Author: admin

by admin admin ไม่มีความเห็น

วิธีอาราธนาหลวงพ่ออุปคุต(มารับบาตร)

วิธีอาราธนาหลวงพ่ออุปคุต(มารับบาตร)

โดย “มาลินี โชติเลขา”

ข้าพเจ้ากับคุณพ่อสุวรรณ คุณแม่จันทนา วีระพล และน้องๆ ได้มีโอกาสมากราบหลวงพ่อพระราชพรหมยาน เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๘ หลังจากข้าพเจ้าได้รับหนังสือ “ประวัติหลวงพ่อปาน” มาเล่มหนึ่งจากสามี(เพื่อนของสามีให้มา) หลังจากอ่านเกิดความเลื่อมใสในหลวงพ่อ “ฤๅษีลิงดำ” มากจึงส่งต่อให้น้องสาวอ่าน ก็มีอาการเดียวกัน ได้เล่าให้คุณพ่อสุวรรณและคุณแม่จันทนาฟัง ก็เกิดอาการเดียวกัน ทุกคนอยากจะกราบหลวงพ่อมาก จึงเพียรเสาะหาว่าหลวงพ่อองค์นี้อยู่ที่ไหน

ในที่สุดอ่านเจอจากหนังสือสกุลไทยว่าหลวงพ่อมาอยู่ที่บ้านซอยลมข้าพเจ้าพร้อมด้วยคุณพ่อสุวรรณ คุณแม่จันทนาและน้องๆ ได้มากราบหลวงพ่อพระราชพรหมยานสมความปรารถนา ที่บ้านซอยสายลมในปีเดียวกันนั้นเอง ข้าพเจ้าและทุกคนปลื้มใจ สุขใจเกิดปีติมากจนพูดไม่ถูกบรรยายไม่ได้ ทั้งๆ ที่เพิ่งจะพบกันครั้งแรก และในวันนั้นเอง พวกเราทั้งคณะได้ร่วมทำบุญกับหลวงพ่อ 

หลวงพ่อเมตตาให้พรเป็นภาษาบาลีเสียยาว เสร็จแล้วท่านพูดว่า เออ! กลุ่มนี้สีขาวแล้วนะ ข้าพเจ้าอยากถามหลวงพ่อเหลือเกินว่าท่านหมายความว่าอะไร แต่ไม่กล้าถามท่าน ได้แต่ยิ้ม เพราะยังไม่เคยรู้จักท่าน เพิ่งจะเจอท่านครั้งแรก แต่พวกเราดีใจว่าท่านบอกว่าเราขาวแล้ว แสดงว่าใช้ได้(คิดเอาเอง) ถ้าบอกว่าดำคงต้องคิดหนัก เวลานั้นคุณพ่อสุวรรณได้นิมนต์หลวงพ่อไปฉันเพลที่บ้านทันที ในวันรุ่งขึ้น ซึ่งหลวงพ่อท่านเมตตารับนิมนต์ พวกเราทุกคนซาบซึ้งในความเมตตาของหลวงพ่อมาก ตั้งแต่ได้พบกันครั้งแรก จนถึงท่านมรณภาพไปในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ความเมตตาของท่านไม่เปลี่ยนแปลงนับเป็นโชคดีมหาศาลของพวกเราที่ได้มาพบเจอท่าน และศึกษาธรรมะจากท่าน

หลังจากวันนั้น ข้าพเจ้าและครอบครัวจะมากราบท่านทุกเดือนเป็นประจำมิได้ขาดและมีโอกาสร่วมสร้างบุญสร้างกุศลร่วมกับหลวงพ่อตลอด ซึ่งเป็นโชคดีมหาศาลของพวกเรา

หลวงพ่อเมตตาแนะนำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแบบง่ายๆ ให้เราเข้าใจและนำไปปฏิบัติ ท่านสอนให้เห็นทุกข์ของการเกิด ความไม่เป็นแก่นสารของสรรพสิ่งในโลกนี้ ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง หลวงพ่อแนะนำให้เราปฏิบัติให้หลุดพ้นเข้านิพพานในชาตินี้ คุณแม่จันทนาซาบซึ้งมาก แม้จะพูดภาษาไทยได้นิดหน่อยก็พยายามปฏิบัติตามตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

ประมาณปี พศ. ๒๕๓๕ ข้าพเจ้าได้มากราบหลวงพ่อที่บ้านสายลมตามปกติ และนั่งสนทนากับคุณลุงปรุง ตุงคมณี อดีตกงศุลใหญ่ประจำฮ่องกง ในตอนหลังลุงปรุงเล่าว่า ท่านมีวิธีนิมนต์หลวงพ่ออุปคุตมารับบาตร ข้าพเจ้าฟังแล้วตื่นเต้น ก็ขอจดตำราไว้ก่อน เผื่อจะทำพิธีขอนิมนต์บ้าง ดังนี้….

วิธีอาราธนาหลวงพ่ออุปคุต

วันขึ้น ๑๒ ค่ำ ตอนหัวค่ำให้จุดธูป ๓ ดอก ปักที่สนามหญ้าหน้าบ้าน แล้วอธิษฐานขออาราธนาพระมหาเถระอุปคุตมารับบาตรในเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำที่จะถึงนี้

วันหนึ่งลูกชายของข้าพเจ้า ซึ่งเวลานั้นบวชเป็นพระอยู่ที่วัดท่าซุง โทรศัพท์มาหาข้าพเจ้าที่บ้าน ถามว่าโยมแม่ได้ลองทำพิธีมนต์หลวงพ่ออุปคุตมารับบาตรหรือยัง ให้ลองดู ข้าพเจ้าก็เลยไปทำพิธีตามที่ได้จดไว้

เช้าวันที่จะใส่บาตรหลวงพ่ออุปคุต ข้าพเจ้าจัดแจงเอาอาหารไปรอที่หน้าบ้าน ปกติแถวบ้านมีพระจากวัดใหล้ๆ มารับบาตรเหมือนกันประมาณ ๒ องค์ เท่าที่เคยเห็น จะมารับบาตรประมาณ ๖.๐๐ น.เศษ ซึ่งข้าพเจ้าได้ใส่บาตร ๒ องค์แล้ว แต่จัดอีกชุดต่างหากเฉพาะใส่บาตรหลวงพ่ออุปคุต จึงยืนรอไปเรื่อย ไม่มีพระมาอีกเลย

จนกระทั่งเวลาประมาณ ๘.๐๐ น. ลูกชาย(สึกจากพระแล้ว) บอกให้ข้าพเจ้าเข้าบ้านได้แล้ว เพราะสายแล้ว ท่านคงไม่มาหรอก ส่วนข้าพเจ้ายังใจจ่อจดอยู่ ยังไม่อยากเข้าบ้าน จึงรีๆ รอๆ อยู่อีกสักครู่ จึงเดินไปที่ถนนหน้าบ้านซึ่งเป็นทางยาว มองซ้ายมองขวาไม่มีใครเดินมาเลยย จึงเดินเข้าบ้านตรงประตูเล็กตรงรั้วบ้าน 

พอหันกลับจะปิดประตูเล็ก มีพระองค์หนึ่งมายืนอยู่ตรงประตู ถือบาตรและมีดอกบัวสีชมพู ๑ ดอก องค์ท่านสูงสง่างามมาก ผิวขาวอมชมพู ใบหน้าของท่านงามมาก อธิบายไม่ถูก ยิ้มน้อยๆ ผมบนศีษระท่านเหมือนกับเพิ่งโกนใหม่ๆ ยังเห็นรอยโกนผมใหม่ แบบยังสีเขียวๆ อยู่เลย ข้าพเจ้ามองด้วยความตะลึง ในบาตรท่านไม่มีของอะไร

เดิมตั้งใจว่าถ้าเจอท่านจะถามว่าจำพรรษาอยู่วัดไหน ท่านมาจากไหน และอีกหลายๆ คำถามปรากฏว่าข้าพเจ้าได้แต่จ้องมองท่านโดยไม่ได้ถามสักคำ จนท่านจากไปแล้ว จึงนึกได้ เอ้า เราลืมถามท่านไป จึงเดินออกไปยืนดูที่ถนนอีกครั้งเห็นท่านเดินเลี้ยวไปทางซอยขวามือ แล้วหายไป

ทั้งหมดที่เล่ามานี้ จะใช่หลวงพ่ออุปคุตเมตตามาสงเคราะห์หรือไม่ก็ตาม ข้าพเจ้าไม่อาจจะยืนยัน แต่มีความปีติมากเป็นพิเศษ จึงขอเล่าเรื่องทั้งหมดนี้สู่กันฟัง อาจจะไม่ละเอียดเท่าที่ควร ก็ขออภัยด้วยเนื่องจากเรื่องนี้เกิดขึ้นนานมากแล้ว จนลืมรายละเอียดไปเยอะ ขอให้คิดว่าอ่านนิทานก็แล้วกัน

หากเรื่องนี้จะมีประโยชน์บ้าง ขออุทิศถวายบูชาหลวงพ่ออุปคุต และหลวงพ่อพระราชพรหมยาน ผู้มีพระคุณสูงสุดของข้าพเจ้าและครอบครัว…

มาลินี โชติเลขา(วีระผล)

บ้านเลขที่ ๗๑ ซอยภาษี ๒

ถ. เอกมัย แขวงคลองตันเหนือ

เขตวัฒนา กทม. ๑๐๑๑๐

จากนิตยสารธัมมวิโมกข์ ปีที่ ๒๘ ฉบับที่ ๓๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อเล่าเรื่อง อดีตของท่านท้าวมหาราชหรือท้าวจตุโลกบาล

มาวันนี้อารมณ์เริ่มทรงตัวขึ้นมาบ้าง ก็ใช้กำลังทรงตัวได้ แต่ถ้าใช้กำลังทรงตัวแน่นไปอีกก็ไม่เห็นอะไร พอขยับจิตเคลื่อนลงมานิดหนึ่งอยู่ในขั้นอุปจารสมาธิ ก็เห็นท่านท้าวมหาราชนั่งอยู่ข้างๆ ท่านท้าวมหาราชทั้ง ๔ เขาเรียกว่า ท้าวจตุโลกบาลมีหน้าที่รักษาคุ้มครองชาวมนุษยโลก ถ้าสร้างความดีก็หาทางป้องกันช่วยเหลือ จะส่งเทวดาไปอารักขา ถ้าสร้างความชั่วก็สุดวิสัยที่จะช่วยได้ก็อดใจไว้ และก็มีหน้าที่บันทึกความดีความชั่วของคนทั้งการพูด การคิด การทำทุกอย่าง สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชอยู่กึ่งกลางเขาพระสุเมรุ คนที่ตายแล้วมาเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชได้ ต้องเคยได้ฌานสมาบัติ แต่เวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย ถ้าขณะที่ตายเข้าฌานตาย ก็จะไปเกิดเป็นพรหม 

ท่านท้าวมหาราชทั้ง ๔ คือ
๑) ท่านท้าวเวสสุวัณคุมด้านทิศเหนือ
๒) ท่านท้าววิรุฬหกคุมด้านทิศใต้
๓) ท่านท้าวธตรฐคุมด้านทิศตะวันออก
๔) ท่านท้าววิรูปักข์ คุมด้านทิศตะวันตก

