบบฉบับที่ครูแนะนำไว้เดิมว่า ทำอย่างไร เราจึงจะสามารถเห็นภาพได้ ทำอย่างไรจึงสามารถไปถึงจุฬามณีเจดียสถานได้ ทำแบบไหนจะไปเห็นนิพพานได้ ต้องจำอารมณ์อย่างนั้นไว้ แล้วก็อารมณ์ในการปฏิบัติจะต้องทรงตัว

   แล้วอีกประการหนึ่ง ก็รักษาอารมณ์ให้แจ่มใสเป็นปกติ

   การเห็นชัดเห็นเจน หรือไม่ชัดไม่เจนอยู่ที่นิวรณ์ 5

   สำหรับนิวรณ์ 5 ถ้าหากว่าจิตยังห่างจากปฐมฌาน มันก็กวนใจเป็นของธรรมดา

   นิวรณ์ 5 ประการ

นิวรณ์ 5 คือ

ข้อที่ 1 รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ

ข้อที่ 2 ความโกรธ ความพยาบาท

ข้อที่ 3 ความง่วงเหงาหาวนอนในเวลาที่ปฏิบัติความดี

ข้อที่ 4 จิตไม่ทรงตัว คือ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ไม่รักษาอารมณ์ไว้โดยเฉพาะ

ข้อที่ 5 มีความสงสัยในผลของการปฏิบัติ

นิวรณ์ 5 ประการนี้ เวลาที่เราทำสมาธิ จงอย่าให้มีในจิตเป็นอันขาด

   ถ้าเรารักษาตลอดวันไม่ได้ กันตลอดวันไม่ได้ ก็กันไว้เฉพาะเวลาที่เราทำสมาธิ ให้ถือว่าในช่วงที่เราจะทรงจิตให้เป็นสมาธิหรือ วิปัสสนาญาณ เราจะไม่สนใจกับนิวรณ์ 5 ประการ เป็นอันขาด

   มันช่วงเวลาประเดี๋ยวเดียวนี่ ถ้าทำไม่ได้ก็ให้มันตายไปเสียเลย ก็หมดเรื่องหมดราวไป เอาดีไม่ได้ก็ปล่อยให้มันตายไป แค่จะระงับยับยั้งจิตให้มันดีชั่วแค่ครึ่งชั่วโมงหรือหนึ่งชั่วโมง วันหนึ่ง มีเวลา 24 ชั่วโมง เราจะปล่อยจิตให้ชั่ว 24 ชั่วโมงนี่ มันก็เลวเกินไป ต้องสกัดกั้นความชั่วของจิตไว้ให้ทรงตัวได้สักวันละ 1 ชั่วโมงหรือว่าครึ่งชั่วโมงก็พอ

   รวมความว่า ในขณะใดที่ทำสมาธิจิตอยู่

1.เราจะไม่ยอมพอใจในรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ

2.เราจะไม่ยอมให้ความโกรธ ความพยาบาทเข้ามาแทรกจิต

3.เราจะไม่ยอมแพ้กับความง่วง

4.เราจะไม่ยอมปล่อยจิตให้ฟุ้งซ่าน นอกจากจะคุมคำภาวนาหรือพิจารณา

5.เราจะไม่สงสัยในผลของการปฏิบัติ ถ้าเราทำได้อย่างนี้ จิตจะผ่องใส

   ภาวนาว่า “นะมะ พะทะ”

หรืออีกแบบหนึ่ง ขณะที่อยู่ธรรมดาๆ หรือก่อนที่จะเคลื่อนจิตไปสู่ภพต่างๆ ให้พยายามจับลมหายใจเข้าออก ตามธรรมดา ให้รู้ไว้ แล้วก็ใช้คำภาวนาว่า “นะมะ พะทะ”

เวลาหายใจเข้า นึกว่า นะมะ

เวลาหายใจออก นึกว่า พะทะ

   ให้จิตมันทรงตัวอยู่แค่นี้แหละ จิตมันทรงตัวแบบสบายๆ จนกระทั่งจิตทรงตัวแน่นอน ความสว่างไสวจากจิตจะเกิดขึ้น ภาพที่เราเห็นจะชัดเจนแจ่มใสขึ้นตามลำดับ จนกระทั่ง เห็นเทวดาหรือพรหม หรือพระอริยเจ้าที่นิพพานมาแล้ว เหมือนกับเห็นคนธรรมดา อันนี้ใช้ได้

   วิธีนี้จะต้องฝึกให้ทรงตัวอยู่เสมอ ควรใช้เวลาสักวันหนึ่ง คือ ก่อนหลับ เรานอนลงไป แล้วให้เอาจิตเข้าไปรับทราบลมหายใจเข้าออก แล้วภาวนาว่า นะมะ เวลาหายใจเข้า เวลาหายใจออกก็นึกว่า พะทะ อย่างนี้แหละ ภาวนาโดยที่เราไม่ต้องการรู้ ต้องการเห็นอะไรทั้งหมด

   แต่ว่าพอจิตเป็นทิพย์ดีจริงๆ แล้วมันจะเห็นของมันเอง ชัดเจนแจ่มใสมาก จงพยายามทำนะ ที่มานั่งบ่นว่ากลับบ้านมืดไป เพราะว่าไม่รักษาอารมณ์ดีเข้าไว้

   อารมณ์ใจก่อนหลับและตื่นใหม่ๆ

   อารมณ์ใจที่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ ก่อนจะหลับหรือว่าตื่นใหม่ๆ ให้ตัดสินใจว่า ขึ้นชื่อว่าการเกิดเป็นคนนี่ นับตั้งแต่เวลาตื่นเช้ามาจนกว่าจะหลับ มันเต็มไปด้วยความยากลำบาก ยุ่งยากด้วยประการทั้งปวง หาความสุขความสบายไม่ได้ มีความหิวเข้ามารบกวน ความกระหายเข้ามารบกวน ความหนาว ความร้อนเข้ามารบกวน การปวดอุจจาระปวดปัสสาวะ การป่วยไข้ไม่สบาย อารมณ์ที่ไม่ชอบใจ การงานหนัก ต้องยุ่งยากเรื่องการปฏิบัติงาน มันรบกวนตลอดเวลา

   เป็นอันว่าการเกิดเป็นมนุษย์นี่มันไม่ได้ มีแต่ความทุกข์ หาความสุขจริงจังไม่ได้ ถ้าเป็นเทวดาหรือพรหมก็พักหาความสุขชั่วคราว ขึ้นชื่อว่าเราขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ถ้าตายจากความเป็นคนเมื่อไหร่ เราขอไปพระนิพพานตรง เราไม่ขอกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทวดาหรือพรหมต่อไป

ตัดความโลภ ,ความโกรธ ,ความหลง

แต่ว่าการที่จะไปนิพพานได้ ก็มีเหตุ 3 ประการ ที่จะทำให้เราไปนิพพานได้ นั่นก็คือ

1.เราพยายามตัดความโลภ ด้วยการให้ทานตามกำลังใจที่จะตัดได้ หรือว่าตามวัตถุที่เราจะพึงให้ได้ ถ้าเราเห็นคนยากจนเข็ญใจ เห็นสัตว์ลำบาก เราไม่สามารถให้ได้ เพราะทรัพย์สินมันไม่มี แต่ว่าจิตคิดว่าเราจะให้ ถ้าเรามี มีความสงสาร ถ้าอย่างนี้เรียกว่า จาคานุสสติกรรมฐาน เป็นการทำลายความโลภ เป็นก้าวหนึ่งที่จะไปนิพพาน

ประการที่ 2 คนที่เขาทำให้เราไม่ชอบใจ สร้างความขัดเคืองให้เกิดขึ้น มันก็เป็นของธรรมดา ถ้าเรายังไม่หมดกิเลสก็ต้องโกรธเป็นของธรรมดา

แต่พอรู้ตัวขึ้นมาว่าเราโกรธ เราพลาดท่าไปเสียแล้ว ต่อไปเราก็เข้าใจว่า คนที่ทำให้เราโกรธนี่ ความจริงเขาเป็นคนเลว เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวเอง  เขาทำให้เราโกรธ 1 คน เขาก็ขาดมิตรที่ดีไป 1 คน คนที่มีเพื่อนมาก มีคนรักมาก ก็มีความสุข แต่นี่เขาเป็นคนโง่ เป็นศัตรูกับเรา เขาก็สร้างความทุกข์ให้แก่ตัวเอง เราก็คิดว่าถ้าเขาโง่ ก็ปล่อยเค้าโง่ไปแต่ผู้เดียว เราจะไม่โง่ด้วย คือเราไม่ประกาศตนเป็นศัตรู แต่ว่าเขาไม่ดี เราจะวางเฉยเข้าไว้ จะไม่คบหาสมาคม ตั้งใจไว้อย่างนี้ ถือว่าเป็นก้าวที่สองที่เราจะเข้าไปหานิพพาน จะระงับความโกรธ

ก้าวที่ 3 เราได้แล้วคือ เข็ดในความเป็นมนุษย์ ไม่ต้องการเป็นเทวดาหรือพรหม เราต้องการนิพพาน นี่เป็นก้าวที่สามที่จะเข้าถึงนิพพาน ใจเรารักษาอารมณ์อย่างนี้ไว้

แล้วก็ทุกคนให้ระมัดระวังความดีของจิตคือ จิตเคารพพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ เคารพพระธรรม เคารพพระอริยสงฆ์ แล้วก็ตั้งอกตั้งใจรักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ รักษาศีล 5 ด้วยการระมัดระวัง

แล้วจิตนึกไว้เสมอว่าถ้าตายเมื่อไหร่ ความเป็นคนชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย ตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพานเมื่อนั้น

   ถ้าใจของเรามีความเคารพในพระพุทธเจ้าจริง ในพระธรรมจริง ในพระอริยสงฆ์จริง เรามีศีล 5 บริสุทธิ์จริง จิตใจมีความแน่วแน่จริงว่าต้องการไปนิพพาน อย่างนี้ท่านเรียกว่าพระโสดาบันหรือพระสกิทาคามี

   ถ้าจิตตั้งใจแน่วแน่ได้อย่างนี้จริงๆ แล้วตายเมื่อไหร่ไปนิพพานเมื่อนั้น อย่าลืมว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี ยังมีสามี ภรรยาได้ ยังร่วมรักกันแบบปกติได้ เพราะว่ามีศีลที่รักษาเพียงแค่ศีล 5 เท่านั้น นี่รวมความว่า เป็นอารมณ์ที่บรรดาท่านพุทธบริษัทควรจะทรงไว้