ท่านท้าวเวสสุวัณ เป็นท่านท้าวมหาราชคุมด้านทิศเหนือ

ท่านท้าวเวสสุวัณ เป็นท่านท้าวมหาราชคุมด้านทิศเหนือ และเป็นประธานของท้าวมหาราชทั้ง ๔ บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ในเมืองมนุษย์มักจะทำสัญลักษณ์เป็นรูปยักษ์ จะเห็นได้ตามวัด ตามถํ้าจะมีรูปปั้นยักษ์อยู่ทางด้านหน้าทางเข้า ก่อนที่ท่านจะมาเป็นท่านท้าวมหาราชเขตจาตุมหาราช ถอยหลังไป ๑ ชาติ ในตอนต้นเลยทีเดียวที่ยังไม่มีพระพุทธศาสนา มีแต่ศาสนาพราหมณ์ ท่านมีนามว่า “กุเวรพราหมณ์”เป็นชื่อเดิม ต่อมาท่านเป็นกษัตริย์ครองกรุงราชคฤห์มหานครทรงพระนามว่า “พระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์”ท่านเกิดรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารครองกรุงกบิลพัสดุ์ ซึ่งต่อมาทรงออกผนวชบรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าทรง พระนามว่า “สมเด็จพระสมณโคดม”ท่านมีพระสหายอีก ๒ องค์คือ พระเจ้าปเสนทิโกศลครองกรุงสาวัตถีกับท่านพันธุรเสนารวมเป็น ๔ องค์ เป็นเพื่อนรักกันมาก ต่างคนต่างเป็นลูกกษัตริย์ สมัยนั้นไปเรียนหนังสือที่เมืองตักศิลาด้วยกัน

ต่อมาเจ้าชายสิทธัตถะราชกุมารทรงออกมหาภิเนษกรมณ์ พระเจ้าพิมพิสารทรงคิดว่ามีเรื่องราวกับใคร จึงนิมนต์ให้เข้าประทับในเมือง จะมอบอำนาจให้ครึ่งหนึ่งและสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง ให้เป็นมหาอุปราช พระพุทธเจ้าทรงบอกว่า“ไม่ได้หนีใคร ทรงเบื่อความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ต้องการแสวงหาโมกขธรรม คือธรรมอันเป็นเครื่องหลุดพ้นจากความตาย และต้องการเอาธรรมนั้นมา สอนคนอื่น”

พระเจ้าพิมพิสารจึงบอกว่า “ถ้าพระองค์ทรงบรรลุเมื่อไร ขอมาโปรดท่านก่อน”

พระพุทธเจ้าก็ทรงรับ เมื่อองค์สมเด็จพระทรงสวัสดิโสภาคย์บรรลุอภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณแล้วก็ทรงสอนคนมาตามทาง จนกระทั่งถึงกรุงราชคฤห์มหานคร พบพระเจ้าพิมพิสารพร้อมด้วยบริวาร ก็ทรงเทศน์ พอเทศน์จบปรากฏว่า พระเจ้าพิมพิสารเป็นพระโสดาบันพร้อมกับคนจำนวนมาก หลังจากนั้นก็ได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเข้าประทับในพระเวฬุวันมหาวิหาร

ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นั้น พระเจ้าพิมพิสารไปเฝ้าทุกวัน ได้ถวายทานทุกวัน ฟังเทศน์ทุกวัน จึงมีอานิสงส์ดังนี้คือ

การถวายทาน เป็นปัจจัยให้ได้ทิพยสมบัติ
การถวายพระเวฬุวันมหาวิหาร เป็นเหตุให้ได้วิมานสวยงาม
กำลังความเป็นพระโสดาบันและทรงฌานสมาบัติด้วย เป็นเหตุให้มีกำลัง เมื่อไปเป็นเทวดาก็ทรงอำนาจมาก

เวลาที่ท่านจะตาย ท่านถูกลูกชายคือ พระเจ้าอชาตศัตรู ทรมาน คือพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นกบฏทรยศต่อพ่อ แย่งราชสมบัติแล้วก็ทรมานพ่อ โดยจับขังคุก ต่อมาให้อดข้าว เมื่อท่านยังเดินจงกรมได้ ท่านอยู่ด้วยธรรมปีติแม้จะอดข้าวก็ไม่ตายผิวพรรณยังผ่องใส ในที่สุดเขาก็เฉือนเท้าไม่ให้เดิน ท่านก็มีความเจ็บปวดมาก แต่จิตใจก็นึกถึงองค์สมเด็จพระจอมไตร ท่านก็มีจิตใจชุ่มชื่น ปวดน่ะปวด แต่ท่านก็ยอมรับนับถือกฎของธรรมดาว่า คนเราที่เกิดมาทุกคน แม้ฐานะจะต่างกัน แต่สภาพจริงๆ มันเหมือนกันคือ มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นเหมือนกันหมดทุกคน และก็เดินเข้าไปหาความแก่ มีทุกขเวทนา มีการทรมานจากร่างกาย และในที่สุดก็เป็นคนตาย ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ จะเป็นเศรษฐี คหบดี หรือคนยากจนก็ตาม มีสภาพเหมือนกันไม่มีอะไรแตกต่างกัน

พระเจ้าพิมพิสารบรมกษัตริย์ท่านเป็นพระโสดาบันขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เวลาตายท่านออกด้วยกำลังของฌาน ๔ จะต้องไปเกิดเป็นพรหม แต่พอจิตแยกออกจากกายแล้ว ท่านมีความรู้สึกด้วยอำนาจกำลังจิตที่เป็นทิพย์ว่า ก่อนที่ท่านจะมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสารท่านเคยเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชมาก่อน ท่านก็เลยไม่ไปอยู่พรหม มาอยู่ชั้นจาตุมหาราชที่เดิม เมื่อท่านเป็นเทวดาแล้ว ท่านก็ฝึกฝนจนเป็นพระอนาคามี และท่านไม่กลับมาเกิดอีกแล้ว

ท่านท้าววิรุฬหก ท่านเป็นท้าวมหาราชคุมด้านทิศใต้

ท่านท้าววิรุฬหก ท่านเป็นท่านท้าวมหาราชคุมด้านทิศใต้ บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ในเมืองมนุษย์มักเข้าใจว่า ท่านท้าววิรุฬหกและบริวารของท่านเป็นกุมภัณฑ์ 

“กุมภะ”แปลว่า “หม้อ”ท่านจึงแสดงรูปร่างอ้วนใหญ่เหมือนกับพ้อมใส่ข้าว ผิวดำปี๋ พุงก็ปลิ้น คอก็สั้น หัวก็โต ฟันก็ขาว เขี้ยวก็โง้งออกจากปาก มีริมฝีปากนูนๆ ตาใหญ่มาก สว่างแวววาวเหมือนกับไฟฉาย มองส่ายไปส่ายมา ทำให้น่ากลัว แต่ความจริงท่านสวยสดงดงามมาก 

ท่านมาบอกอาตมาว่า ในสมัยเป็นมนุษย์ท่านเป็นคนกรุงเทพฯ อาชีพของท่านเป็นคนมีเงินเดือน เป็นหัวหน้าคนกลุ่มใหญ่มีคนใต้บังคับบัญชานับพันคน ท่านบอกท่านเคยมีโอกาสเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเหมือนกัน เคยเข้าสมาคมกับขุนนางชั้นสูงและกับคนทุกชั้น เพราะท่านมีเมตตาความรัก กรุณาความสงสาร ท่านถือว่าทุกคนฐานะไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่กำลังใจเท่านั้น นอกจากนั้นท่านมีความต้องการหนังเหนียวยิงไม่ออก แคล้วคลาดจากอาวุธ และสามารถแสดงฤทธิ์ ท่านมีอาจารย์เป็นพระและเป็นฆราวาสก็มี ถ้ามีความดีเป็นกรณีพิเศษ การทำให้หนังเหนียวต้องใช้คาถา ก่อนที่จะใช้คาถาทั้งหมด ท่านต้องมีความเคารพพระพุทธเจ้าด้วยความจริงใจ เคารพในพระธรรมคำสอน และเคารพในพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ หลังจากนั้นต้องทำจิตให้มั่นคงโดยภาวนาให้จิตทรงตัว ก็คือ จิตเป็นสมาธินั่นเองถ้าจิตมีสมาธิสูง กำลังอานุภาพที่ต้องการก็จะมีอานุภาพมาก ถ้ากำลังสมาธิตํ่าของที่เรียนมาก็มีอานุภาพตํ่า การท่องคาถาอาคม การปลุกตัว การปลุกของ ต้องทำทุกวันเพื่อความมั่นคง จิตต้องเข้าถึงฌานสมาบัติแต่เวลาที่ท่านตาย ท่านไม่ได้เข้าฌานตาย

เมื่อตายแล้วท่านไปเกิดเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราช ต่อมาก็ขึ้นเป็น เทวดาชั้นอินทกะ (คำว่า“อินทกะ”แปลว่า“ผู้เป็นใหญ่”คือเป็นรองท่านท้าวมหาราช อินทกะนี้มีได้ทิศละพันองค์ พร้อมที่จะเป็นท้าวมหาราชได้ตามความสามารถและวาสนาบารมี ในเมื่อท่านท้าวมหาราชไปจากชั้นนี้ คือจากชั้นจาตุมหาราชไปเกิดเป็นเทวดาชั้นสูงบ้าง หรือว่าไปเป็นพรหมบ้าง หรือมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม) จากอินทกะท่านก็เป็นท้าวมหาราช คือท่านท้าววิรุฬหกในปัจจุบันนี้

ท่านท้าวธตรฐ ท่านเป็นท้าวมหาราชคุมด้านทิศตะวันออก

วันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ เห็นท่านท้าวมหาราชมานั่งอยู่ องค์หนึ่งมาตัวสูงเท่ายอดตาล จึงหันไปถามว่า “ใคร” ท่านท้าววิรุฬหกตอบว่า “ท่านธตรฐครับ”พอท่านเข้ามาใกล้ก็เลยถามว่า “ทำไมสูงเหมือนเปรตแบบนี้ล่ะ” ท่านตอบว่า “อย่างนี้เขาเรียกสูงแบบเทวดา ไม่ใช่สูงแบบเปรต” ถามท่านท้าวธตรฐว่า “อดีตของท่านเคยเป็นอะไรมาตอนเป็นมนุษย์” ท่านตอบว่า“อดีตผมเป็นพระราชาเมืองพาราณสีครับ”ก็เลยถามท่านว่า “เวลานั้นไม่มีพระพุทธศาสนาเป็นเทวดาได้อย่างไร”

ท่านตอบว่า “เทวดาหรือพรหมไม่จำเป็นต้องนับถือพระพุทธศาสนาเสมอไป พราหมณ์ก็เป็นเทวดาเป็นพรหมได้” เวลานี้ท่านเป็นพระอนาคามี เป็นพระอริยเจ้าเบื้องสูง ท่านไม่กลับลงมาเกิดอีกแล้ว

ท่านท้าววิรูปักษ์ ท่านเป็นท้าวมหาราชคุมด้านทิศตะวันตก

ในวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๑ วันเดียวกันนั้นอาตมาได้หันไปถาม ท่านวิรูปักษ์ ว่า “อดีตท่านเป็นอะไร” ท่านตอบว่า “อดีตผมอยู่ปักษ์ใต้ ประเทศไทยนี่เอง เป็นผู้ชายไทย ฐานะสูงมากสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้ฌานสมาบัติแต่เวลาตายไม่ได้เข้าฌานตาย ตายแล้วไปเป็นอินทกะเลย เมื่อท่านวิรูปักษ์องค์เก่าขึ้นไปเป็นพรหม ท่านก็ขึ้นเป็นแทน ท่านเก่งมาก

เป็นอันว่าก็ได้ทราบประวัติของท่านท้าวมหาราชทั้ง ๔ แล้วว่าใครเป็นใคร ทำให้ทราบว่าการเป็นเทวดาก็ไม่หนักสำหรับพวกเรา การเป็นพรหมก็ไม่หนัก การไปพระนิพพานก็ไม่หนัก การไปนรกก็ไม่หนัก ชอบทางไหนก็ไปได้ทั้งนั้น..”

เนื้อหา จากหนังสือ ตายแล้วไม่สูญ……แล้วไปไหน
โดย พระราชพรหมยาน 

by admin admin ไม่มีความเห็น

ก่อนนอนสมาทานศีลได้หรือไม่ : หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

ญาติโยมทั้งหลาย วันนี้เป็นวันที่สอง เมื่อคืนนี้ป่วยมาก พูดแล้วฉันไม่รู้เรื่องเลย วันนี้ขอแก้ตัวใหม่ ก็เป็นอันยืนยันว่าวันนี้เป็นวันที่ ๒ ของเดือน มีนาคม ซึ่งการแนะนำก็ขอแนะนำตั้งแต่เบื้องต้น ความจริงเบื้องต้นนี้สำคัญ

เบื้อง ต้นจริงๆ ก็คือศีล เรื่องศีลเป็นเรื่องใหญ่ของการเจริญสมาธิ ตามพระบาลีท่านบอกว่าถ้าศีลบริสุทธิ์ สมาธิก็ตั้งมั่น ถ้าสมาธิตั้งมั่น ปัญญาก็เกิด

ฉะนั้นการเจริญสมาธิก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทถ้าต้องการ ให้มีการทรงตัวจริงๆก็ต้องทรงศีลบริสุทธิ์ แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่าพอมานั่งที่นี่ศีลบริสุทธิ์ พอกลับไปบ้านเราบริสุทธิ์ แต่ศีลไม่บริสุทธิ์ ศีลนอกคอก ไม่จำสถานที่

ถ้าหากว่าศีลบริสุทธิ์ บ้างไม่บริสุทธิ์บ้าง การเจริญกรรมฐานจะเป็นอย่างไร ก็ต้องตอบว่า ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทไม่ละทุกวัน มีผลแน่นอน 

ตอนเช้าตื่นขึ้น มาใหม่ๆ ศีลยังบริสุทธิ์ ยังไม่ได้ด่าใคร ด่านี่ศีลไม่ขาด แต่ศีลเศร้าหมอง เศร้าหมองก็ลงอบายภูมิได้ แต่ยังไม่ได้ด่าใคร ตื่นขึ้นเช้าจับลมหายใจเข้าออก หายใจเช้านึกว่า พุธ หายใจออกนึกว่า โธ นึกถึงบารมีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ถ้าท่านที่ได้มโน มยิทธิแล้ว พอตื่นขึ้นมาศีลยังบริสุทธิ์ มีความมั่นใจในตัวเอง ก็รวบรวมกำลังใจพุ่งไปที่พระพุทธเจ้าทันที คือไปที่นิพพานอย่างนี้ได้เปรียบมาก ถ้าไปนิพพานทุกวัน เวลาตายมันจะไปที่นั่น พุ่งไปที่นิพพานไปไหว้พระพุทธเจ้า จิตจะบริสุทธิ์ อารมณ์จะบริสุทธิ์ ไหว้พระพุทธเจ้าแล้วก็คิดตัดสินใจว่า ถ้าร่างกายพังเมื่อไหร่ขอมาที่นี่แห่งเดียว แล้วก็กลับลงมา ถ้าเจอหน้ายกทรงก็ด่าเลย ช่างมันเราดีแล้ว

คำว่าเราดีแล้ว หมายความว่าตอนั้นเราดีแล้ว ความดีมันทรงตัว แล้วมาตอนหลังถ้าจิตมันมัวหมอง ศีลบริสุทธิ์บ้างไม่บริสุทธิ์บ้าง มันก็เป็นเรื่งอเศร้าหมองของอารมณ์ แต่อารมณ์ดีมันไม่ได้สลายตัว ความดีมันจะขังตัว ความชั่วนันก็ขังตัว

คนเกิดมารับกรรม ๒ อย่าง
ที่ พระพุทธเจ้าบอกว่า คนเราเกิดมาแล้วต้องรับเศษกฎของกรรมทั้ง ๒ อย่าง คือ ทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว คือความดีที่ติดใจเรามา มันให้ผลคือความสุข มีทรัพย์สินกินบ้าง มีผ้าผ่อนท่อนสไบใช้บ้าง มีเงินทองใช้บ้าง มีบ้านอยู่บ้าง นี่เป็นผลของความดี แต่ความทุกข์ต่างๆ ที่มีอยู่กับเราในเวลานั้น ก็เป็นผลของความชั่ว

แต่ว่าเรามุ่งจับ ความดีขั้นสูงคือพระนิพพานไว้ และถ้าหากว่าญาติโยมที่ไม่ได้มโนมยิทธิทำอย่างไร เสียท่าเขาสิ แต่ไม่เป็นไร ก็รวมความว่าถ้าหากไม่ได้มโนมยิทธิก็ตัดสินใจอย่างเดียวกัน นึกถึงพระพุทธเจ้าว่าพระพุทธเจ้าท่านดีกว่าเราเหลือหลาย ท่านเป็นลูกกษัตริย์ ท่านมีความเป็นอยู่เป็นสุข แต่ยังเห็นว่าความมีชีวิตอยู่เป็ฯทุกข์ เวลานี้ท่านไปนิพพาน

ตอนนี้ เราขอตัดสินใจว่า ในฐานะที่เราเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ในเมื่อพระพุทธเจ้าไปนิพพานแล้ว เราตายเมื่อไหร่ขอไปนิพพานเมื่อนั้น แล้วภาวนาว่าพุทโธ

ถ้าทำอย่างนี้ทุกวัน ขอยืนยันว่าไปแน่ ลงทุนนิดหน่อยแต่อย่าลืมว่ามันเป็นเพชรแบบราคาแพง ฉะนั้นขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ถ้าทุกคนหวังจะไปพระนิพพาน ก็ตั้งใจคิดว่า เวลาตื่นใหม่ๆ ศีลบริสุทธิ์นะ อีตอนตื่นใหม่ๆ นี่เอากำไรไว้ให้ได้ เพราะสภาพจิตมันจะมีสภาพจำ

การลงทุนอย่างนี้ พอตื่นใหม่ๆ ปั๊บกำลังใจทรงตัวดี ไม่ต้องล้างหน้าก็ได้ ไม่จำเป็นหรอก จิตใจกำลังเป็นสุข นอนแบบนั้นไม่ต้องลุกก็ได้ อยากลุกก็ลุก ไม่อยากลุกก็นอน รวบรวมกำลังใจจับลมหายใจเข้าออก เอาเดี๋ยวเดียว หายใจเข้าหายใจออกนิดหนึ่ง หายใจเข้าภาวนาว่า พุท หายใจออกภาวนาว่า โธ ก็ได้ หรือว่าจะภาวนาอย่างไรก็ได้ พอจิตสบายๆ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องให้มันตึง

พอเริ่มจิตเป็นสุขก็รวบรวมกำลังใจ ท่านที่ไม่ได้มโนมยิทธิ คิดในใจว่าขึ้นชื่อความเกิดมีในเบื้องต้นแล้ว ก็มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง คือแก่ทุกวัน แล้วก็ตายในที่สุด ยังไงเราก็ตาย ในเมื่อร่างกายตายให้มันตายอยู่ตรงนี้ จิตของเราคืออทิสมานกายจะขอไปนิพพาน ตามพระพุทธเจ้า เอาแค่นี้ เอาให้มันแน่นอนเลยนะ เอาให้มั่นคง

แต่ในฐานะที่เราไม่แน่ใจว่าบารมี เราจะถึงนิพพานในชาตินี้หรือไม่ ก็ตัดสินใจต่อไปอีกนิดหนึ่ง อธิษฐานต่อไปอีกหน่อยว่า ถ้าหากบุญบารมียังไม่ถึงพระนิพพานเพียงใด เกิดชาติใดก็ตามที เราไม่ต้องการรวยมาก เอาแค่พอๆ กับท่านเมณฑกเศรษฐีก็พอ คือว่าถ้าเป็นอย่างคนอื่นมันรู้สึกว่ามาก นับโกฎิก็ไม่ได้ นับร้อยโกฎิก็ไม่ได้ นับยังไงก็นับไม่ได้มันเยอะ ก็เลยไม่รู้สึกว่ามาก

ถ้าตั้งใจตามนี้จริงๆ ทุกคนได้นะ อย่าลืมว่าทุกคนมีสังฆทานเป็นพื้นฐานนะ นี่เรื่องใหญ่จริงๆ สังฆทานนี่เป็นพื้นฐานของมหาเศรษฐี เราก็ต้องกันกันไว้ ถ้าทานบารมีเราเต็มอย่างอื่นก็เต็มด้วย ถ้าทานบารมีบังเอิญยังไม่เต็ม อย่างอื่นอาจจะพร่อง มันอาจจะต้องเกิด ถ้าเราจะเกิดก็ควรจะเลือกเกิดที่มันไม่ลำบากมากนัก อย่างนี้เลือกได้แน่ ถ้าโง่ก็เลือกไม่ได้ แต่เรามีกำลังพอที่เราจะเลือกได้แล้วนี่ สังฆทานคนละกี่ครั้งล่ะที่นั่งอยู่นี่ เฉพาะมาครั้งเดียวก็หลายครั้ง แล้วมากี่เที่ยว กี่เที่ยวของเขาบุญบารมีเหลือหาย

ถ้าเราหวังพระนิพพาน

ตอน นี้ถ้าเราหวังนิพพาน นิพพานก็ต้องตั้งใจไว้ ถ้าบุญบารมีไม่เกินวิสัยจะไปได้ ขอไปชาตินี้ นี่สำหรับท่านที่ได้มโนมยิทธิตั้งใจจับรูปพระพุทธเจ้าตรง แล้วไปนิพพานเลย พอถึงนิพพานก็ตัดสินใจว่า ถ้าร่างกายตายเมื่อไหร่ขอมาที่นี่แห่งเดียว เพียงเท่านี้บรรดาท่านพุทธบริษัทคิดทุกวันนะ อย่าลืมนะ ถ้าจะให้ดีก็ก่อนหลับก็สมาทานศีลพร้อมกับปฏิญาณตนว่า เวลาหลับจะรักษาศีลอย่างเคร่งครัดไม่ให้ศีลขาด (หัวเราะ)

พระพุทธเจ้าบอก “สัจจัง เว อมตะ วาจา. วาจาสัตย์เป็นวาจาไม่ตาย ของจริง”
ฉันพูดให้ทุกคนบริสุทธิ์ในศีลเวลาหลับ แต่ว่าไม่ได้นะ บางทีหลับฝันไปอยากตีปราสาทนี่ บาปนะ

ต้องใช้ปัญญาควบคู่สมาธิ

รวม ความว่าก่อนจะหลับก็ทบทวนอารมณ์ว่าตั้งแต่เช้าถึงเวลานี้อารมณ์เราเสียตรง ไหนบ้าง กรรมฐานแท้เขาทำกันอย่างนี้นะ ที่ฉันทำมาฉันก็ทำอย่างนี้

เมื่อ ก่อนนี้ให้ภาวนาอย่างเดียว หลวงพ่อปานท่านบอกว่า มึงแดกภาวนาอย่างเดียวไม่อิ่มหรอก ท่านพูดไพเราะมากฌพาะฉันนะ คนอื่นท่านพูดเรียบ คือพิเศษกับอีกสองตัว ไอ้ลิงสามลิงนี่ไม่ใช่คน แต่นอกนั้นท่านพูดดีนะ ไอ้สามคนนี่เอาหนัก

มีวันหนึ่งไปถามท่านว่า หลวงพ่อครับองค์อื่นทำไมไม่พูดอย่างผม
ท่านบอก องค์อื่นไม่เหมือนมึงนี่หว่า
ก็ถามท่านว่าทำไม
ท่านบอก ก็พระที่บ้าที่สุดมีมึงสามองค์ มีมึงสามคนที่บ้าที่สุด ที่กูต้องค่อยๆ เหย้า ค่อยคะยอ ดึงกลับ ไม่งั้นเร่งรัดจัดเกินไป