สำหรับผู้ฝึกใหม่

ตอนนี้ขอพูดกับคนที่ยังปฏิบัติไม่ได้ หรือคนที่มาใหม่ จงรักษากำลังใจตามสบายๆนะคนใหม่ อย่าทำอารมณ์ให้มันเครียดมันตึงเกินไป ปล่อยใจตามปกติเพราะว่า สมาธิแบบนี้ ไม่ต้องการอารมณ์สูงนัก ใช้อารมณ์ธรรมดาๆ เพื่อความเป็นทิพย์ของจิต

เวลาภาวนาให้ตัดสินใจตามนี้นะ เวลาหายใจเข้านึกว่า นะมะ เวลาหายใจออกนึกว่า พะทะ

เวลาที่ภาวนาอยู่นี้ จงอย่าอยากรู้อยากเห็นอะไรทั้งหมด คือปล่อยใจไปตามสบายๆ การที่ให้ภาวนาคือต้องการให้จิตมีกำลัง ที่เรียกกันว่า มีสมาธิ เวลาใดที่รู้ลมเข้ารู้ลมออก เวลานั้นจิตเป็นสมาธิเพราะอานาปานุสสติกรรมฐาน แล้วก็สามารถรู้คำภาวนาด้วย ถ้ารู้คำภาวนา ก็ถือว่าเป็นสมาธิของมโนมยิทธิ จำไว้ง่ายๆ ว่าเวลาหายใจเข้า หายใจออก นี่ปล่อยตามสบาย อย่าบังคับลม เวลาหายใจเข้านึกว่า นะมะ เวลาหายใจออกนึกว่า พะทะ เอาแค่นี้

พอภาวนาไปสักประเดี๋ยวจะหยุดแนะนำ จะตั้งเวลาไว้ประมาณ 10 นาที ในช่วงนั้นพยายามจับลม หายใจเข้าออก รับทราบ หายใจเข้านึกว่า นะมะ หายใจออกนึกว่า พะทะ ภาวนาเฉยๆอย่างนี้นะ จนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณดัง ถ้าได้ยินเสียงสัญญาณดังขึ้น ทุกคนอย่าเพิ่งลืมตา เพราะไม่ใช่สัญญาณบอกเลิก เป็นสัญญาณบอกว่าจะมีคนเข้าไปแนะนำถึงตัว เพราะว่าการปฏิบัติวิธีนี้ ความจริงเป็นการปฏิบัติที่สูงและยากอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา เพราะว่าเป็นส่วนหนึ่งของอภิญญาหรือเป็นการเตรียมอภิญญาหก แต่ความจริงฝึกอภิญญาเขาดีกว่า เขาง่ายกว่า แต่ว่าอภิญญาต้องใช้กสิณยาว ต้องใช้เวลานาน สำหรับเรื่องนี้ เป็นเรื่องของจิตโดยตรง

มโนมยิทธิ แปลว่า มีฤทธิ์ ทางใจ ฉะนั้นความรู้ทั้งหมด มันรู้จากใจอย่างเดียว

   คำว่า ทิพจักขุญาณ เขาแปลว่า มีความรู้ทางใจ คล้ายตาทิพย์ ใหม่ๆก็รู้สึกคล้ายๆ มันจะหลอกตัวเอง แต่ความจริงไม่ใช่ ต้องมีความเชื่อมั่นในตนเองว่า ขณะนี้ เรามีสมาธิพอแล้ว ความรู้สึกของจิตที่มันเกิดขึ้น ตามความเป็นจริง มันตรงตามความเป็นจริงทุกอย่าง ไม่ใช่เรานึกเอาเอง เพราะว่าขณะที่เราทรงสมาธิจิต นี่สมาธิมันบังคับ เราไม่สามารถจะนึกเอาเองได้ตามชอบใจ แล้วอารมณ์ของทิพจักขุญาณแบ่งเป็น 2 ชั้นคือ

   ชั้นแรก ที่เรียกว่า จิตยังหยาบ มันไม่เห็นภาพ เป็นแต่ความรู้สึก เหมือนกับบรรดาท่านพุทธบริษัทที่นั่งอยู่เวลานี้ ถ้าใครเข้ามาถามว่า บ้านท่านมีลักษณะอย่างไร ทุกคนตอบได้หมด ทาสีหรือเปล่า เป็นสีอะไร ก็ตอบได้ คนที่บ้านมีกี่คนเราก็ตอบได้ เป็นผู้หญิงเท่าไหร่ ผู้ชายเท่าไหร่ เราก็ตอบได้ เป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่เท่าใด เราก็ตอบได้ ของสำคัญที่เราวางไว้ในบ้าน เราสามารถจะบอกได้ทุกอย่าง การที่บอกได้เวลานี้ ไม่ใช่ตาเห็น เป็นความรู้สึกของใจ

   สำหรับทิพจักขุญาณตอนแรกๆ ที่ยังหยาบก็เหมือนกัน มันเป็นความรู้สึกของใจ แต่ไม่เห็นภาพ

   หากว่าผู้แนะนำเขาถามท่านว่า เวลานี้ ท่านมีความรู้สึกว่าใครมาอยู่ข้างหน้าบ้างไหม ให้ตอบตามความรู้สึกแรก ถ้าความรู้สึกว่ามี ตอบเลยว่ามี อย่ายั้งตัว ถ้ายั้งตัวสงสัยนิดเดียว กิเลสแทรก วันนี้ไม่มีผล

ถ้าเขาถามว่าคนที่อยู่ข้างหน้าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

ถ้าความรู้สึกบอกว่าผู้หญิง ก็ตอบว่าผู้หญิง ความรู้สึกว่าผู้ชาย ก็ตอบว่าผู้ชาย ตอนนี้มันยังไม่เห็นภาพ

ถ้าเขาถามว่านุ่งผ้าใส่เสื้อสีอะไร

ถ้าความรู้สึกมันบอกว่าสีอะไร ก็ตอบไปตามนั้น อันนี้หมายถึงว่า ถ้าจิตยังหยาบ สมาธิ ยังไม่ดีพอ

แต่ก็มีจำนวนมากที่สมาธิเขาดีเลย พอถามปั๊บเห็นภาพชัดทันที อันนี้ก็มีเยอะ

   สำหรับท่านที่ไม่เห็นนี่ ถ้าหากครูผู้ฝึก เขายืนยันว่าตรงตามความเป็นจริง เพียงสองสามครั้งใจจะสบายขึ้น จะเริ่มเห็นภาพทางใจ ภาพไม่ใช่เห็นทางตานะ เห็นทางใจนะ จงอย่าคุมสติให้มันหนักเกินไป ถ้าหนักเกินไปไม่มีทางได้ ต้องใช้สมาธิเบาๆ

   แล้วก็ได้ยินเสียงสัญญาณดังขึ้นมา ถ้าปรากฏว่ามีคนไปนั่งข้างหน้า ขอท่านที่มีคนไปนั่งข้างหน้าเลิกภาวนาเสียเลย ไม่ต้องภาวนาอะไรทั้งหมด ถ้ายังไม่มีคนไปนั่งข้างหน้าก็เลิกภาวนาเสีย แล้วก็ไม่สนใจกับลมหายใจเข้าออก ปล่อยใจสบายๆ ฟังคำแนะนำของผู้แนะนำ

ถ้าผู้แนะนำเขาให้ตัดสินใจอย่างไร ก็ตัดสินใจไปตามนั้นทันที

   ก็รวมความว่า เราจะต้องเชื่อผู้สอนด้วยความเต็มใจ แล้วก็ไม่มีความสงสัยในเวลานั้น

ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่าน ตั้งกายให้ตรง ดำรงจิตให้มั่น

   สำหรับท่านที่ได้มาแล้ว ให้รวบรวมกำลังใจ ตัดสินใจว่ามนุษยโลก เทวโลก และพรหมโลก ไม่ใช่ที่หมายของเรา เราตายเมื่อไหร่ เราขอไปนิพพานเมื่อนั้น

หลังจากนั้น ก็จับพระรูปพระโฉมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ชัดเจนแจ่มใส มุ่งไปนิพพานโดยเฉพาะ

   สำหรับท่านที่มาใหม่ ยังไม่ได้ ให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก

เวลาหายใจเข้านึกว่า นะมะ

เวลาหายใจออกนึกว่า พะทะ

จนกว่าจะมีผู้เข้าไปแนะนำท่าน

ต่อไปนี้ขอทุกท่านเริ่มปฏิบัติได้

สวัสดี.

คัดลอกจากหนังสือ ธัมมวิโมกข์ ปีที่ 34 ฉบับที่ 383

หน้า 33-39

#แอดมิน 

by admin admin ไม่มีความเห็น

ยึดอารมณ์พระโสดาบัน

ยึดอารมณ์พระโสดาบัน

ยึดหัวหาดให้ได้ นั่นก็คือ

1.สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกอยู่เสมอว่า เรากับคู่ครองของเรา กับลูกหลานเหลน  บุคคลที่เนื่องถึงเราทุกคน ในที่สุดก็ต้องตายหมด รักษาอารมณ์ใจอย่างนี้ไว้ก่อนนะ พร้อมคิดไว้ว่าความป่วยจะต้องมีกับเราและกับเขา ความตายเรากับเขาต้องมีแน่ การพลัดพรากระหว่างเรากับเขาต้องเกิดขึ้นแน่นอน จงอย่าไปคิดว่าเราจะอยู่ร่วมกันตลอดกาลตลอดสมัย เราจะไม่มีการป่วยไข้ไม่สบาย อันนี้ไม่ถูก เราจะไม่แก่ อันนี้ก็ไม่ถูก ความแก่ก็ดี ความป่วยก็ดี ความพลัดพรากจากกันก็ดี มันต้องมีแน่นอน เรากับเขาต้องมีแน่ รวมความว่า คิดไว้มุมเดียวว่า ร่างกายเราก็ดี ร่างกายเขาก็ดี ต้องตาย ทีนี้ความตายมันเกิดขึ้น ทำยังไง เราก็ต้องพร้อมไว้ซิ

เวลานี้ เราอยู่สองคนสามีภรรยา เรามีหน้าที่การงานที่จะต้องทำอะไรขึ้นมาเพื่อความเป็นอยู่ของครอบครัว สมมติไว้เสมอว่าอีกคนหนึ่งเขาตายไป และเราก็ทำงานอย่างนั้นเป็นการทดแทนกัน ให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวมันเป็นปกติ คิดไว้เสมอนะ อย่าไปคิดว่าเขาไม่ตาย ใจมันจะได้สบาย ใช่ไหม ใจจะได้เป็นสุข เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตายขึ้นมาจริง โอ…นี่ฉันรู้แล้วว่าจะตาย งานเราก็เตรียมพร้อม เรารู้แล้ว ถ้าเขาตาย ครอบครัวเรา เรากินวันละบาท เมื่อระหว่างที่อยู่ เราทำกันวันละสองสลึงต่อหนึ่งคน ทีนี้เราต้องเตรียมพร้อมทำวันละบาทไว้ก่อน จิตมันก็ไม่เป็นทุกข์ ใช่ไหม นี่รู้ตัวว่าเราจะตาย แต่ว่าตอนนี้แค่รู้ตัวว่าเราจะตาย ถ้าตายคราวนี้ ขึ้นชื่อว่านรกก็ดี เปรตก็ดี อสุรกายก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี จะไม่เป็นแดนเกิดสำหรับเรา