ก็รวมความว่าเวลาเจริญกรรมฐานจริงๆ เราต้องใช้แบบนี้ เอาแต่สมาธิอย่างเดียวเรายังขาดทุนเสียท่าเขา ขาดปัญญา

ตัวปัญญานี่ต้องใช้ทั้งวัน แต่ไม่นำเป็นต้องบังคับว่าทั้งวันต้องคิดนะ เวลาทำงานทำการอยู่ก็ตามอะไรก็ตามช่างเถอะ เห็นคนปั๊บ นึกว่าคนนี้เขาเป็นผู้หญิง คนนี้เขาเป็นผู้ชาย เป็นอะไรก็ตาม ตามเรื่องของใจมัน

คนทุกคนมีความทุกข์

แต่ว่าพอนึกขึ้นมา ได้ว่า คนที่เดินไปเดินมานี่เขามีทุกข์นะ ถ้าเขาไม่ทุกข์ เขาไม่ต้องเดินไป ไม่ต้องเดินมา ไปเจอตามร้านค้าต่างๆ ก็บอดว่าร้านค้าทุกร้านนี่มีทุกข์ เพราะนั่งคอยคนมาซื้อของ นี่ก็มีทุกข์เพราะว่าวันนี้จะมีใครมาซื้อของไหม นี่เขามีทุกข์ ก็รวมความว่าคนทุกคนที่เกิดมาในโลกมีความทุกข์ ไม่มีความสุข ทุกข์จนกว่าจะตาย

ถ้าเรายังจะเกิดต่อไปเราก็ต้องทุกข์อย่างนี้ เราขอมีความเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บางครั้งก็คิด บางครั้งก็ไม่คิดก็ช่างมันเถอะ เวลาไหนคิดได้เอาตามนั้นนะ เอาแบบท่านจูฬปันถกก็แล้วกัน

พระธรรมเทศนา และ คำสอน ของ หลวงพ่อ พระมหาวีระ ถาวโร ( หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ )

by admin admin ไม่มีความเห็น

จิตอยู่บนพระนิพพานไม่ได้ตลอด (หลวงพ่อฤๅษี)

หลวงพ่อท่านมาบอกว่า

๑. ตัวยังไม่ตาย อยู่ตลอดไปไม่ได้หรอก แค่นึกเมื่อไหร่ก็ถึงเมื่อนั้นก็พอแล้ว ขืนคิดว่าอยู่ได้ตลอด พวกเอ็งก็ดีกว่าพระอรหันต์ซิ”

๒. “รู้ไว้ด้วยจะได้หายโง่ อย่างหลวงพ่อนี่บางทีขึ้นไม่ได้ ก็ยกเอาภาพพระนิพพานเข้ามาไว้ในจิต วิมานมีกี่หลังก็นิมิตขึ้นมาไว้ในจิต หรือในสมองและที่ไม่ลืม คือองค์สมเด็จพระชินสีห์ ประทับนั่งเป็นประธานอยู่ในวิมานหลังนั้นๆด้วย พวกเอ็งเอาไปทำตามก็ได้ ตัวอย่างนี้หลวงพ่ออนุญาต”หมายเหตุ ผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม เวลาไปวัดท่าซุงตอนวัดมีงาน จะได้ยินเทปม้วนนี้บ่อยๆ มีความโดยย่อๆว่า บางครั้งร่างกายหลวงพ่อป่วยมาก จนยกจิตขึ้นไปบนพระนิพพานไม่ไหวจึงน้อมเอาพระนิพพานมาไว้ในจิต หรือในสมอง 
แล้วท่านถามพระพุทธเจ้าว่า หากกายตายตอนนั้น จิตจะไปถึงพระนิพพานไหม พระองค์ทรงตรัสว่าย่อมถึงพระนิพพานได้โดยไม่ต้องสงสัย เป็นต้น

นี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่หลวงพ่อท่านเมตตาให้กับพวกเราอย่างหาประมาณมิได้ ที่ท่านยกเอาวิมานบนพระนิพพานมาจำลองสร้างไว้บนโลกมนุษย์ 
เพื่อให้พวกสุกขวิปัสสโกและพวกฝึกมโนยิทธิ แล้วจิตยังเห็นภาพพระนิพพานไม่ชัด เพราะหากความสงสัยเกิดขึ้นกับจิต ก็กลายเป็นนิวรณ์รบกวนจิต ทำปัญญาให้ถอยหลัง หมายความว่า โง่ทุกครั้ง ที่เกิดความสงสัยขึ้นในธรรมที่ตนเองปฏิบัติได้ ผมจะไม่เขียนรายละเอียด เพราะให้พูดให้ฟังแล้วหลายสิบครั้งในรอบ ๑๕ ปี ที่สนทนาธรรมกันที่ซอยสายลมและที่วัดท่าซุง)

๘. เพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมของผม ท่านนึกถึงครูบาชัยวงศ์ ที่นำแตงนำผักมาบริจาคเป็นทานกับวัดทุกครั้งที่ท่านมา ไม่รู้จุดประสงค์และไม่เข้าใจกรรมจุดนี้ของท่าน พระพุทธองค์ก็ทรงพระเมตตามาสอนให้หายสงสัยมีความสำคัญว่า

๘.๑ การบริจาคทานเป็นวิสัยของพุทธภูมิ บุคคลผู้มีความดำริเพียงชั่วขณะจิตหนึ่ง ตั้งมั่นอันที่จะปรารถนาพุทธภูมิวิสัยนั้นก็พึงควรสักการะ เพราะการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นเป็นได้ยาก กาลนั้นเป็นอุดมมงคล เพราะกว่าจักบำเพ็ญบารมีให้ครบทั้ง ๓๐ ทัศได้นั้น จักยากกว่าบุคคลผู้ปรารถนาสาวกภูมิมาก กำลังพุทธวิสัยเป็นกำลังใหญ่ ขอให้พึงสังเกตปฏิปทาของพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณ ที่มีกล่าวมาแล้วในพระสูตร ชั่วขณะจิตที่รู้ว่าสามเณรผู้เป็นศิษย์คิดมีความปรารถนาอยากจักเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านนั้นยังจักต้องให้สามเณรเดินหน้าด้วย เพราะเหตุใด เพราะวิสัยพุทธภูมินั้นเป็นกำลังใหญ่ 

แม้แต่คิดริเริ่มเพียงชั่วขณะจิตก็ยังมีกำลังใหญ่ บารมีธรรมจุดนี้อย่านำไปตำหนิแก่ผู้ใดที่ปรารถนาพุทธภูมิ เพราะตำหนิแล้วจักเป็นกรรมเข้าตัวเอง โดยหาประโยชน์มิได้”

๘.๒ “อนึ่ง พุทธจริตก็คือพุทธภูมิเดิมที่ลาออกมาสู่สาวกภูมิทั้งสิ้น พวกเจ้าถ้าไปตำหนิพุทธภูมิเข้า ก็เท่ากับตำหนิกำพืดของตนเอง ขอจงอย่าทำกรรมนี้ให้เกิดอีกต่อไป รู้แล้วก็ต้องหมั่นศึกษาให้รู้จริง ควรจักโมทนาไปกับพุทธภูมิวิสัยของท่านนั้นๆ”

๘.๓ “หมั่นกราบขออโหสิกรรม ต่อบรรดาผู้ปรารถนาพุทธภูมิด้วย เพราะกรรมอันนี้มีผลมิใช่เบา ซึ่งตำหนิกรรมไปในท่านทั้งหลายแล้ว จักเป็นอุปสรรคขวางกั้นการปฏิบัติธรรมของพวกเจ้าได้ จงอย่าประมาทในธรรมทั้งปวง”

๙. ,มีบุคคลท่านหนึ่งที่กล่าวตำหนิกรรม ๒ เรื่อง พระองค์ก็ทรงพระเมตตาสอนต่อให้ มีความสำคัญว่า 

๙.๑ “ขอให้พวกเจ้าดูไว้เป็นตัวอย่าง ในบุคคลที่ยังตัดสักกายทิฏฐิเบื้องต้นไม่ได้ (ทรงหมายถึง สังโยชน์ข้อที่ ๑-๒และ๓ ยังไม่ได้) ยังไม่ได้รับการศึกษาธรรมตามขั้นตอนยังไม่เข้าใจถึงกฎของกรรม โทษของกาม ไม่เข้าใจถึงการนำจิตไปเกิดตามกรรม ไม่เข้าใจถึงตัวกรรม ผลของกรรม ก็จักไม่สามารถตัดความดี-เลวไปจากจิตได้ ยังมีการติกรรมดี-เลวทั้งในบุคคลอื่น ในตัวเองอยู่เป็นธรรมดา”

๙.๓ “ในเมื่อความจริงมันเป็นอย่างนี้ จิตของคนธรรมดามันเป็นอย่างนี้ การยกเอาธรรมศึกษา ที่พวกเจ้ากำลังเรียนรู้และเพียรปฏิบัติอยู่ไปบอกกล่าวกับหมู่คนทั่วไปที่ยังไม่เข้าใจถึงกฎของกรรม จักมีประโยชน์อันใด มีแต่โทษ กล่าวไปแล้วเขาจักยิ่งตำหนิธรรม ในเมื่อดี-เลวยังไม่หมดไปจากใจ เขาก็ย่อมไม่ยอมรับกฎของกรรมเป็นธรรมดา”

๙.๓ “พวกเจ้าก็ยังละดี-เลวไม่หมดไปจากใจ ยอมรับกฎของกรรมไม่ได้ ทั้งกาย-วาจา-ใจแล้ว ก็จงอย่าริไปพูดหรือสอนใครในธรรมที่ยังปฏิบัติไม่ได้นั้นๆ จักพูดได้ก็แต่สังโยชน์ ๓ ที่ตัดได้แล้วเท่านั้นเอง ธรรมพรตปรามาสจักได้ไม่เกิดอาบัติปาราชิกอวดอุตริมนุษยธรรมจักได้ไม่เกิด เข้าใจไว้ด้วยนะ”

ที่มา…. ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น (เล่ม ๕) พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน

by admin admin ไม่มีความเห็น

สัมปจิตฉามิ

ผู้ถาม : “เวลาท่องคาถา “สัมปจิตฉามิ” ท่องไปไม่เกิน ๑๐ ครั้ง มีความรู้สึกว่าเงียบหายไปทุกที เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ทำใหม่ก็ปรากฏว่าเป็นอย่างนี้อีก ก็ไม่ทราบว่าเป็นอะไร และจะแก้ไขอย่างไรดีเจ้าคุ..?”
หลวงพ่อ : “เป็นเพราะมันเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องแก้ไขอย่างไร ก็ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ ขึ้นไป ตอนที่ภาวนาอยู่ จิตอยู่ที่ฌาน ๑ พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ ก็ตัดภาวนา อันนี้ดีมากนะ ไม่ใช่เลว เก่ง! คนนี้ต้องถือว่าเก่งมาก เข้าถึงฌาน ๒ ตัวไม่ภาวนาคือ ฌาน ๒ , ๓ , ๔ นี่ไม่ภาวนา ให้มันตัดเองนะ เราอย่าไปช่วยตัดเข้า อย่างนี้ดีมาก ปล่อยตามนั้นนะ ทำจิตเป็นฌานไม่ช้าจะเป็นผลในที่สุด ยังไงจะไปวัดท่าซุงไม่ต้องใช้รถก็ได้ ถ้าถึงที่สุด..”
ผู้ถาม : “ไปได้หรือครับ?”
หลวงพ่อ : “ได้แน่! อันนี้ตรงเป๋ง!”
ผู้ถาม : “แหม..ได้ตอนนี้ก็ดี น้ำมงน้ำมันแพง แป๊บเดียวถึง…”
หลวงพ่อ : “ถ้าถึงขั้นนั้น อภิญญาเข้าทั้งหมด ถือว่าเป็นคาถาอภิญญาของท่าน ถ้าทำถึงจุดปลายทางนะคือ อภิญญาห้า ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไปเป็นอภิญญหก นี่ท่านมาแนะนำให้ อย่างพวกเราเคยผ่านมาแล้ว เป็นของสำหรับคนที่ได้มาแล้วจึงจะมีผล คนที่ทำไปเรื่อย ๆ ตามนั้นนะ แล้อย่าอยากนึกได้อภิญญานะ ตัวฟุ้งซ่านนะ นึกเอ๊ะ! กูจะเกาะล่ะวะ ๆ เลยอดเหาะเลย..”
ผู้ถาม : “เกิดเหาะไปวัดท่าซุงได้ แต่กลับไม่ได้ล่ะครับ?”
หลวงพ่อ : “ถ้าเหาะนี่ต้องไปได้มาได้ ไม่ใช่ปีติ ถ้าอุพเพงคาปีติ ลอยไปที่ใดที่หนึ่ง ปีติเคลื่อนมาไม่ได้ แต่อันนี้มันบังคับได้เลย ตามใจชอบ ดีไม่ดีไปโลกอังคาร พระศุกร์ พระเสาร์ แข่งกับฝรั่ง ฝรั่งลงทุนมาก เราไม่ต้องลงทุนเลย บางครั้งเผลอไม่ทันจุดธูป แป๊บเดียวถึง”
ผู้ถาม : “ข้างในไปหรือข้างนอกไป หรือไปทั้งข้างในข้างนอกครับ?”
หลวงพ่อ : “อันนี้ไปได้หมด ขี้เข้อไปหมด ตัวนี้อภิญญาใหญ่ นี่คาถาอภิญญาใหญ่นะ สำหรับคนที่ได้มาในชาติก่อน อภิญญาใหญ่ถ้าหากคนที่ไม่ได้มาในชาติก่อน ต้องเริ่มด้วยกสิณ ๑๐ อันนี้สำหรับคนที่เคยได้มาแล้วนะ..”

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อสอนวิธีฝึกทิพยโสตญาณ

ญาณนี้เป็นญาณในอภิญญาหก เป็นญาณที่สองรองจากอิทธิฤทธิญาณ ทิพยโสตญาณนี้เป็นญาณสร้างประสาทหูให้มีคุณสมบัติพิเศษกว่าประสาทหูธรรมดา สามารถฟังเสียงจากที่ไกลเกินหูสามัญจะได้ยินได้ เสียงเบาเสียงละเอียด เช่น เสียงอมนุษย์ เสียงเปรต เสียงอสุรกาย ที่นิยมเรียกกันว่าเสียงผี เสียงเทวดา เสียงพรหมและเสียงของท่านที่เข้าถึงจุดจบของพรหมจรรย์ ทิพยโสตญาณถ้าทำให้เกิดมีได้แล้ว จะฟังเสียงต่างๆ ตามที่กล่าวมาแล้วได้อย่างอัศจรรย์

เสียงหยาบละเอียดไม่เสมอกัน

เสียงต่างๆ ที่จะพึงฟังได้นั้น มีความหยาบละเอียดชัดเจนหนักเบาไม่เสมอกัน เสียงมนุษย์และสัตว์ที่ปรากฏร่างที่เห็นชัดเจน ย่อมมีเสียงดังมาก ฟังชัดเจน พวกมด ปลวก เล็น ไร ฟังเสียงเบามาก แต่ก็ยังเป็นเสียงหยาบ ฟังง่ายและสะดวกกว่าเสียงอมนุษย์ เสียงเปรต อสุรกาย และพวกยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค มีเสียงเบากว่าเสียงมนุษย์ และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตา และเห็นได้ด้วยการใช้กล้องขยายส่องเห็น

แต่ถ้าจะเปรียบกับพวกอทิสมานกายด้วยกันแล้ว บรรดาเสียงเปรต อสุรกาย ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค ก็จัดว่ามีเสียงหยาบมาก เสียงหนัก ดังมาก ได้ยินง่ายและชัดเจน เสียงของเทวดาชั้นกามาวจร ที่เรียกว่าอากาศเทวดา ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตตวสวัสดี รวมหกชั้นนี้เรียกว่าเทวดาชั้นกามาวจร เพราะยังมีอารมณ์ท่องเที่ยว คือมีความใคร่ในกามารมณ์ เป็นภูมิชั้นของเทวดาที่ยังมีความเสน่หาในกาม ยังมีการครองคู่เป็นสามีภรรยากันเยี่ยงมนุษย์ เทวดาทั้งหกชั้นนี้มีเสียงละเอียดและเบากว่า พวกเปรต อสุรกาย ยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ นาค

เสียงเทวดาชั้นกามาวจร ละเอียด เบาและไพเราะมาก ฟังแล้วรู้สึกนิ่มนวล สดชื่น แต่ทว่าเทวดาทั้งหกชั้นนี้ก็ยังมีเสียงหยาบกว่าเสียงพรหม พรหมมีเสียงละเอียดและเบามาก ฟังเสียงพรหมแล้ว ผู้ที่ได้ยินใหม่ๆ อาจจะเข้าใจว่า เป็นเสียงเด็กเล็กๆ หรือเสียงสตรี เสียงพรหมจะว่าแหลมคล้ายเสียงสตรีก็ไม่ใช่ จะว่าเหมือนเสียงเด็กเล็กๆ ก็ไม่เชิง ฟังแล้วก้ำกึ่งกันอย่างไรชอบกล ทุกท่านที่ได้ยินใหม่ๆ อดสงสัยไม่ได้ สำหรับเสียงท่านที่จบพรหมจรรย์นั้น เป็นเสียงที่ละเอียดและเบามาก ไม่ทราบว่าจะพรรณนาอย่างไรถึงจะตรงกับความเป็นจริง 

เรื่องของเสียงมีความหนักเบาแตกต่างกันอย่างนี้ แม้เสียงที่หยาบเป็นเสียงของมนุษย์และสัตว์ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้าอยู่ไกลสักหน่อย หูธรรมดาก็ไม่สามารถจะได้ยิน แต่ท่านที่ได้ทิพยโสตญาณ ท่านสามารถได้ยินเสียงได้ แม้ไกลกันคนละมุมโลก ท่านก็สามารถได้ยินเสียงพูดได้และรู้เรื่องละเอียดทุกถ้อยคำ แม้แต่เสียงอมนุษย์ เทวดา พรหม และเสียงท่านผู้จบพรหมจรรย์ก็เช่นเดียวกัน ท่านสามารถจะพูดคุยกับเทวดา พรหม ยักษ์ เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก ตลอดจนท่านผู้จบพรหมจรรย์ได้ทุกขณะที่ปรารถนาจะพูดคุยด้วย ท่านที่ได้ทิพยโสตญาณนี้ดูเหมือนจะมีกำไรในส่วนของการฟังมากเป็นพิเศษ

วิธีฝึกทิพยโสตญาณ

ทิพยโสตญาณจะมีขึ้นได้แก่นักปฏิบัติกรรมฐาน ก็ต้องอาศัยการฝึก สำหรับท่านที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคล หมายถึงท่านที่ไม่เคยได้ทิพยโสตญาณมาในชาติก่อนๆ ตามนัยวิสุทธิมรรคท่านให้ฝึกดังต่อไปนี้ ท่านให้สร้างสมาธิในกสิณกองใดกองหนึ่ง จะเป็นกองใดก็ได้ตามใจชอบ จนได้ฌาน ๔ แล้ว ท่านให้เข้าฌาน ๔ จนจิตเป็นอุเบกขารมณ์ เงียบสงัดจากอกุศลวิตก แล้วถอยหลังจิต คือค่อยๆ คลายสมาธิมาหยุดอยู่เพียงอุปจารสมาธิ แล้วค่อยๆ กำหนดจิตฟังเสียงที่ดังๆ ในที่ไกลพอได้ยินได้ และเสียงที่เบาลงไปเป็นลำดับ เช่น เสียงฆ้อง กลอง ระฆัง

กำหนดฟังให้ชัดเจน แล้วค่อยๆ เลื่อนฟังเสียงที่เบากว่านั้น ขณะที่กำหนดฟังอยู่นั้น ถ้าเห็นว่าอารมณ์จะฟุ้งซ่าน ก็เข้าฌาน ๔ เสียใหม่ เมื่อเห็นอารมณ์ใจสงัดดีแล้ว จึงค่อยคลายสมาธิมาหยุดอยู่ที่อุปจารฌาน แล้วค่อยๆ กำหนดฟังเสียงที่เบาลงเป็นลำดับจนเสียงเล็นเสียงไร เสียงที่อยู่ไกลคนละทวีป และเสียงผี เสียงเปรต เสียงยักษ์ กุมภัณฑ์ คนธรรพ์ เสียงนาค เทวดาชั้นกามาวจร เสียงพรหม เสียงท่านที่จบพรหมจรรย์ ค่อยเลื่อนขึ้นเป็นลำดับ แต่ทว่าการกำหนดฟังนั้น ต้องฟังให้ชัดเจนเป็นขั้นๆ ไป ถ้าฟังเสียงหยาบยังได้ยินไม่ชัดเจน ก็อย่าพยายามฟังเสียงที่ละเอียดกว่านั้น

ต้องฟังเสียงอันดับใดอันดับหนึ่ง ให้ได้ยินชัดแจ่มใสเสียก่อน แล้วจึงเลื่อนไปฟังเสียงที่ละเอียดกว่านั้น แล้วเข้าฌาน ๔ ออกฌาน ๔ ไว้เสมอๆ พยายามทำให้มากวันละหลายๆ ครั้ง ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคว่า ทำเป็นร้อยครั้งพันครั้ง ทำเสมอๆ อย่าเกียจคร้าน ถ้าได้แล้วก็อย่าละเลย ต้องทำไว้เสมอๆ จะได้เกิดความเคยชินคล่องแคล่วว่องไว จนกระทั่งคิดว่า จะต้องการฟังเสียงเมื่อไรก็ได้ยินเมื่อนั้น ไม่ว่าเสียงระดับใด อย่างนี้เป็นอันใช้ได้

ทิพยโสตญาณมีวิธีปฏิบัติตามที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคอย่างนี้ ขอนักปฏิบัติที่สนใจในญาณนี้ จงตั้งจิตอุตสาหวิริยะเป็นอันดี ไม่ท้อถอยแล้ว เป็นมีหวังสำเร็จผลทุกราย ไม่มีอะไรที่ท่านผู้มีความวิริยะอุตสาหะจะทำไม่สำเร็จ เว้นไว้แต่จะคุยโวโม้แต่ปากแต่ไม่เอาจริงเท่านั้น สำหรับฉฬภิญโญ ขอเขียนไว้เพียงเท่านี้ ญาณอื่นๆ นั้นได้เขียนไว้ในวิชชาสามครบถ้วนแล้ว

                                                                        จากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่ออธิบายเกี่ยวกับวิธีใช้ญาณต่างๆ

เมื่อเจริญฌานในกสิณจนถึงอุปจารฌานแล้ว ก็เริ่มสร้างทิพยจักษุญาณได้ เพราะทิพยจักษุญาณนั้น เริ่มมีผลตั้งแต่จิตเข้าสู่อุปจารฌาน มีผลในการรู้บ้างพอสมควร เช่นรู้สวรรค์ นรก และเหตุการณ์ต่างๆ ได้บ้าง ไม่ถึงกับรู้ตายรู้เกิด คือตายแล้วไปเกิดที่ใด ผู้ที่มาเกิดนั้นมาจากไหน รู้เหตุการณ์เพียงผิวเผินกว่านั้น เช่นรู้โรคว่าเป็นโรคอะไร หายได้ด้วยวิธีใด คนนี้จะมีเคราะห์ดีเคราะห์ร้าย ประการใด รู้เหตุในอดีตและอนาคตได้บ้างพอสมควร รู้สวรรค์ นรก ได้บ้าง แต่ไม่แจ่มใสนัก