เราจะยังตัดความเกิดเฉพาะ

หนึ่ง อย่างเลว เราเป็นมนุษย์

สอง เราเป็นเทวดา

สาม เราเป็นพรหม เราจะวนไปวนมาอยู่แค่นี้

ทีนี้อาการที่จะทำให้เราวนไปวนมา อยู่ระหว่างความเป็นเทวดาหรือเป็นพรหม จะทำยังไง ตัวนั้นก็คือ ศีล 5 ข้อ สีลัพพตปรามาส เราจะต้องรักษาศีล 5 เป็นปกตินับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จิตใจของเราจะไม่ยอมละศีล จิตใจของเราจะใคร่ครวญศีลอยู่เป็นปกติ เราไม่ยอมบกพร่อง รวมความว่าศีล 5 ข้อ จะเป็นข้อใดข้อหนึ่งก็ตาม เราจะขาดด้วยเจตนาตั้งใจทำลายนั้น ไม่มี ศีลนี่มันขาดด้วยความตั้งใจทำลายนะ ถ้าบังเอิญไปเหยียบมดตาย ปลวกตายที่เราไม่มีเจตนา นี่เขาไม่ว่านะ คือ ศีลไม่ขาด คือว่าต้องขาดด้วยความตั้งใจทำลาย ถ้าเราไม่ตั้งใจทำลาย ศีลไม่ขาดแน่นอน นี่เราก็รู้ระมัดระวังศีลไว้

ในเมื่อขณะที่เราระมัดระวังศีลไว้ เราก็รู้อยู่แล้วนี่ว่าศีล เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นมนุษย์ได้ ไม่เป็นปัจจัยให้เกิดเป็นสัตว์นรกหรอก คนที่มีศีล 5 จะเกิดเป็นสัตว์นรกก็ดี เป็นเปรตก็ดี เป็นอสุรกายก็ดี สัตว์เดรัจฉานก็ดี ไม่มีแน่ ถ้าศีลบริบูรณ์ ใครจะถามว่า เมื่อก่อนศีลขาดมาแล้ว เมื่อก่อนไม่ต้องพูดกัน ตัดกันช่วงนี้ เราไม่ยอมละศีล

ถ้า ศีล 5 มันจะทำให้เราเกิดเป็นคน

ศีลข้อที่ 1 จะทำให้เราเกิดเป็นคนสวย เพราะมีเมตตาจิต และก็เป็นคนที่มีอายุยืนยาวครบอายุขัย ร่างกายสมบูรณ์ ไม่มีร่างกายเจ็บป่วย แต่ว่าอาศัยที่เราเคยทำปาณาติบาตมาบ้าง ไอ้โทษปาณาฯ มันจะให้ผลเหมือนกัน ต่อไปในข้างหน้า เราจะมีความป่วยไข้ไม่สบาย

ศีลข้อที่ 2 จะเป็นปัจจัยให้เรามีโภคสมบัติดีมีมาก และก็ทรัพย์สมบัติของเรา ไฟไม่ไหม้ น้ำไม่ท่วม ขโมยไม่ลัก โจรไม่ปล้น แล้วก็ลมไม่พัดให้สลายตัว นี่อำนาจของศีล 5 ถ้าเกิดเป็นคน

ศีลข้อที่ 3 ถ้าหากว่าเรามีคนในปกครอง คนในปกครองจะอยู่ในโอวาทดีที่สุด ไม่มีใครฝ่าฝืนคำสั่งและบุคคลผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นคนดี

ศีลข้อที่ 4 จะเป็นปัจจัยให้เรามีสัจจะวาจา มีวาจาไพเราะ เป็นที่รักของบุคคลอื่นเป็นที่เชื่อถือของบุคคลผู้ฟัง

เรารักษาศีลข้อที่ 5 ได้ จะช่วยให้เราไม่เป็นโรคประสาท ไม่เป็นคนบ้า นี่เราก็รู้อานิสงส์ของศีล

การที่เรามีศีล 5 ถ้าเราเกิดเป็นมนุษย์

1.เราจะอายุยืน การป่วยไข้ไม่สบายมีน้อย มีรูปร่างหน้าตาสวย

2.มีทรัพย์สินสมบูรณ์บริบูรณ์ไม่บกพร่อง ทรัพย์สินไม่มีอันตรายจากกฎธรรมชาติ ไฟมา น้ำมา หรือโจรลัก ไม่มี

แล้วก็ศีลข้อที่ 3 จะเป็นปัจจัยให้คนของเราว่านอนสอนง่าย อยู่ในโอวาท

ศีลข้อที่ 4 จะเป็นปัจจัยให้เรามีปากหอม มีคนเชื่อ

ศีลข้อที่ 5 จะทำให้เราเป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ไม่เสียสติ ไม่เป็นโรคเส้นประสาท ไม่เป็นโรคบ้า

น่าพอใจไหม นอกจากนั้น การปฏิบัติศีล ก็จะมีอานิสงส์

สีเลนะ สุคติง ยันติ  “ศีลเป็นปัจจัยให้เกิดบนสวรรค์”

สีเลนะ โภคสัมปทา “เมื่อเป็นเทวดาหรือพรหมก็มีทิพยสมบัติมาก เกิดเป็นคนก็มีทรัพย์สมบัติมาก”

สีเลนะ นิพพุติง ยันติ “ศีลเป็นปัจจัยให้เราเข้าพระนิพพาน”

ทำทุกอย่างเพื่อเข้าพระนิพพาน

ทีนี้ในเมื่อเราทรงศีลได้แล้วอย่างนี้ จิตอีกดวงหนึ่งก็ต้องยึด อุปสมานุสสติกรรมฐาน เป็นอารมณ์ นั่นก็คือว่าทำการอย่างนี้ เราทำเพื่อพระนิพพานตัวนี้ให้มันจับไว้เป็นปกติเลย ที่เรารักษาศีลก็ดี ที่เราให้ทานก็ดี เราเจริญภาวนาก็ดี เราไม่ได้ทำให้ชาวบ้านเขามาชมเชยหรือเพื่อหวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งหมดเราทำเพื่อพระนิพพาน จิตดวงนี้เป็นอารมณ์พระอรหันต์ แต่ว่าคุณธรรมเราอยู่ในขั้นของพระโสดาบัน ที่พูดเมื่อกี้นี้เป็นคุณธรรมของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี แต่ว่าอารมณ์อีกดวงหนึ่งเกาะอยู่ในขั้นอารมณ์ของพระอรหันต์ อารมณ์ของพระอรหันต์ก็คือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์

ถ้าเราทรงศีลบริสุทธิ์

เรานึกว่ามันจะตายแน่ นึกถึงความตายนี่เขาเรียก มรณานุสสติกรรมฐาน

พระโสดาบันกับพระสกิทาคามี นี่เขาบอกว่ามีสมาธิเล็กน้อยมีปัญญาเล็กน้อย แต่ว่ามีศีลบริสุทธิ์

ถ้าเราไม่ประมาทในความตาย คนที่ไม่ประมาทในความตายไม่มีอะไร ดูง่ายๆ คือ คนที่รักษาศีลบริสุทธิ์นั่นเอง หมั่นให้ทานไว้ หมั่นรักษาศีลไว้ หมั่นคิดคำนึงว่า เกิดมาเป็นทุกข์ แก่เป็นทุกข์ เจ็บเป็นทุกข์ ตายเป็นทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทีนี้ดีตัวนี้คือ ดีไม่ต้องการเกิด ถ้าเราไม่เกิด แก่ไม่มี เจ็บไม่มี ตายไม่มี การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ ไม่มี ไอ้ตัวที่จะไม่เกิดก็คือ อารมณ์นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์เท่านี้ ขอไปพระนิพพานแห่งเดียว ไม่ไปไหน คนอื่นเขาถาม จะไปได้หรือ ไปได้ไม่ได้ข้าจะไป ใช่ไหม ในเรื่องของกู ไม่ใช่เรื่องของมึง

ตัดอวิชชา

ทีนี้จะไปได้ไหมล่ะ ถ้าจิตเราทรงเป็นความพระโสดาบันได้ ถ้าอารมณ์ของเรารักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตัดไว้เลยตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป ขึ้นชื่อว่าความเป็นมนุษย์อย่างนี้ ไม่มีสำหรับเราอีก การเป็นเทวดาหรือพรหมก็ไม่มีสำหรับเรา เมื่อละจากอัตภาพนี้แล้ว เราต้องการจุดเดียวคือพระนิพพาน และเราก็มานั่งนึกหาความจริงซิ ว่าไอ้คนที่จะตายเขาไปนรกไปสวรรค์ ไปพรหมโลก ไปนิพพาน เขาเอาอะไรไปเอาตัวไปหรือเปล่า ไอ้ที่ไปนี่คือใจใช่ไหม ทีนี้ถ้าใจของเราเวลานี้ เรายึดหัวหาดคืออารมณ์พระโสดาบันไว้ได้ ตัดอบายภูมิหมด และอารมณ์อีกจุดหนึ่ง มันตั้งตรงเฉพาะนิพพาน มันตั้งไว้แล้วว่าจะไปนิพพาน ก็รู้แล้วว่าเวลาที่จะไปจริงเอาจิตไป ทีนี้เวลาตายจริงมันไปนิพพานเลย ไม่ยาก

ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

มโนปุพพัง คมาธัมมา มโนเสฏฐา มโนมยา

“ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จด้วยใจ”

ใช่ไหม ในเมื่อใจมันตั้งไว้เพื่อพระนิพพาน ตายแล้วไม่ไปไหน ก็ไปนิพพาน มีเยอะแยะที่ไป เขาทำกันอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าการปฏิบัติตัวจะต้องเป็นอรหันต์วันนี้ จงอย่าลืมว่าอารมณ์ที่ตั้งไว้ เพื่อพระนิพพานนี่แหละมันเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ ทีนี้อารมณ์ของพระโสดาบัน นี่เรายันนรกไว้ต่างหาก ยามปกติ เราคิดไว้เสมอว่าร่างกายนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ เมื่อเราไม่ต้องการร่างกายของเรา ชาติหน้า กายของเรามันไม่มี ในเมื่อกายของเรามันไม่มี มันมีผัวมีเมียได้ไหม เอาผีเป็นผัว เป็นเมียได้ยังไง นี่ตัวตัดจริงๆ มันอยู่ตัวนี้ เบาๆนะ ไม่ยาก

คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 44

โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) หน้า 90-96

#แอดมิน

by admin admin ไม่มีความเห็น

โลกหาที่สุดไม่ได้

โลกหาที่สุดไม่ได้

ต่อแต่นี้ไป ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลาย โปรดตั้งใจเตรียมตัวเพื่อเจริญสมาธิจิต สำหรับการเจริญสมาธิจิตนี่ถ้าจะอาศัยให้จิตเป็นสมาธิให้ทรงตัวง่ายๆ ก็ขอให้บรรดาญาติโยมทั้งหลายจับภาพพระพุทธรูปก็ดี หรือว่าแสงสว่างของไฟก็ได้เป็นนิมิต ถ้าจับภาพพระพุทธรูปก็ถือว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย แล้วก็เป็นกสิณด้วย ถ้าเห็นพระพุทธรูปเป็นสีเหลือง ก็ถือว่าเป็นปีตกสิณ ถ้าถือสีเป็นสำคัญ ถ้าถือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระพุทธปฏิมากรก็ถือว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน สำหรับจับภาพ นี่ถือว่าเป็นสมาธิหยาบ แต่ว่าทรงตัวได้ถึงฌาน 4 เป็นการทรงสมาธิจิต เป็นการสังเกตง่ายๆว่า ขณะใดที่ลืมตามองดูภาพพระ แล้วก็จำไว้ หลับตานึกถึงภาพพระ ถ้าภาพพระยังทรงอยู่ในจิตก็แสดงว่าขณะนั้นจิตยังทรงสมาธิอยู่ ถ้าหากว่าภาพพระเลือนหายไป ก็ลืมตาดูใหม่ แล้วก็หลับตาดู ก็เป็นอันว่าจะสังเกตจิตได้ว่าเราเป็นสมาธิหรือไม่ นี่แบบหนึ่ง

ถ้าอีกแบบหนึ่งก็กำหนดให้รู้ลมหายใจเข้าออก ทั้งนี้ก็ตามความสบายของญาติโยมทั้งหลาย แล้วการปฏิบัติมีถึง 40 แบบ จะจำกัดแบบใดแบบหนึ่งก็ไม่สมควร สุดแล้วความสบายของท่าน ถือว่าให้กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เวลาเข้านึกว่า พุท เวลาออกนึกว่า โธ กำหนดรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เป็น อานาปานุสสติกรรมฐาน และคำภาวนาว่า พุทโธ เป็น พุทธานุสสติกรรมฐาน ได้ 2 อย่างควบกัน หรือว่าบางขณะภาวนาด้วย ใจของท่านไม่สบาย ท่านก็จับแต่ลมหายใจเข้าออก อย่างนี้ก็ใช้ได้ ขณะที่รู้ลมหายใจเข้า หายใจออก ก็ถือว่าอารมณ์เป็นสมาธิ แล้วบางขณะถ้าหากว่าจับลมหายใจเข้าออกไม่สบาย จะใช้คำภาวนาว่าอย่างไรมาคล่อง ก็ขอได้โปรดอย่าเปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนแล้วจะยุ่ง มีผลเสมอกัน นี่ภาวนา จะใช้คำภาวนาเฉยๆก็ได้

การทำจิตให้เป็นสมาธิก็เพื่อเป็นการป้องกันอารมณ์นิวรณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ชั่ว ไม่ให้เข้ามาสิงในจิต เมื่อจิตมีสมาธิ มีอารมณ์สบาย อันนี้องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ทรงแนะนำให้บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายใช้ปัญญาพิจารณาหาตามความจริงในขันธ์ 5 ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในตอนหนึ่ง ที่สอนบรรดาท่านพุทธบริษัทถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็หมายถึงว่าเป็นการตะล่อมจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัท ให้สั้นเข้ามาเกาะที่จุดขันธ์ 5 ตัวเดียว แสดงว่าถ้ากำลังใจของท่านพุทธบริษัท จะมีความเข้มแข็งไม่พอ สอนให้ละขันธ์ 5 ก็ไม่สารถจะทำได้  ฉะนั้นองค์สมเด็จพระจอมไตรจึงหาวิธีสอนตั้งแต่อันดับที่เบาที่สุดถึงแรงถึงสูงที่สุด

ธรรมดาของโลก

นี่โดยเฉพาะวันนี้ อาตมาภาพ ก็จะขอจับจุดปลายทาง ของการเจริญพระกรรมฐาน เพราะว่ากำลังจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มีความเข้ขมแข็งพอ นี่อีกประการหนึ่ง ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายรับทราบไว้ว่า โลกจะเต็มไปด้วยความเร่าร้อนอยู่เสมอ เราต้องคอยระวังจังหวะอีกนาน กว่าจะมีความสงบเข้าสู่ภาวะสันติ โดยเฉพาะเวลากระชั้นคืออนาคตอันใกล้ปัจจุบัน มันก็จะมีแต่ความเร่าร้อนทุกขณะ ตอนนี้อย่าเพิ่งคิดว่าโลกจะมีความสงบ ระยะนี้หาความสงบ หาความสุขไม่ได้ทั่วโลก

ไม่ใช่แต่ประเทศไทย ในเมื่อบ้านอื่นเขาฝนตกเขาเปียก บ้านเราถึงฝนไม่ตกหนักก็ถูกละอองฝน มันก็เปียกเป็นหวัดได้เหมือนกัน ข้อนี้อุปมาฉันใด ภายในเขตของประเทศไทยเราก็เหมือนกัน ก็ยังมีความยุ่งกันอยู่ ฉะนั้น หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทเอาจิตน้อมรับ ใช้ปัญญาพิจารณาตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระบรมครู จิตก็จะมีความสุข

คือกฎธรรมดาของโลกมีอยู่ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นของไม่เที่ยง ที่เรียกว่า อนิจจัง

ที่เราคิดว่าเราเกิดมานี่เราจะมีความสุข เราต้องการความสงบ เราไม่ต้องการประทุษร้ายใคร เราไม่ต้องการสร้างความลำบากยากเข็ญให้แก่ใคร เรามีความเมตตาปรานีในจิต แล้วคนอีกพวกหนึ่ง เขาอาจจะไม่ได้คิดอย่างนั้น จะสร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้น ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏขึ้น ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ระงับใจเสีย อย่าไปโกรธในเขา ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะถือว่าเป็นภาวะของโลก มันมีความยุ่งเป็นปกติ หากความเที่ยงไม่ได้

ประการที่สอง องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดา ตรัสว่า โลกเต็มไปด้วยความทุกข์

นี่ข้อคำว่า ทุกข์ นี่ ถ้าเราจะพูดกันสักสิบวันก็ไม่จบ ก็จะเห็นได้ในปัจจุบันว่า บรรดาท่านพุทธบริษัททุกท่านที่มีความเป็นอยู่ เวลานี้ต้องทำมาหากิน ต้องประกอบอาชีพ การจะได้ ของ จะได้ทรัพย์สินมาก็เต็มไปด้วยความเหน็ดเหนื่อย มันก็เป็นความทุกข์ส่วนหนึ่ง

แล้วอีกประการหนึ่ง สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา เวลานี้ก็ไม่มีอะไรน่าไว้วางใจ วันนี้มานั่งอยู่ประเดี๋ยวเดียว ก็มีหลายคนถามว่า สภาวะของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร ก็ตอบไม่ได้ เพราะอะไร เพราะว่ามันยุ่ง นี่สภาวะความยุ่งของบ้านเมืองก็ดี บ้านเราก็ดี เมืองอื่นก็ดี มันเกิดขึ้น ก็ถือว่านั่นมันเป็นเรื่องธรรมดาของโลก เราจะหลีกหนีให้มันพ้นไม่ได้ เมื่อเราอยู่ในโลกเพียงใด เราก็ต้องพบกับความยุ่งอย่างนี้ ก็นึกแล้วได้โปรดคิดต่อไปว่า ถ้าเราจะเกิดอยู่ชาตินี้มันก็เป็นทุกข์ มันพบกับความยุ่ง ถ้าเราจะเกิดไปอีกสักกี่สิบชาติ เราก็จะพบกับความยุ่งอย่างนี้ตลอดไป

ข้อที่สาม ข้อสุดท้าย องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาว่า คนที่เกิดมาแล้ว แม้จะมีความทุกข์ หาความเที่ยงไม่ได้ ก็ไม่ใช่ถึงที่สุด แต่ถึงเพียงนั้น ในที่สุดก็เป็น อนัตตา คือ สลายตัวไปหมด คนที่มีอำนาจวาสนาบารมี มีเงินมาก มียศใหญ่ มีอำนาจใหญ่ ก็รู้จักตายเหมือนกัน ตายไปแล้วหลายท่าน เรียกว่ามากท่านด้วยกัน ถ้าหากว่าเราจะไปสืบถึงต้นตระกูลของเรา ว่าเราเกิดมานี่ อาศัยบิดามารดาเป็นแดนเกิด บิดามารดาของเราก็ต้องอาศัยบิดามารดาของท่าน ที่เรียกว่า ปู่ ย่า ตา ยาย นี่ ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ต้องอาศัยบิดามารดาของท่านเรียกว่าทวด แล้วก็สูงขึ้นไปตามลำดับ ถ้าเราจะไปสาวหาว่าท่านผู้นั้นเวลานี้อยู่ที่ไหน ท่านก็ตายไปหมดแล้ว

เป็นอันว่า คำสอนขององค์สมเด็จประทีปแก้วบอกว่า โลกหาที่สุดไม่ได้ อาตมาว่าจริง ขอบรรดาพุทธบริษัทคิดเอาไว้ด้วย ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าเห็นว่าจริง ถ้าเราจะทำตัวให้พ้นจากอนิจจัง ความที่ไม่เที่ยง ให้พ้นจากทุกขัง คือ ความยุ่งของโลก พ้นจากอนัตตา คือการสลายตัวไม่มีการทรงตัว ให้มีอย่างเดียวคือคำว่า อมตะ คำว่าไม่ตาย ซึ่งเป็นการทรงตัว ให้มีธรรมอย่างเดียวคือ เอกันตบรมสุข คือ สุขอย่างยิ่ง ไม่มีอารมณ์เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้าเราจะไปเป็นเทวดา หมดบุญวาสนาบารมี ก็ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์ ดีไม่ดีเลยก็ลงนรกไปก่อน

บารมีเต็ม

อย่างบรรดาท่านพุทธบริษัทที่มานั่งอยู่แล้วทุกคนนี่เคยเป็นเทวดา เคยเป็นทั้งพรหมกันมาแล้วทั้งนั้น นี่พูดอย่างนี้ก็ไม่ใช่เดา ถือเอาคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นเขต องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ วัดนิสัยคนไว้ 4 ระดับด้วยกันคือ