พูดจากับเทวดาและพรหมได้บ้างคำสองคำ ภาพเทวดาและพรหมก็หายไป ภาพที่เห็นก็ไม่เห็นนาน ประเดี๋ยวก็หายไป จะเอาเรื่องราวที่เป็นการเป็นงานที่ต้องใช้เวลานานๆ ก็ต้องกำหนดจิตกันบ่อยครั้ง ทั้งนี้เพราะสมาธิเพียงอุปจารสมาธิ ยังเป็นสมาธิที่ทรงกำลังให้สงบอยู่ได้ไม่นาน ถ้าจะเปรียบ ก็คงเหมือนเด็กเพิ่งสอนเดิน ยืนไม่ได้นาน ยืนเดินได้ชั่วขณะก็ล้มต้องลุกๆ เดินๆ อยู่อย่างนั้น กว่าจะเดินถึงที่หมายก็ต้องล้มลุกบ่อยๆ 

ทิพยจักษุญาณระดับอุปจารฌานก็เหมือนอย่างนั้น การเห็นก็ไม่ชัดเจนแจ่มใส ยังเห็นไม่เต็มตัว เห็นบนไม่เห็นล่าง เห็นหน้าไม่เห็นขา อย่างนี้เป็นต้น ต่อเมื่อได้สมาธิที่ค่อยๆ ฝึกฝนไปนั้นเข้าถึงฌาน ๔ และเข้าฌานออกฌานชำนิชำนาญดีแล้ว ความตั้งมั่นมีมาก ดำรงอยู่ได้นานตามความต้องการ ทิพยจักษุญาณก็มีสภาพเข้าเกณฑ์สมบูรณ์ใช้งานได้สะดวก เห็นภาพเต็ม พูดกันได้ตลอดเรื่อง รู้ละเอียดจนถึงผลของการตายการเกิด รู้เหตุรู้ผลครบถ้วน

ตอนชำนาญในฌาน ๔ นี้ ท่านเรียกว่า จุตูปปาตญาณ ความจริงก็ทิพยจักษุญาณนั่นเอง แต่เป็นทิพยจักษุญาณที่มีฌานเต็มขั้น ทิพยจักษุญาณ ขั้นฌานโลกีย์นี้แม้จะเป็นญาณที่มีฌานเต็มขั้นก็ตาม การรู้การเห็นจะให้ชัดเจนแจ่มใสคล้ายกลางวันนั้นไม่ได้ อย่างดีก็มองเห็นได้มัวๆ คล้ายเห็นภาพเวลาพระอาทิตย์ลับแล้ว เป็นเวลาใกล้ค่ำ เห็นภาพดำๆ พอรู้ได้ว่าอะไรเป็นอะไร จะเห็นชัดเจนตามสมควรได้ต่อเมื่อเข้าถึงความเป็นพระอรหันต์ ท่านเปรียบการเห็นด้วยอำนาจทิพยจักษุญาณนั้นไว้ดังนี้

๑. พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นได้คล้ายดูภาพในเวลากลางวัน ที่มีอากาศแจ่มใส
๒. พระปัจเจกพุทธเจ้า เห็นได้คล้ายกลางคืน ที่มีพระจันทร์เต็มดวง ไม่มีเมฆหมอกปิดบัง
๓. พระอัครสาวกซ้ายขวา เห็นได้คล้ายคนจุดคบเพลิง
๔. พระสาวกปกติ เห็นได้คล้ายตนจุดประทีป คือตะเกียงดวงใหญ่ที่มีแสงน้อยกว่าคบเพลิง
๕. พระอริยะเบื้องต่ำกว่าพระอรหันต์ มีการเห็นได้คล้ายแสงสว่างจากแสงเทียน
๖. ท่านที่ได้ฌานโลกีย์ เห็นได้คล้ายแสงสลัวในเวลาพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า

ระดับการเห็นไม่สม่ำเสมอกันอย่างนี้ เพราะอาศัยความหมดจดและกำลังบารมีไม่เสมอกัน นำมากล่าวไว้เพื่อทราบ เมื่อท่านได้และถึงแล้วจะได้ไม่สงสัย มีนักปฏิบัติส่วนใหญ่ที่ทำได้แล้ว และเกิดเห็นไม่ชัดได้มาถามบ่อยๆ จึงเขียนไว้เพื่อรู้ การใช้ญาณ ได้กล่าวแล้วว่า ญาณต่างๆ มีความสว่างตามกำลังของฌานหรือสมาธิ ฉะนั้น เมื่อจะใช้ญาณให้เป็นประโยชน์ ก่อนอื่นถ้าได้ทิพยจักษุญาณเบื้องต้นก็ต้องเพ่งรูปกสิณตามกำลังของสมาธิก่อน เพราะเห็นภาพกสิณชัดเจนเท่าใด ภาพที่ต้องการจะเห็นก็เห็นได้เท่าภาพกสิณที่เห็น เมื่อเพ่งภาพกสิณจนเป็นที่พอใจแล้วจึงอธิษฐานให้ภาพกสิณหายไป ขอภาพที่ต้องการจงปรากฏแทน ภาพที่ต้องการก็จะปรากฏแทนเห็นได้เท่าภาพกสิณ

ได้ฌาน ๔

การใช้ญาณเมื่อชำนาญในฌาน ๔ แล้ว ท่านให้เข้าฌาน ๔ ให้เต็มขนาดของฌานก่อน จนจิตสงัดเป็นอุเบกขาดีแล้ว ค่อยๆ คลายจิตออกมาสู่อุปจารสมาธิ แล้วกำหนดจิตอธิษฐานว่า ขอภาพที่ต้องการจงปรากฏ แล้วเข้าฌาน ๔ ใหม่ ออกจากฌาน ๔ กำหนดรู้ภาพที่ต้องการจะปรากฏแก่จิตคล้ายดูภาพยนต์ พร้อมทั้งรู้เรื่องไปตลอดจะใช้ญาณอะไรก็ตาม ทำเหมือนกันหมดทุกญาณ จงพยายามฝึกฝนให้คล่องแคล่วว่องไว ต้องการเมื่อไรรู้ได้ทันที

การรู้จะคล่องหรือฝืดขึ้นอยู่กับฌาน ถ้าเข้าฌานออกฌานคล่องการกำหนดก็รู้ก็คล่อง ทั้งนี้ต้องหมั่นฝึกหมั่นเล่นทุกวันวันละหลายๆ ครั้ง เล่นทั้งวันทั้งคืนยิ่งดี ความเพลิดเพลินจะเกิดมีขึ้นแก่อารมณ์ ความรู้ความฉลาดจะปรากฏ ปัญญารู้แจ้งเห็นจริง ในส่วนแห่งวิปัสสนาญาณจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดาย นิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในการเกิดจะปรากฏแก่จิตอย่างถอนไม่ออก ความตั้งมั่นในอันที่จะไปสู่พระนิพพานจะเกิดแก่จิตอย่างชนิดไม่ต้องระวังว่าจิตจะคลายจากพระนิพพาน ผลของญาณแต่ละญาณที่จัดว่าเป็นคุณส่งเสริมให้เกิดปัญญาญาณนั้นจะนำมากล่าวไว้โดยย่อพอเป็นแนวคิด

๑. จุตูปปาตญาณ

ญาณนี้ เมื่อเล่นบ่อยๆ ดูว่าสัตว์ที่เกิดมานี้มาจากไหน สัตว์ที่ตายไปแล้วไปเกิดที่ไหน รู้แล้วอาศัย ยถากัมมุตาญาณ สนับสนุนให้รู้ผลของกรรม ญาณนั้นใช้ในคราวเดียวกันได้คราวละหลายๆ ญาณ เพราะก็เป็นผลของทิพยจักษุญาณเหมือนกัน เมื่อรู้ว่าบางรายมาจากเทวดาบ้าง มาจากพรหมบ้าง มาจากอบายภูมิ มีนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดียรัจฉานบ้าง สัตว์ที่ไปเกิดก็ทราบว่า ไปเกิดในแดนมนุษย์บ้าง สวรรค์บ้าง พรหมบ้าง และเกิดในอบายภูมิบ้าง คนรวยเกิดเป็นคนจน คนจนเกิดเป็นมหาเศรษฐี สัตว์เกิดเป็นมนุษย์เพราะผลของกรรมดีและกรรมชั่วที่สั่งสมไว้

เมื่อรู้เห็นความวนเวียนในความตายความเกิดที่เอาอะไรคงที่ไม่ได้อย่างนี้ มองเห็นโทษของสัตว์ที่เกิดในอบายภูมิ เห็นความสุขในสวรรค์และพรหม และเห็นความไม่แน่นอนในการเกิดเป็นเทวดาหรือพรหม ที่ต้องจุติคือตายจากสภาพเดิมที่แสนสุข มาเกิดในมนุษย์หรืออบายภูมิ อันเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความทุกข์เพราะความไม่แน่นอนผลักดัน เป็นผลของอนัตตาที่เป็นกฎประจำโลกไม่มีใครจะทัดทานห้ามปรามได้

มองดูการวนเวียนในการตายและเกิดไม่มีอะไรสิ้นสุด ในที่สุดก็มองเห็นทุกข์ เป็นการเห็นอริยสัจ มีความเบื่อหน่ายในการเกิด เป็นนิพพิทาญาณในวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่เกิดจากญาณในสมถะคือจุตูปปาตญาณ ญาณนี้ได้สร้างปัญญาในวิปัสสนาญาณให้เกิดขึ้นเพราะผลของสมถะ คือ จุตูปปาตญาณ เพราะเหตุที่่สาวหาต้นสายปลายเหตุจากการเกิดและการตาย ในที่สุดก็เกิดการเบื่อหน่ายดังว่ามาแล้ว ถ้าปฏิบัติถึงแล้วจงแสวงหาความรู้จากความเกิดและความตายของตนเอง และสัตว์โลกทั้งมวล ทุกวันทุกเวลา จะเป็นครูสอนตนเองได้ดีที่สุด ผลดีจะมีเพียงใด ท่านจะทราบเองเมื่อปฏิบัติถึงแล้ว

๒. เจโตปริยญาณ

เจโตปริยญาณ แปลว่ารู้ใจคน คือรู้อารมณ์จิตใจคนและสัตว์ ว่าขณะนี้เขามีอารมณ์จิตเป็นอย่างไร มีความสุขหรือทุกข์ หรือมีอารมณ์ผ่องใส เพราะไม่มีอะไรมารบกวนจิตใจให้ขุ่นมัวที่เรียกว่าอุเบกขารมณ์ คืออารมณ์เฉยๆ ไม่มีสุขและทุกข์เจือปน รู้จิตของผู้นั้น แม้แต่จิตของเราเองว่า มีกิเลสอะไรเป็นกิเลสนำ คือมีอะไรกล้าในขณะนี้ จิตของผู้นั้นเป็นจิตประกอบด้วยกุศลหรืออกุศล เป็นจิตของท่านผู้ทรงฌาน หรือเป็นจิตประกอบด้วยนิวรณ์รบกวน เป็นพระอริยะชั้นใด 

การจะรู้จิตของท่านผู้ใดว่ามีอารมณ์จิตของผู้ทรงฌานหรือเป็นพระอริยะอันดับใดนั้น เราเองต้องเป็นผู้ทรงฌานระดับเดียวกันหรือสูงกว่า การจะรู้ว่าท่านผู้นั้นเป็นพระอริยเจ้าหรือไม่และระดับใด เราก็ต้องเป็นพระอริยะด้วยและมีระดับเท่าหรือสูงกว่า ท่านที่มีฌานต่ำกว่าจะรู้ระดับฌานของท่านผู้ได้ฌานสูงกว่าไม่ได้ ท่านที่ไม่ได้ทรงความเป็นอริยะจะรู้คุณสมบัติทางจิตของพระอริยะไม่ได้ ท่านที่เป็นพระอริยะต่ำกว่าจะรู้ความเป็นพระอริยะสูงกว่าไม่ได้

กฎนี้เป็นกฎตายตัวควรจดจำไว้อย่าพยากรณ์บุคคลผู้ทรงคุณสูงกว่า ถ้าไม่ได้อะไรเลยก็จงอย่ากล้าพยากรณ์ผู้อื่น เพราะพยากรณ์พลาดจากความเป็นจริง มีโทษหนักในทางปฏิบัติ เพราะเราจะกลายเป็นโมฆโยคีไป คือประกอบความเพียรด้วยการไร้ผล ในฐานะที่อาจเอื้อมยกตนเหมือนพระอริยะ เป็นกรรมหนักมาก ควรละเว้นเด็ดขาด

สีของจิต

สีของจิตนี้ ในที่บางแห่งท่านเรียกว่า “น้ำเลี้ยงของจิต” ปรากฏเป็นสีออกมาโดยอาศัยอารมณ์ของจิตเป็นตัวเหตุ สีนั้นบอกถึงจิตเป็นสุข เป็นทุกข์ อารมณ์ขัดข้องขุ่นมัวหรือผ่องใส ท่านโบราณาจารย์ท่านกล่าวไว้ดังนี้ 

๑. จิตที่มีความยินดีด้วยการหวังผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมี สีแดง ปรากฏ
๒. จิตที่มีอารมณ์โกรธ หรือมีความอาฆาตจองล้างจองผลาญ กระแสจิตมี สีดำ
๓. จิตที่มีความผูกพันด้วยความลุ่มหลง เสียดายห่วงใยในทรัพย์สิน และสิ่งที่มีชีวิต กระแสจิตมี สีคล้ายน้ำล้างเนื้อ
๔. จิตที่มีกังวล ตัดสินใจอะไรไม่ได้เด็ดขาด มีความวิตกกังวลอยู่เสมอ กระแสจิตมี สีเหมือนน้ำต้มถั่วหรือน้ำซาวข้าว
๕. จิตที่มีอารมณ์น้อมไปในความเชื่อง่าย ใครแนะนำอะไรก็เชื่อ โดยไม่ใคร่จะตริตรอง ทบทวนหาเหตุผลว่าควรหรือไม่เพียงใด คนประเภทนี้เป็นประเภทที่ถูกต้มถูกตุ๋นเสมอๆ จิตของคนประเภทนี้กระแสมี สีเหมือนดอกกรรณิการ์ คือสีขาว
๖. คนที่มีความเฉลียวฉลาด รู้เท่าทันเหตุการณ์เสมอ เข้าใจอะไรก็ง่าย เล่าเรียนก็เก่ง จดจำได้ดี ปฏิภาณ ไหวพริบก็ว่องไว คนประเภทนี้ กระแสจิตมีสีผ่องใสคล้ายแก้วประกายพรึกหรือในบางแห่งท่านว่า คล้ายน้ำที่ปรากฏกลิ้งอยู่ในใบบัว คือมี สีใสคล้ายเพชร

สีของจิตโดยย่อ

เพื่อประโยชน์ในการสังเกตง่ายๆ แบ่งสีของจิตออกเป็นสามอย่าง คือ

๑. จิตมีความดีใจ เพราะผลอย่างใดอย่างหนึ่ง กระแสจิตมี สีแดง 
๒. จิตมีทุกข์เพราะความปรารถนาไม่สมหวัง กระแสจิตมี สีดำ 
๓. จิตบริสุทธิ์ผ่องใสไม่มีกังวล คือสุขไม่กวน ทุกข์ไม่เบียดเบียน จิตมี สีผ่องใส
กายในกาย

เมื่อรู้ลักษณะของจิตแล้ว ก็ควรรู้ลักษณะของกายในไว้เสียด้วยในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกายในกายไว้ สำหรับนักปฏิบัติขั้นต้นก็ถือเอาอวัยวะภายใน เป็นกายในกาย ส่วนท่านที่ได้จุตูปปาตญาณแล้ว ก็ถือเอากายที่ซ้อนกายอยู่นี้เป็นกายในกาย กายในกายนี้มีไดอย่างไร ขอตอบว่าเป็นกายประเภท อทิสมานกาย คือดูด้วยตาเนื้อไม่เห็น ต้องดูด้วยญาณจึงเห็น ตามปกติกายในกายหรือกายซ้อนกายนี้ก็ปรากฏตัวให้เจ้าของกายรู้อยู่เสมอในเวลาหลับ ในขณะหลับนั้น ฝันว่าไปไหนทำอะไรที่อื่นจากสถานที่เรานอนอยู่ ตอนนั้นเราว่าเราไป และทำอะไรต่ออะไรอยู่ความจริงเรานอนและเมื่อไปก็ไปจริงจำเรื่องราวที่ไปทำได้ บางคราวฝันว่าหนีอะไรมา พอตื่นขึ้นก็เหนื่อยเกือบตาย กายนั้นแหละ ที่เป็นกายซ้อนกาย หรือกายในกาย ตามที่ท่านกล่าวไว้ในมหาสติปัฏฐาน ตามที่นักเจโตปริยญาณต้องการรู้
ตามที่กล่าวมา ตั้งแต่ข้อหนึ่งถึงข้อสี่นั้น กล่าวว่า ท่านพวกนั้นตายแล้วไปเกิดที่นั้นๆ หมายถึงว่าท่านพวกนั้นไม่สร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่มีกำลังแรงกว่าที่เห็น พวกไปสร้างกรรมดีหรือกรรมชั่วที่แรงกว่า ก็ย่อมไปเสวยผลตามกรรมที่ให้ผลแรงกว่า

เจโตปริยญาณมีผลตามที่กล่าวมาแล้ว การรู้อารมณ์จิตนั้นมีประโยชน์มาก โดยเฉพาะก็คือการรู้อารมณ์จิตของตนเองนั่นแหละสำคัญมาก จะได้คอยสกัดกั้นอารมณ์ชั่วร้ายที่เป็นกิเลสและอุปกิเลสไม่ให้มาพัวพันกับจิต ด้วยการคอยตรวจสอบกระแสจิตดูว่าขณะนี้จิตเราจะมีสีอะไร ควรรังเกียจสีทุกประเภท อย่าให้สีทุกอย่างแม้แต่นิดหนึ่งปรากฏแก่จิต เพราะสีทุกอย่างที่ปรากฏนั้น เป็นอาการของกิเลสทั้งสิ้น สีที่ต้องการและสนใจเป็นพิเศษก็คือ สีใสคล้ายแก้ว ควรแสวงหาให้มีประจำจิตเป็นอันดับแรก ต้องเป็นแก้วทั้งแท่ง อย่าให้มีแกนที่เป็นสีปนแม้แต่นิดหนึ่ง สีที่เป็นแก้วนี้ เป็นอาการของจิตที่ทรงฌาน ๔ 

ท่านผู้ทรงฌาน ๑ หรือที่เรียกว่าปฐมฌาน จะมีกระแสจิตเหมือนเนื้อที่ถูกแก้วบางๆ เคลือบไว้ภายนอก
ท่านที่ทรงฌาน ๒ หรือที่เรียกว่าทุติยฌาน มีภาพเหมือนแก้วเคลือบหนาลงไปครึ่งหนึ่ง 
ท่านที่ทรงฌาน ๓ หรือที่เรียกว่าตติยฌาน มีภาพเหมือนแก้วเคลือบหนามาก เห็นแกนในสั้นไม่เต็มดวงและเป็นแกนนิดหน่อย 
ท่านที่ทรงฌาน ๔ หรือที่เรียกว่าจตุตถฌาน กระแสจิตจะดูเป็นแก้วทั้งดวง เป็นเสมือนก้อนแก้วลอยอยู่ในอก

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงปู่ปานอธิบายเรื่องการเสกพระ

คราวนี้มาว่ากันถึงเรื่องผ้ายันต์ ในเมื่อนายประยงค์ ตั้งตรงจิตร เจ้าของห้างขายตราใบโพธิ์มาถวายหลวงพ่อปานจำนวนหลายพันผืน เมื่อเขาพิมพ์มาแล้วหลวงพ่อปานก็สั่งหลวงพ่อเล็กให้เอาผ้ายันต์ไปเสก หลวงพ่อเล็กนำมาเสก ๓ เดือน ถือว่าครบไตรมาสพรรษาหนึ่งพอดี หลวงพ่อเล็กนี่เราทราบกันอยู่ว่าท่านได้สมาบัติ ๘ แต่ว่ายิ่งไปกว่านั้นสำหรับวิปัสสนาญาณนี่จะได้อะไรฉันไม่ทราบ ฉันไม่หลอกสิ่งที่จะรู้กันได้ ถ้าเราได้ถึงไหนเราก็รู้กันว่าคนอื่นเขาได้ถึงเพียงนั้น ที่รู้เลยไปเราไม่รู้ ตอนนั้นฉันก็ยังทรงสมาบัติ ๘ เหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้ฝึกอภิญญาครบถ้วน เลยกลายเป็นพระไม่ใช่อภิญญา นี่ฟังให้ดีนะ สมาบัติ ๘ ก็อาศัยกสิณกองใดกองหนึ่งเป็นพื้นฐาน 

ไม่จำเป็นต้องใช้กสิณทั้งหมก ๑๐ อย่าง ใช้กสิณกองใดกองหนึ่งเป็นพื้นฐานยกเอารูปขึ้นมาตั้งแล้วก็เพิกกสิณนั้นเสีย แล้วใช้อรูปฌานขึ้นมาแทน ถ้าทำได้ทั้ง ๔ อย่างก็เรียกว่าทรงอรูปฌาน ๔ อย่าง ได้เป็นฌาน ๘ ไป นี่ฟังกันไว้เท่านี้นะ หลวงพ่อเล็กได้ฌาน ๘ สมาบัติ ๘ เลยกว่านั้นฉันไม่รู้ เมื่อได้รับผ้ายันต์มาแล้วก็มานั่งเสก เสกด้วยอำนาจของสมาธิ เข้าฌานสมาบัติ ๓ เดือน เวลากลางคืนนา เสกกี่ชั่วโมงไม่ทราบ แต่ว่าไม่ใช่ว่าตลอดวันตลอดคืน อย่านึกว่าตลอดวันตลอดคืน ๓ เดือน ไม่ลูก ไม่กินข้าวไม่กินปลา นี่มันก็เกินคนไป ว่ากันตามแบบปกติ 

ฟังเรื่องของพระนะ พอครบ ๓ เดือนวันออกพรรษาหลวงพ่อเล็กเรียกฉันเข้าไป บอกให้แบกผ้ายันต์ ฉันคนเดียวมันแบกไม่ไหว ก็เอาไอ้เพื่อนอีก ๓ คนมาช่วยกันแบกผ้ายันต์มาถวายหลวงพ่อปาน ยังไม่ทันจะถึงเลย ห่างอีกประมาณสัก ๑๐ วาได้กระมัง หลวงพ่อปานเห็นเข้า ท่านโบกมือโบกไม้บอกว่า ไม่เอาๆ ยังไม่เสร็จ ยังไม่เสร็จ ยังใช้ไม่ได้ นี่ท่านร้องไป ก็เป็นอันว่าไม่เอาเข้าไปให้ท่าน เอากลับ ตอนนี้หลวงพ่อเล็กกลับมาก็นึกในใจว่า นี่เราทำขนาดนี้ยังใช้ไม่ได้ ใครที่ไหนจะยิ่งไปกว่าเรานะ เราเข้าถึงสมาบัติ ๘ นี่ท่านบ่นนะ เราเข้าถึงสมาบัติ ๘ แล้วก็คลายสมาธิลงมาพิจารณาวิปัสสนาญาณ จนกระทั่งอารมณ์จิตเป็นแก้วทั้งหมด เป็นแก้วประกายพฤกษ์ทั้งหมดแล้วเราจึงเข้าสมาธิใหม่ จัดเป็นโลกุตตรญาณ แล้วเราก็อธิษฐานจิต นี่ยังใช้ไม่ได้ ก็ใครจะเสกยิ่งไปกว่านี้ ท่านบ่นให้ฟัง ท่านก็บอกว่า เอา ในเมื่อท่านใหญ่บอกว่าใช้ไม่ได้