อุคฆฏิ คนที่มีปัญญาดี บารมีเต็ม

วิปจิตัญญู คนที่มีปัญญาดี มีบารมีเต็ม แต่ว่าความเฉียบพลันของจิตตัดสินใจช้าไปนิดหนึ่ง

แล้ว เนยยะ บุคคลประเภทนี้ เข้าถึงสรณคมน์ พอมีปัญญาพอสมควร

ปทปรมะ บุคคลประเภทนี้สอนเอาดีไม่ได้ ไม่ปรารถนาในความดี

เมื่อเอาคนทั้ง ประเภทนี้ เข้ามาเปรียบกับบรรดาท่านพุทธบริษัท นี่มีอยู่ในคติ  2 ประการ คือ อุคฆฏิ กับ วิปจิตัญญู ก็หมายถึงว่า คนที่มัปัญญา มีความรอบรู้สร้างบุญบารมีมามาก

ทั้งนี้เพราะอะไร ที่พูดนี่ไม่ใช่ยอกัน ไม่มีประโยชน์ในการยอ เพราะอะไร เพราะว่าการมาของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทุกท่าน นั่งก็ลำบาก นั่งยัดเยียดเบียดเสียดกัน แล้วมานั่งนี่ ก็ไม่ได้อะไรเป็นค่าจ้าง ที่มานี่ต้องการอย่างเดียวคือ ต้องการความดี ความดีได้แก่อะไร ได้แก่การเจริญสมาธิ ได้แก่ทำจิตให้บริสุทธิ์

การทำจิตให้บริสุทธิ์ประเภทนี้ ถ้าคนไม่มีบารมีตามสมควร เขาจะไม่พอใจ ในการมาของบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย มาด้วยศรัทธาแท้ จึงกล่าวได้ว่า ท่านที่มานี่ทั้งหมด ตกอยู่ในเขต บุคคลสองประเภท คือ อุคฆฏิตัญญู  กับ วิปจิตัญญู นั่นก็สมควรรับคำแนะนำขององค์สมเด็จพระบรมครู ขั้นสุดท้าย คำแนะนำขั้นสุดท้าย ถ้าทำได้ ก็เป็นแดนไปพระนิพพาน

คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 32 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

หน้า 85-92

#แอดมิน

by admin admin ไม่มีความเห็น

ทุกคนเกิดมาต้องตาย

ทุกคนเกิดมาต้องตาย

ความจริงมันเป็นจุดนี้ ฉะนั้นการเจริญวิปัสสนาญาณ พระพุทธเจ้าให้ยอมรับเดี๋ยวนี้ เอาจิตยอมรับว่า เราเกิดมาเป็นเด็ก และการเดินเข้าไปหาความเป็นหนุ่มนั้นคือการเดินไปหาความตาย นี่เราเดินเข้าไปหาความตายทุกลมหายใจเข้าออก ต่อไปทิ้งความเป็นหนุ่มเป็นสาว มันจะต้องแก่ จิตเราไม่ยอมรับ ถ้าการเจริญวิปัสสนาก็ยอมรับว่าร่างกายนี้ต้องแก่ เห็นคนแก่งกๆ เงิ่นๆมา ก็ต้องนึกว่าสักวันหนึ่งข้างหน้า สภาพของเราต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่เสียใจ ไม่อาลัยในมัน เพราะว่าธรรมดามันเป็นอย่างนี้ เรายอมรับนับถือใช่ไหม

ในเมื่อความแก่เข้ามาถึงเรา เราก็รู้ เออ…เชิญแก่ไปตามสบายเถอะโว้ย กูรู้แล้วว่ามันจะแก่ ใช่ไหม เราไม่เชิญ มันก็แก่ เราก็เลยเชิญเสียส่ง ตกกระไดพลอยโจนใช่ไหม ทีนี้ในเมื่อมันจะแก่หรือไม่แก่ก็ตาม เห็นคนที่เขาป่วยไข้ไม่สบายนี่ เราจะต้องมีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันเป็น โรคะนิทธัง มันเป็นรังของโรคใช่ไหม สักวันหนึ่งข้างหน้าเราอาจจะต้องป่วยไข้ไม่สบาย ถ้าทุกขเวทนาจากการป่วยไข้ไม่สบายมันเกิดขึ้นกับเรา เราจะทำใจแบบไหน

ไอ้กายน่ะสู้มันไม่ได้นะ เราจะทำใจแบบไหน เราก็ต้องทำใจว่า นี่มันเป็นเรื่องธรรมดาของมัน มันป่วยเราก็ไปหาหมอ รักษากินยา เพื่อเป็นการบรรเทาทุกขเวทนา แต่จิตนี่จะไม่มีความหวั่นไหวไปตามอาการป่วย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถือว่าการป่วยคราวนี้ หมอรักษาหายก็หาย ไม่หายก็ตาย ก็เป็นเรื่องของขันธ์ 5 ร่างกายมัน เพราะมันจะต้องตายอยู่แล้ว เวลาป่วย จิตก็สบาย เวลาแก่ จิตก็สบาย

และอีกอันที่ท่านตรัสไว้ใน ปัจจเวกขณะ ว่าเราจะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นธรรมดา ไอ้ของที่เรารัก เราชอบใจ เราไม่อยากให้มันจากไป นี่เราห้ามไม่ได้ ใช่ไหม อย่างคนที่เรารัก เมื่อเขาจะตาย เราห้ามได้ไหม ไอ้รูปสวยนี่เราไม่ต้องการให้มันเศร้าหมอง มันจะเศร้าหมองนี่เราห้ามได้ไหม มันไม่ได้ใช่ไหม ทีนี้ทรัพย์สินมีอยู่ บุตรสามีภรรยายังมีอยู่ และตัวเราจะตายก็ห้ามไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อความตายที่มันจะเข้ามาถึงเราก็ทำใจสบาย ถือว่านี่เป็นเรื่องธรรมดาของขันธ์ 5

แต่ว่าถ้าสบายอย่างนี้เขาไม่ใช้นะ ดีแต่ไม่ใช้ แต่ที่จะใช้จริงๆ เราต้องพิจารณาว่า ร่างกายนี้มันมีสภาพไม่เที่ยง จากเด็กแล้วก็เป็นคนหนุ่มคนสาว ในช่วงจากความเป็นเด็ก ความเป็นคนหนุ่มคนสาวที่เราปรารถนาอยู่นานเวลานั้น ตลอดเวลาเรามีแต่ความทุกข์ทุกขณะ ใช่ไหม เดี๋ยวก็หนาว เดี๋ยวก็ร้อน เดี๋ยวก็ขัดใจคนนั้น เดี๋ยวก็ขัดใจคนนี้ บางทีมีสตางค์พอมั่ง ไม่พอมั่ง ใช่ไหม นี่อารมณ์มันเป็นทุกข์ ใช่ไหม อาการอย่างนี้มันเป็นอารมณ์ของการเป็นทุกข์

เราจะต้องจำว่า เจ้าขันธ์ 5 มันคือร่างกายนี่ ถ้ามันมีขึ้นมาเมื่อไหร่ มันจะต้องทุกข์แบบนี้ทุกชาติ อารมณ์จิตเราจะคิดไว้ตัวเดียวคือว่า วิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย คือว่า ขึ้นชื่อว่าขันธ์ 5 แบบนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ชาตินี้ถือว่าเป็นชาติสุดท้ายที่เราจะมีขันธ์ 5ใช่ไหม พอถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาว เราก็ไม่เมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว คือว่าพ่อแม่เราท่านเป็นหนุ่มเป็นสาวมาก่อน ปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ของเรา ท่านเป็นหนุ่มเป็นสาวมาก่อน แต่เดี๋ยวนี้ทุกท่านแก่หมด ในเมื่อท่านเป็นผู้ให้กำเนิด อุปการะเรา ท่านแก่ได้ เรามันก็ต้องแก่ เพราะเราเกิดมาจากท่าน และเกิดมาแล้วท่านก็เลี้ยงอาหารประเภทเดียวกับท่าน ท่านกินอะไร เราก็กินอันนั้น ใช่ไหม นี่อาหารประเภทนี้ มันห้ามความแก่ไม่ได้ เราก็ต้องแก่ตามนี้ล่ะ จิตเราก็พร้อมถ้าความแก่มันเข้ามาถึง เราก็ถือว่าเป็นธรรมดา

จิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์

แล้วก็ต่อไปนั้น เราก็คิดต่อ คิดไว้เสมอว่าร่างกายนี้จะมีชาติเดียว ชาติต่อไปไม่มีอีก จุดที่เราต้องการนั่นคือพระนิพพาน พอความป่วยเข้ามาถึง ความตายเข้ามาถึงก็ยังดี พอป่วยเข้ามาถึงเราก็คิดว่า เออ…หมอเขารักษาไว้ได้ มันก็อยู่ รักษาไม่ได้มันพังก็ช่างมันเถอะ กูไปนิพพานละ ใช่ไหม ทีนี้ไอ้ตัวตายที่จะเข้ามาจริงๆ เราก็นึก เออ…ดี ขันธ์ 5 ที่เต็มไปด้วยความสกปรกโสโครก ขันธ์ 5 ที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ไม่จีรังยั่งยืน มันพังเสียได้ก็ดีแล้ว เราขอไปตามทาที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ท่านทรงสั่งสอน นั่นคือ พระนิพพาน ใช่ไหม จิตจับพระนิพานเป็นอารมณ์

แล้วจิตก็พยายามลดความรักในระหว่างเพศ วิธีลดความรักในระหว่างเพศให้ดู ความเป็นจริงของผู้ชายและผู้หญิงทั้งหมด ร่างกายของคนแต่ละคนมีใครสะอาดบ้าง มันเต็มไปด้วยขี้ เต็มไปด้วยเยี่ยว ใช่ไหม ไอ้เลือดเราต้องการต้องการ แต่พอมีดบาดเลือดไหลนิดหน่อย แหม…นี่เลือดสกปรก รีบล้าง ใช่ไหม น้ำลายอยู่ในปากอมได้ แต่พอบ้วนนออกมาแล้ว มือแตะไม่ได้ สกปรก นี่แสดงว่าร่างกายภายในของเราเต็มไปด้วยความสกปรก ในเมื่อมันสกปรกอย่างนี้ เราจะมีความปรารถนาในร่างกายของเรา ในร่างกายของคนอื่น เพื่ออะไร ใช่ไหม เกิดมาแล้ว มีแต่ความสกปรกโสมม ไม่เอาแล้ว เลิก ใช่ไหม

ต่อไปก็ดูไอ้ โลภะ ความโลภ คำว่าโลภในที่นี้ หมายถึง การคดโกงเขา หากว่าทำมาค้าขายด้วยความสุจริตใจ ทำไร่ ไถนามาด้วยความสุจริตใจ อันนี้ท่านเรียก สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ว่าตัดความโลภ มีนาร้อยไร่ลดเหลือสิบไร่ ไม่ใช่อย่างนั้น ตัดความโลภ มีนาอยู่สิบไร่ ทำเก็บหอมรอมริบดี อาจจะซื้อนาร้อยไร่ ถ้าเงินมีอยู่ใช่ไหม หรือว่าจะไปกู้หนี้ยืมสินใครมาอะไรก็ตาม แต่ไม่เกินวิสัยที่เราจะใช้ได้ เพื่อความอยู่เป็นสุขในสภาพชีวิตที่ส่วนตัว อันนี้ท่านไม่เรียกว่าโลภ ท่านเรียกว่า สัมมาอาชีวะ ใช่ไหม คำว่าโลภ ในตอนต้น หมายถึง โกง แม่ค้าโกงตาชั่งน่ะ พวกชาวนาโกงข้าว เอาข้าวดีล่อเอาหน้าไวข้างบน เจ๊กมันบออกว่าข้าวดี แจ๋ว ข้างล่างข้าวหักทั้งนั้นใช่ไหม ไอ้นี่เรียกว่า การโกง การยื้อแย่งการลักขโมยเป็นตัวโลภ

ทีนี้ เราก็ ตัดตัวโลภ วิธีตัด ตัดแบบไหน ตัดด้วยการ ให้ทาน ถวายทานแก่ภิกษุสามเณรก็ดี ให้ทานกับคนยากจนเข็ญใจก็ดี ให้ทานกับคนจนหรือว่าคนเดินทางที่หิวมาก็ดี ให้ทานกับสัตว์เดียรัจฉานก็ดี มันเป็นอาการตัดโลภะ ความโลภ ให้ชิ้นหนึ่ง ความโลภมันขาดไปจุดหนึ่งให้ไปครั้งหนึ่ง ความโลภมันขาดไปจุดหนึ่ง  ให้บ่อยๆในที่สุดความโลภมันก็ขาดหมดความโลภขาดหมด มันจะมีตัวไหน ก็มีตัวคำว่าพอ นี่ตัวนี้เรียกว่าการตัดใหญ่นะ คำว่าพอนั่นคือจิตสบายๆ มันมีเท่านี้ก็พอเท่านี้ แต่ไม่ใช่ไม่ทำนะ ทำตามฐานะที่ทรงตัวอยู่ แต่นี่มันเป็นอารมณ์ของอนาคามีแล้วนะ ถ้าตัดตัวโลภได้ ตัดราคะได้ ตัดโลภะได้ เป็นอารมณ์ของพระอนาคามิมรรคแล้ว

ทีนี้ต่อไปเราก็ ตัดความโกรธ ไอ้ความโกรธนี่ ถ้าเราคิดว่าไอ้คนทุกคนนี่ ถ้าเราจะฆ่ามันก็ตาย ใช่ไหม ถ้าเราไม่ฆ่ามันตายไหมโยม ตายไหม ตายไหมโยม ถ้าเราไม่ฆ่าเขา เขาจะตายไหม ตาย ไม่มีใครมันอยู่ค้ำฟ้าหรอก แล้วจะไปนั่งฆ่าให้มันเมื่อยมือทำไม ใช่ไหม มันไม่อยากทำให้ดีก็เป็นความเลวของมัน มันทำให้เราโกรธ แต่เราไม่โกรธ แล้วความโกรธ มันเป็นของเลว แต่ใหม่ๆก็อดโกรธไม่ได้นะ เพราะฉะนั้นก็นิ่งเสีย บอกมันจะเลวก็เลวไปคนเดียว มันมาด่าเหว่ยๆๆเราก็อดใจ มันโกรธเราก็อดใจ ช่างมันเถอะ ทีนี้ถ้ามันเก่งจริง มันต้องด่าไม่เลิก ถ้ามันเลิกเมื่อไหร่ มันแพ้เราเมื่อนั้น ใช่ไหม อีตอนนี้ใหม่ๆ ก็ฝืนยากหน่อย แต่ฝืนบ่อยๆน่ะ อารมณ์มันจะชิน

ทีนี้การตัดความโกรธ พระพุทธเจ้าท่านให้ทรงพรหมวิหาร 4 พอตื่นขึ้นมาตั้งแต่เช้า คิดว่าตั้งแต่เช้าจนกว่าจะหลับ เราจะไม่มีจิตคิดว่าเป็นศัตรูกับใคร ถึงแม้ว่าเขาจะคิดว่าเป็นศัตรูกับเราก็ตาม เราจะไม่คิดตามนั้น เราจะถือว่าคนและสัตว์ทั้งหมดในโลกนี้เป็นเพื่อนที่ดี สำหรับเรา แต่ทว่าใจเราเป็นอย่างนั้น บังเอิญเขาเลว เราก็ต้องวางอุเบกขาพ่วงท้ายเฉย ไม่คบหาสมาคม แต่ไม่ได้โกรธนะ ใช่ไหม

ต้องถือตามมงคลหมวดที่หนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ปูชา จะ ปู ชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ท่านบอกว่า

จงอย่าคบคนพาล คือไม่คบคนชั่ว 1

คบแต่บัณฑิต 1

จงบูชาบุคคลที่ควรบูชา 1

ทั้งสามประการจัดว่าเป็นอุดมมงคลใช่ไหม

ทีนี้ ในเมื่อ เรามีพรหมวิหาร 4 เราดีกับเขา แต่เขาเลวกับเรา เขาคิดว่าเป็นศัตรูเรา เราไม่คบ เราแยกออกมา วางเฉยเสียด้วยตัวอุเบกขา ใช่ไหม ทีนี้หากว่าจะถามว่า ถ้ายังงั้นไม่ถือว่าเป็นการถือตัวถือตนหรอ ไม่ใช่เราถือ ถ้าเขาดีเราก็คบ เพราะอะไร เพราะหากว่าขืนเราคบหาสมาคมกับคนเลว เราก็จะเลวไปด้วย ถึงแม้ว่าเราไม่เลว กลิ่นเลวมันก็ติด ท่านอุปมาไว้ในมงคลบอกว่า ถ้าเราเอาใบตองมาห่อของเน่า ไอ้ของเน่านี่มันไม่ซึมลงไปในเนื้อใบตอง แต่ทว่ากลิ่นเหม็นมันจะติดใบตอง โยนของเน่าทิ้งไป เอาใบตองมาดม มันยังเหม็น ใช่ไหม

ถ้าเราคบหาสมาคมกับคนพาล เขากินเหล้า เราไม่กินเหล้า เขาสูบเฮโรอีน เราไม่สูบเฮโรอีน เขาลักขโมย เราไม่ลักขโมย เขาไปข่มเหงชาวบ้าน เราไม่ไป แต่ถือว่าเป็นเพื่อนกัน เราเดินด้วยกัน คนเขาเห็นเข้า เขาจะหาว่าเราเป็นคนชั่วเท่ากับคนนั้น อย่างกลิ่นติดที่ใบตอง ใช่ไหม ทีนี้เราก็ต้องใช้วางอุเบกขา วางเฉยไว้ก่อน ในเมื่อเขาเลว เราไม่ใช่เกลียด แต่ว่าเราก็วางเฉย ยังคบไม่ได้เพราะเขายังเลวอยู่ ถ้าเขาดีเมื่อไหร่ เราคบเมื่อนั้น ทีนี้ ในเมื่อเราจะตัด ตัวนี้ ตัดตัวโกรธ โทสะ ความโกรธนี่ ต้องมีพรหมวิหาร 4 ประจำใจ คือ เมตตา ความรักกรุณา ความสงสาร มุทิตา จิตอ่อนโยน อุเบกขา ความวางเฉย ไอ้ตัวนี้ ไหวหรือไม่ไหว ค่อยๆทำ มันก็ไหว

แต่บางทีอาจไม่ถูกใจเรา เราอยากจะใช้อารมณ์ปักให้มันทรงตัว แล้วก็ตัดโทสะ ตรงนี้ถ้าอันนี้ไม่ชอบ พระพุทธเจ้าก็มีให้อีก 4 นั่นก็คือ มี กสิณสีแดง สีเหลือง สีเขียว สีขาว กสิณ 4 กสิณนี่ เป็นกสิณตัดโทสะ เราก็ใช้กสิณ 4 อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ไม่จำเป็นต้อง 4  อย่าง เอามาทรงกำลังจิตให้มันเป็นฌานสมาบัติ พอจิตเริ่มเป็นฌานสมาบัติ กำลังของกสิณ 4 กสิณนี่ อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็จะตามเข้าไปตัดอารมณ์ของความโกรธ เมื่อเข้าไปตัดอารมณ์ของความโกรธ ตอนนี้ความโกรธมันก็อ่อนกำลัง อ่อนกำลังนี่ หมายความมันลุกไม่ขึ้น แต่มันยังไม่ตาย ก็ต้องใช้ปัญญาตัดโมหะ ล้างมันให้ตายไปเลย ใช่ไหม

ถ้าไม่มีร่างกาย คำว่าทุกข์ไม่มี

ปัญญาเข้ามาตัดโมหะ คือ ความหลง ที่เราหลงว่าร่างกายเป็นเราเป็นของเรา เรามีในร่างกาย ร่างกายมีในเรา ความจริงมันไม่ใช่ ถ้าร่างกายเป็นเราจริงเป็นของเราจริง มันต้องไม่แก่ ต้องไม่ป่วย ต้องไม่ตาย ต้องไม่พัง ใช่ไหม แต่นี่มันเกิดขึ้นด้วยกำลังของตัณหา เพราะว่าตัณหานี่น่ะมันสร้างมันฝังใจทำให้ชั่ว มันจึงได้ติดในอำนาจของโลภะ ความโลภ ราคะ ความรัก โมหะ ความหลง ทำให้เราเกิด ถ้าอารมณ์อย่างนี้ไม่มี เราก็ไม่เกิด ฉะนั้นในเมื่อราคะก็ดี โลภะก็ดี โทสะก็ดี มันเพลียลุกไม่ขึ้น การใช้วิปัสสนาญาณก็ง่าย

เราก็มองดูว่า ไอ้ที่เราต้องการมีอารมณ์รัก เพราะคิดว่าร่างกายเราดี ร่างกายบุคคลอื่นดี เวลานี้เราเห็นสภาพร่างกายสกปรกของร่างกายเราและของคนอื่น เห็นสภาพการพังของร่างกายของเราและของบุคคลอื่น ที่เรามีทุกข์ก็เพราะอาศัยมีร่างกายเป็นสำคัญ ถ้าร่างกายอย่างนี้ยังทรงอยู่เพียงใด เราก็ต้องทุกข์เพียงนั้น ฉะนั้นร่างกายประเภทนี้จะไม่มีสำหรับเราอีก ถ้าชาตินี้เราตาย ร่างกายเราพังก็พังถึงที่สุด สิ่งที่เราต้องการนั่นคือพระนิพพาน เอาจิตจับพระนิพพานเป็นอารมณ์ ตื่นเช้าขึ้นมาท่านจะทำความดีอะไรก็ตาม ตื่นขึ้นมาแล้วปั๊บใจเราจะจับไว้เสมอว่า มนุษยโลกก็ดี เทวโลกก็ดี พรหมโลกก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา เราต้องการถ้าตายไปคราวนี้ ต้องการพระนิพพานโโยเฉพาะ ด้วยความจริงใจนะ

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะสงเคราะห์ใครต่อใคร เราไม่หวังผลตอบแทนชาติปัจจุบัน เขามายืมสตางค์ เราก็สงเคราะห์ไป เขาใช้ให้ก็ใช้ ไม่ใช้ก็ช่างมัน ทีนี้เราให้ของให้ทานใครไปแล้ว เราไม่ต้องการ ชาวบ้านใกล้เรือนเคียง เขาไม่มีไฟ เขาไม่มีข้าว เขาไม่มีน้ำปลา ไม่มีกะปิ เขามาขอเรา เมื่อเรามีเราให้ได้เราให้ ถ้าหากว่ามีเฉพาะที่เราจะกินมันให้ไม่ได้ เราจำเป็นต้องบอกว่า ให้ไม่ได้ ใช่ไหม ไม่ใช่อะไรก็ให้ไปซะหมด ดูความจำเป็น เมื่อให้ไปแล้ว เราอย่าไปนึกว่าถ้าเราขาดเขาจะให้เราบ้าง ถ้าเราขาด เราไปถามมีกะปิไหม เราเห็นว่าเขามีเป็นตุ่มๆ เขาบอกว่าไม่มีหรอก มีเหมือนกันแต่จะเอาไว้ขาย ก็อย่าไปโกรธเขา เพราะการที่เราให้มันไปเป็นการตัดโลภะ ความโลภ จิตมันสะอาดใช่ไหม ก็เป็นด้านวิธีตัด หรืออารมณ์ทีจะต้องคิดอย่างนี้ว่า ราคะ ความสกปรกของร่างกาย โลภะ ความโลภ คือการตอบสนองจะไม่มีสำหรับเราในการให้ทาน การทำทุกสิ่งทุกอย่างนี่เราทำเพื่อพระนิพพาน ใช่ไหม เราไม่รัก เราไปนิพพาน เราไม่โกรธ เราไปนิพพาน เราไม่โลภ เราไปนิพพาน เราไม่หลงในร่างกาย เราไปนิพพาน ถ้าร่างกายเราไม่หลงเสียอย่างเดียว เราก็ไม่หลงร่างกายใครอีก ไอ้ตัวเราเรารักมากคือตัวเรา นี่คือการเจริญวิปัสสนาญาณ ถ้ามัวแกะแบบ ชาตินี้ทั้งชาติไม่ไปที่ไหน แต่ว่าวิธีปฏิบัติจริงๆ เขารวบแบบนี้ ไอ้นี่ยังยาวไปนะ พูดให้ฟังนี่นะ เกรงว่าจะไม่เข้าใจ แต่เอารวบเวลาปฏิบัติจริงๆ ตัดพั้บ นึกว่า ไม่เอาแล้วร่างกายนี้ ช่างมัน ตายก็ตาย ช่างมัน กูไปนิพพาน ถ้าตั้งใจจริงน่ะ มันก็ไปได้

คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 42 โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร) หน้า 53-63

#แอดมิน

by admin admin ไม่มีความเห็น

วังวนชีวิต

วังวนชีวิต

คำว่าพระนิพพานเป็นของไม่ไกล สำหรับจิตของบรรดาท่านพุทธบริษัท อาจคิดว่าเวลานี้ยังห่างอยู่ แต่ความจริงจิตไม่ห่าง แต่อารมณ์มันห่าง อารมณ์ของจิตอาจห่างไปบ้าง เล็กๆน้อยๆ แต่ขอให้คิดไว้เสมอว่าทุกคนในโลก เกิดมามีใครอยู่ค้ำฟ้าบ้าง ที่ไม่ตายมีบ้างไหม แล้วร่างกายที่ถือว่าเราเป็น เป็นของเรา นี่มันเป็นของเรา เป็นของเราจริงหรือไม่จริง ถ้าร่างกายนี้มันเป็นของเราจริง เราเคยคิดอยากจะให้มันแก่ไหม เราเคยคิดอยากให้มันป่วยไหม แล้วคนที่เขาตายทุกคน เขาเคยบ่นว่าเค้าอยากตายไหม

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ก็จะเห็นว่า คนทุกคนเกิดมาแล้วไม่อยากพบกับความแก่ ไม่อยากพบกับความป่วย ไม่อยากพบกับความตาย แล้วเราทุกคนหลีกเลี่ยงได้หรือเปล่า เป็นอันว่าทุกคนก็ไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ เมื่อทุกคนไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ ก็แสดงว่าร่างกายคือขันธ์ 5 หรือขันธ์ 5 ได้แก่ร่างกาย มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นใคร ท่านก็บอกว่ามันเป็นเรือนร่างที่ กิเลส ตัณหา อุปทานสร้างขึ้น เพราะอาศัยจิตเราไปคบมัน เราตายแล้วเกิด เกิดเเล้วตายนับชาติไม่ถ้วน เต็มไปด้วยความทุกข์

นี่หากว่าจะปรารถนาในความสุข ท่านสอนไว้ในท้ายของมหาสติปัฏฐานสูตรทุกบท ท่านบอกว่าขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย “จงเห็นร่างกายสักเพียงแต่ว่าเห็น” คำว่าเห็นนี่ หมายความว่า จงอย่ายึดถือร่างกายจนเกินไป ร่างกายของเราถือว่าเป็นเรือนร่างอาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้ามันก็สลายตัว แล้วเรือนร่างของบุคคลอื่นก็เหมือนกัน เมื่อเห็นแล้วสักแต่ว่าเห็น อย่าเอาจิตเข้าไปผูกพัน แล้วจงอย่าผูกพันทุกสิ่งทุกอย่างในโลก

ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าจะให้ทิ้งทรัพย์สมบัติทั้งหมด ไม่ใช่อย่างนั้น ทรัพย์สมบัติร่างกายต้องรักษาไว้ตามหน้าที่ แต่เมื่อถึงเวลาที่มันจะตายจริงๆ ถือว่าร่างกายนี้ ทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยของความทุกข์ เราไม่ต้องการมันอีก

ถ้าจิตใจของท่านพุทธบริษัททั้งหลายคิดไว้อย่างนี้เสมอว่าเราต้องตายแน่ ชีวิตเราไม่สามารถจะทรงไว้ได้ตลอดกาล ตลอดสมัย เมื่อตายแล้ว ญาติก็ดี พี่น้อง สามี ภรรยา บุตร ธิดา หรือว่าทรัพย์สินทั้งหมด เราก็ไม่สามารถจะนำไปได้ แล้วเขาทั้งหลายเหล่านั้นในที่สุดก็จะต้องตาย ก็เป็นอันว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกไม่มีอะไรเป็นของเรา ไม่มีอะไรทรงตัว ในเมื่อโลกนี้มันเป็นทุกข์ การเกิดมันเป็นทุกข์ ถ้าเราจะเกิดต่อไปอีก มันก็จะมีแต่ความทุกข์อย่างนี้

คัดลอกจากหนังสือ ธรรมปฏิบัติ 32 หน้า 92-94
#แอดมิน

by admin admin ไม่มีความเห็น

ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธิ

ความมุ่งหมายในการเจริญสมาธิ

การที่เจริญสมาธิ มีความมุ่งหมายดังนี้ คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระพุทธประสงค์ให้พ้นจากความทุกข์ มีการเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย  สัตว์เดียรัจฉาน เป็นต้น ถ้าจะเกิดก็ต้องการให้เกิดเป็นมนุษย์ชั้นดี มีรูปสวย เสียงไพเราะ มีโรคน้อย อายุยืนยาวนานถึงอายุขัย มีทรัพย์สมบัติมาก มีความสุขเพราะทรัพย์สิน และทรัพย์สินไม่ถูกทำลายเพราะโจร ไฟ น้ำ ลม มีคนในปกครองดี ไม่ฝ่าฝืนคำสั่ง มีเสียงไพเราะ ผู้ที่ฟังเสียง ไม่อิ่ม ไม่เบื่อในการฟัง พูดเป็นเงินเป็นทอง(รวยเพราะเสียง) ไม่มีโรคประสาท หรือโรคบ้ารบกวน มีหวังพระนิพพานเป็นที่ไปแน่นอน

หรือมิฉะนั้นเมื่อยังไปนิพพานไม่ได้ ไปเกิดเป็นพรหม หรือเทวดาก่อน แล้วต่อไปนิพพาน แต่ความประสงค์ของพระพุทธองค์ มีพุทธประสงค์ให้ไปพระนิพพานโดยตรง

เกิดดีไม่มีอบายภูมิ

เมื่อยังต้องเกิด ก็เกิดดีไม่มีการไปอบายภูมิ ท่านให้ปฏิบัติดังนี้

เราเป็นนักสมาธิคือ มีอารมณ์มั่นคง ถ้ามุ่งแต่สมาธิธรรมดาที่นั่งหลับตาปฏิบัติ ความดีไม่ทรงตัวได้นาน ต่อไปอาจจะสลายตัวได้ มีมากแล้วที่ทำได้แล้วก็เสื่อม และก็เสื่อมประเภทเอาตัวไม่รอด คือ สมาธิหายไปเลยในอดีต เช่น พระเทวทัต ขนาดได้อภิญญายังเสื่อมแล้วลงอเวจี ในปัจจุบันนี้ที่ได้แล้วเสื่อมก็มีมาก เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมและเป็นผู้มีหวังในการเกิดที่ดี แน่นอนท่านให้ทำดังนี้

ท่านให้ทำจิตให้ทรงตัวในอารมณ์ต่อไปนี้คือ

1.คิดว่าชีวิตนี้ต้องตายแน่ แต่เราไม่ทราบวันตาย ให้คิดตามที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า เธอทั้งหลายจงอย่าคิดว่าความตายจะเข้ามาหาเราในวันพรุ่งนี้ ให้คิดว่าอาจจะตายวันนี้ก็ได้เมื่อคิดถึงความตายแล้ว ไม่ใช่ทำใจห่อเหี่ยว คิดเตรียมตัวว่าเราตายเราจะไปไหน จงตัดสินใจว่าเราต้องการนิพพาน ถ้าไปนิพพานไม่ได้ขอไปพักที่พรหมหรือสวรรค์ ถ้าต้องกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ จะต้องไม่ลงอบายภูมิ แล้วพยายามรักษากำลังใจให้ทรงตัวในความดีที่เป็นที่พึ่ง เพื่อให้เราเข้าถึงได้แน่นอนตามที่เราต้องการ คือ

2.ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ โดยปฏิบัติใน พุทธานุสสติ ตามที่แนะนำมาแล้วอย่าให้ขาด

3.เคารพในพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยใจนึกถึงความตายอย่างไม่ประมาท ทรงอารมณ์ไว้ใน อานาปานุสสติกรรมฐาน และกรรมฐานข้ออื่นๆที่ทำได้แล้วเป็นปกติ อย่าให้กรรมฐานนั้นๆเลือนหายไปจากใจ ในยามที่ว่างจากการงาน เวลางานใจอยู่ที่งาน เวลาว่างงานใจอยู่ที่กรรมฐาน

4.ยอมรับนับถือพระอริยสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติตามพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระสงฆ์นำมาแนะนำ เลือกปฏิบัติตามพอที่จะทำได้

5.ปฏิบัติและทรงกำลังใจใน ศีลและกรรมบถ 10 อย่างเคร่งครัด และไม่ยอมละเมิดศีลและกรรมบถ 10 อย่างเด็ดขาด เว้นไว้แต่ทำไปเพราะเผลอไม่ตั้งใจ สำหรับศีลควบกรรมบถ 10 ท่านให้ปฏิบัติดังนี้

อันดับแรก จงมีความเข้าใจว่า การปฏิบัติคือ การใช้อารมณ์ให้เป็นสมาธิ หมายถึงว่า จำได้เสมอว่า ศีล และกรรมบถ 10 มีอะไรบ้าง เมื่อจำได้แล้วก็พยายามเว้น ไม่ละเมิดอย่างเด็ดขาด ใหม่ๆอาจจะมีการพลั้งเผลอละเมิดไปบ้าง เป็นของธรรมดา เมื่อชิน คือชำนาญ ที่เรียกว่า จิตเป็นฌาน คือปฏิบัติระวังจนชิน จนกระทั่งไม่ระวังก็ไม่ต้องละเมิด อย่างนี้ท่านเรียกว่าเป็นฌานในศีล และกรรมบถทั้ง 10 ประการ ผลที่ทำได้ก็มีผลในขั้นต้น ก็คือไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม หรือเกิดมาเป็นมนุษย์ชั้นดี ตามที่กล่าวมาแล้ว ผลของศีลและกรรมบถ 10 มีดังนี้

1.เว้นจากการฆ่าสัตว์และทรมานสัตว์ให้ได้รับความลำบากตลอดชีวิต เว้นอย่างนี้ได้ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ จะเป็นคนมีรูปสวยมาก ไม่มีโรคเบียดเบียนอายุยืนยาวครบอายุขัย ตายใหม่ไม่ต้องลงอบายภูมิต่อไป จนกว่าจะเข้าพระนิพพาน

2.เว้นการถือเอาทรัพย์สินที่คนอื่นไม่เต็มใจให้ หรือขโมยของเขาตลอดชีวิต และมีการให้ทานตามปกติ เว้นตามนี้ได้ และให้ทานเสมอตามแต่จะให้ได้ ถ้ายังมีไม่พอจะให้ได้ ก็คิดว่าถ้าเรามีทรัพย์ เราจะให้เพื่อเป็นการสงเคราะห์ อย่างนี้ถ้าตายไปจากชาตินี้ ก็ไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม หมดบุญจากเทวดาหรือพรหม มาเกิดเป็นคนจะร่ำรวยมาก มีความปรารถนาในทรัพย์สมหวังทุกอย่าง ทรัพย์ไม่ถูกทำลายเพราะ โจร ไฟ น้ำ ลม และจะรวยตลอดชาติ

3.เว้นจากการทำชู้ ลูกเขา ผัวเขา เมียเขา ตลอดชีวิตเว้นอย่างนี้ได้ ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม แล้วลงมาเกิดเป็นคนจะมีคนในปกครองดีทุกคน จะไม่หนักใจเพราะคนในปกครองเลย

4.เว้นจากการพูดปด

5.เว้นจากการพูดหยาบ

6.เว้นจากการพูดยุให้ชาวบ้านแตกร้าวกัน เว้นจากการพูดวาจาที่ไม่เป็นประโยชน์ตลอดชีวิต เว้นอย่างนี้ได้ หลังจากเป็นเทวดาหรือพรหมแล้วมาเกิดเป็นคน จะเป็นคนมีวาจาที่เป็นที่รักของผู้รับฟัง ไม่มีใครอิ่มหรือเบื่อในการฟัง ถ้าพูดตามภาษาชาวบ้าน ท่านเรียกว่ามีวาจาเป็นมหาเสน่ห์หรือมีเสียงเป็นทิพย์ คนชอบฟังเสียงที่พูด การงานทุกอย่างจะสำเร็จเพราะเสียง ทรัพย์สินต่างๆจะเกิดขึ้นเพราะเสียง ถ้าพูดโดยย่อก็ต้องพูดว่า รวยเพราะเสียงหรือเสียงมหาเศรษฐีนั่นเอง

7.เว้นจากการดื่มน้ำเมา ที่ทำให้เสียสติทุกประการ ตลอดชีวิต เว้นได้ตามนี้ เมื่อเกิดเป็นคนใหม่จะไม่มีโรคปวดศีรษะ ไม่เป็นโรคประสาท ไม่มีโรคบ้ามารบกวน เป็นคนมีมันสมองดี ปลอดโปร่งในอารมณ์ (เป็นคนฉลาดมาก)

8.เว้นจากการคิดอยากได้ทรัพย์สินของผู้อื่นเอามาเป็นของตน ข้อนี้ไม่ได้ขโมยและไม่คิดจะขโมยด้วย เป็นการคุมอารมณ์ใจ

9.ไม่คิดประทุษร้าย จองเวรจองกรรม จองล้างจองผลาญใคร มีจิตเมตตาคือความรักในคนและสัตว์เหมือนรักตัวเอง

10.ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า และปฏิบัติตามที่พระองค์สั่งสอนทุกประการ ไม่สงสัยในคำสอนและผลของการที่ปฏิบัติ ตามคำสอนแล้ว มีผลความสุขปรากฏขึ้น ผลของการเว้นในข้อ 8,9,10 นี้ เมื่อเกิดใหม่ จะเป็นคนที่มีอารมณ์ สงบสุข ไม่มีความทุกข์ทางใจอย่างใดอย่างหนึ่งเลย และเป็นผลที่ทำให้เข้าถึงพระนิพพานง่ายที่สุด

เมื่อท่านเว้นตามนี้ได้ การเว้นควรเว้นแบบนักเจริญสมาธิ คือมีอารมณ์รู้เพื่อเว้นตลอดเวลา เมื่อเว้นจนชิน จนไม่ต้องระวังก็ไม่ละเมิด อย่างนี้ถือว่าท่านมีฌานในศีลและกรรมบถ 10 ประการ ท่านเรียกว่า เป็นผู้ทรงฌานในสีลานุสสติกรรมฐาน

อานิสงส์ที่ได้แน่นอน

อานิสงส์คือผลของการปฏิบัติได้ครบถ้วนและทรงอารมณ์คือ ไม่ละเมิดต่อไป ท่านบอกว่าเมื่อตายจากความเป็นคนในชาตินี้ ไม่มีคำว่าตกนรก เป็นต้น อีกต่อไป ในระยะแรก ก่อนปฏิบัติ ท่านจะมีบาปหนักหรือมากขนาดไหนก็ตาม บาปนั้นจะหมดโอกาสลงโทษต่อท่านตลอดไปทุกชาติจนกว่าท่านจะเข้าพระนิพพาน

เมื่อไหร่จะไปนิพพาน

ในเมื่อท่านปฏิบัติตามนี้ได้ครบถ้วนแล้ว จะไปนิพพานเมื่อไหร่ ท่านตรัสไว้ดังนี้ คือ

1.ถ้ามีอารมณ์เข้มข้น คือ บารมีเข้มแข็ง บารมีคือกำลังใจ มีกำลังใจมั่นคงปฏิบัติแบบเอาจริง ไม่เลิกถอนหรือย่อหย่อน แต่ไม่ทำจนเครียด เอาแค่นึกได้เต็มใจทำจริง อยู่ในเกณฑ์อารมณ์เป็นสุข อย่างนี้ท่านบอกว่า ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ลงมาเกิดเป็นมนุษย์ชาติเดียว ในชาตินั้นเอง เป็นพระอรหันต์ ไปนิพพานในชาตินั้น

2.ถ้าบารมี คือ กำลังใจปานกลาง ทำไปไม่ละ แต่การทำนั้นอ่อนบ้าง เข้มแข็งบ้าง อย่างนี้เกิดเป็นมนุษย์อีกสามชาติไปนิพพาน

3.ประเภทกำลังใจอ่อนแอ ทำได้ครบจริง แต่ระยะการกระตือรือร้นมีน้อย ปล่อยประเภทช่างเถอะตามเดิม ฉันรักษาได้ ไม่ขาดก็แล้วกัน อย่างนี้ท่านว่า เกิดมาเป็นมนุษย์อีกเจ็ดชาติไปนิพพาน

รวมความแล้ว ประเภทแข็งเปรี๊ยะ ไปนิพพานเร็ว ประเภทแข็งบ้าง อ่อนบ้าง ไปนิพพานช้านิดหนึ่ง ประเภทอ่อน ไม่ค่อยจะแข็ง แต่ไม่ยอมทิ้งความดีที่ปฏิบัติได้ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง อย่างนี้ถึงช้านิดหนึ่ง แต่ก็ต้องถือว่าเป็นผู้มีโชคดีเหมือนกันหมด คือ งดบาปที่ทำมาแล้วทั้งหมด มีกำลังเข้าพระนิพพานแน่นอน ถ้ายังไปนิพพานไม่ได้ ต่อเมื่อมาเกิดเป็นคน ก็เป็นคนพิเศษ มีรูปสวย รวยทรัพย์ เป็นต้น ตายจากคนก็เป็นเทวดา นางฟ้าหรือพรหม ต้องถือว่าโชคดีมาก เป็นอันว่า กรรมฐานปฏิบัติด้วยตัวเองง่ายๆ แต่ไปถึงนิพพานได้ ก็ยุติกันเพียงเท่านี้ …

คัดลอกจากหนังสือ วิธีฝึกกรรมฐานด้วยตนเองแบบง่ายๆ โดย หลวงพ่อพระราชพรหมยาน (พระมหาวีระ ถาวโร)

หน้า 32-39

#แอดมิน 

Top