ฉันก็จะทำให้ใหม่ ตอนนี้ท่านไปทำใหม่ ๗ วัน ท่านทำยังไงบ้างฉันไม่ทราบ เวลาท่านทำไม่ได้เข้าไปยุ่งกับจิตใจของท่าน พอครบ ๗ วัน ท่านมาเรียกพวกฉันไปให้ไปแบกมาให้หลวงพ่อปาน ตอนนี้เองพอแบกมาหลวงพ่อปานเห็นแต่ไกลก็กวักมือกวักไม้บอก เออๆ เอามาๆๆ อย่างนี้ซิมันถึงจะใช้ได้ ไอ้คนเก่งคนเดียวน่ะมันใช้ไม่ได้ มันต้องให้คนอื่นเขาเก่งกว่า เก่งคนเดียวใช้ไม่ได้ ทำอย่างนี้ใช้ได้ เมื่อเข้าไปถึงหลวงพ่อเล็กก็กราบหลวงพ่อปาน ฉันก็กราบ เพื่อนฉันก็กราบ ไอ้ฉันน่ะมันคนชอบสงสัย ไอ้เพื่อนๆมันเรียกไอ้ปากหมา สมัยนั้นเขาไม่เรียกปากลิงหรอก เขาเรียกปากหมา เมื่อสงสัยอะไรขึ้นมาชอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ สงสัยใครขึ้นมาชอบสอบถาม ไปถามเพื่อนมันบ่อยๆ มันเลยเรียกไอ้พระปากหมา ช่างมันเถอะ ความจริงถ้าปากฉันเป็นหมาได้ฉันจะดีใจ ปากหมาน่ะมันกินไม่เลือก กระดกกระดูกมันกินได้ ของแข็งยังไงมันกินได้ วาจาของเพื่อฉันมันไม่ศักดิ์สิทธิ์ เวลานี้ปากฉันกินของแข็งก็ไม่ได้ มันไม่เท่าหมาเสียแล้ว ไปเห็นหมามันเคี้ยวกระดูก หมามันเคี้ยวอะไรต่ออะไรได้อย่างไม่รังเกียจ รักษาชีวิตของมันด้วยอาหารต่างๆ ฉันอยากจะทำอย่างนั้นบ้างทำไม่ได้ ถ้าปากฉันเป็นหมาจริงๆ ละก็น่ากลัวจะทำได้ แล้วฉันจะสบายกว่านี้มาก

นี่ปากฉันดันเป็นปากคน แล้วก็ไม่เท่าปากคนธรรมดา เลยรักษาตัวยากหน่อย เสียท่า ไอ้เพื่อนมันพูดไม่ตรง
ต่อไป ฉันถามหลวงพ่อเล็กว่า หลวงพ่อขอรับ ตอนก่อนหลวงพ่อเสกยังไงหลวงพ่อปานจึงว่าใช้ไม่ได้ หลวงพ่อเล็กบอกว่า ตอนก่อนฉันเข้าสมาบัติ ๘ แล้วใช้วิปัสสนาญาณเต็มที่ คลายจิตออกมาถึงอุปจารสมาธิ อธิษฐานแล้วก็เข้าสมาบัติ ๘ ใหม่ เท่านี้ ๓ เดือน ไม่ได้ขาดเลยทุกคืน คืนละ ๓ ชั่วโมง ท่านใหญ่บอกว่าใช้ไม่ได้ หลวงพ่อปานท่านก็ออกมาบอก ยังงี้ใช้ไม่ได้ดอกคุณเล็ก คุณเล็กอย่างนี้ใช้ไม่ได้นะ คือว่าถ้าเราทำอะไรถ้าเก่งคนเดียวมันใช้ไม่ได้ ไอ้เราเองน่ะมันไม่ดีพอ ต้องให้คนอื่นเขาดีบ้าง จึงได้ถามหลวงพ่อเล็กใหม่ว่า หลวงพ่อขอรับ ตอน ๗ วันนี่ หลวงพ่อทำยังไงขอรับ ท่านบอกว่าในเมื่อฉันใช้สมาบัติ ๘ ท่านใหญ่บอกว่าใช้ไม่ได้ ฉันก็กลับ คราวนี้ฉันไม่เอาละ ฉันก็ตั้งท่าบวงสรวงชุมนุมเทวดา อาราธนาบารมีพระทั้งหมดตั้งแต่พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอริยสาวกทั้งหมด พรหมทั้งหมด เทวดาทั้งหมด ครูบาอาจารย์ทั้งหมด ฉันยกยอดเลย ยกยอด 

ในเมื่ออาราธนาเห็นท่านมากันครบถ้วน แล้วท่านมาทำกันคืนหนึ่งประเดี๋ยวเดียว สัก ๑๐ นาทีท่านก็กลับ แล้วท่านก็บอกให้เลิก ฉันก็นอน ฉันทำมาแบบนี้ถึง ๖ วัน ถึงวันที่ ๗ ทุกท่านมา แต่ไม่มีใครทำ ท่านบอกว่าไม่มีอะไรจะบรรจุแล้ว คุณจะให้ฉันทำอะไร ฉันก็เลยเลิก ถึงได้ให้พวกเธอแบกมาให้ท่านใหญ่ นี่ท่านเรียกหลวงพ่อปานว่าท่านใหญ่ หลวงพ่อปานฟังแล้วก็หัวเราะก๊าก บอกจริงที่คุณเล็กพูดน่ะ จริงนะอาจารย์เล็ก อาจารย์เล็กท่านเรียกอาจารย์เล็กบ้าง คุณบ้าง ที่อาจารย์เล็กพูดนั่นน่ะจริง พวกเธอจงจำไว้นะ การที่เราจะเสกพระเสกผ้ายันต์อะไรต่ออะไรนี่น่ะ ถ้าเสกด้วยอำนาจกำลังของเราละไม่ช้ามันก็เสื่อม เราน่ะมันดีแค่ไหน การเสกว่าคาถาต่างๆ

นี่ก็เป็นการอาราธนาบารมีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือเทวดา หรือพรหมมาช่วย แต่ว่าคาถาบางอย่างก็จะว่าแต่เฉพาะบางจุด การเสกพระเสกเจ้า หรือเสกผ้ายันต์ เสกอะไรต่ออะไรพวกนี้ ถ้าเราเอาตัวของเราออกเสีย เราไม่เข้าไปยุ่ง แต่อาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระอริยสาวกทั้งหมด พรหมหรือเทวดาทั้งหมดท่านมาช่วย ท่านทำประเดี๋ยวเดียว ๒-๓ นาทีมันก็เสร็จ ดีกว่าเราทำ ๑,๐๐๐ ปี แล้วเราจะเอาอะไรบ้างก็อาราธนาบอกท่าน บอกว่าขอให้ใช้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่อย่าลืมนะ ถ้าใช้ในทางทุจริตหรือกฎของกรรมบังคับ ไม่มีอะไรจะคุ้มครองใครได้ ถ้าหากว่าใครเลวอยู่แล้วก็คอยพยุงๆให้เลวน้อยลงไปนิดหนึ่งได้ ถ้าใครดีขึ้นมาหน่อยก็พยุงให้ดีมากได้ นี่เป็นกฎของอำนาจพุทธบารมี ธรรมบารมี สังฆบารมี และพรหม และเทวดาทั้งหลาย ท่านพูดแล้วท่านก็ชอบใจ

บอกว่าคุณเล็กทำถูก ตอนก่อนฉันรู้ ไปตั้งท่าเข้าสมาบัติอยู่คืนละ ๒-๓ ชั่วโมง ฉันนั่งอยู่ที่กุฏินี่ฉันก็รู้ แต่ที่ฉันไม่บอกไว้ก่อนเพราะจะให้คุณเล็กนี่นะรู้เอง การทำตัวเป็นคนเก่งเองน่ะมันใช้ไม่ได้ มันต้องให้พระท่านเก่งซี พระพุทธท่านเก่ง พระธรรมท่านเก่ง พระสงฆ์ท่านเก่ง พรหมท่านเก่ง เทวดาท่านเก่ง ของที่เราทำ เราจะไปตามคุ้มครองชาวบ้านชาวเมืองได้ยังไงทุกคน ถ้าหากพระก็ดี พรหมก็ดี เทวดาก็ดี ท่านช่วยคุ้มครอง ท่านก็มองเห็นได้ถนัด สงเคราะห์เขาได้โดยสะดวก

นี่ตอนนี้ นี่นำมาเล่าให้แก่บรรดาลูกหลานฟัง จะได้ทราบถึงวิธีการปลุกพระ ปลุกผ้ายันต์ ถ้าพระเข้าขั้นที่เรียกว่าได้ทิพยจักษุญาณโดยมากเขาไม่ทำเองนะ เขาเที่ยววานชาวบ้านมาทำ พูดว่าชาวบ้านมันก็ต่ำไป วานพระมาทำ พระพุทธเจ้าบ้าง พระปัจเจกพุทธเจ้าบ้าง พระอริยสงฆ์บ้าง เทวดาบ้าง พรหมบ้าง อันนี้ก็สบายดี แต่หากว่าทำเองไม่ช้ามันก็เจ๊ง ตัวเองยังคุ้มครองตัวเองไม่ค่อยได้ คนทำมันก็ตายนี่ แล้วมันจะไปคุ้มครองความตายของใครเขาได้ นี่ว่ากันตามธรรมดานะ ตอนนี้ที่นำมาเล่าให้ฟังก็เพื่อจะชี้ว่าหลวงพ่อปานนี่น่ะท่านมีเจโตปริยญาณ หรือว่าทิพยจักษุญาณดีมาก แจ่มใสมาก ขนาดลูกศิษย์ทำอะไรอยู่ที่ไหนท่านรู้ อย่างฉันนี่นะไปทำผีเข้าผีออกที่ไหนท่านรู้ โกหกท่านไม่ได้สักที หลายวาระแล้วตั้งใจจะโกหกท่าน ปิดไม่ได้

พอเห็นหน้าเข้าชี้หน้าเลย ไม่ทันจะถามเสียด้วยซี แล้วไม่ทันจะบอก ไม่ได้สอบสวน ชี้หน้าแล้วก็พูดเรื่องที่ฉันไปสร้างความระยำเลย นี่ฉันเองน่ะโดนมากกว่าคนอื่น พระอื่นๆ เขาไม่โดนมากเท่าฉันหรอก ฉันน่ะมันใกล้ชิดท่านมาก โดนมาก แล้วก็เกเรมาก ขโมยก็เก่ง ขโมยไม่ใช่อะไร ขโมยคาถา อยากจะทดลองสมาธิ ทำได้แล้วก็ทิ้งน้ำไป

ที่มา หนังสือประวัติหลวงพ่อปาน

by admin admin ไม่มีความเห็น

กำลังใจกับอภิญญา

พระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง)
<o

รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน จากหนังสือ ธรรมที่นำสู่ความทุกข์ (เล่ม4)

หลังจากนั้นสมเด็จองค์ปฐม ทรงเมตตาตรัสสอนเรื่องกำลังใจกับอภิญญาว่า

  1. อยากได้อภิญญาไหม? (ตอบว่าอยากได้ แต่กำลังใจเจ้ามันไม่สู้) ทรงตรัสว่า ทุกอย่างต้องอาศัยกำลังใจ การจักได้อภิญญาใหญ่ ก็ต้องอาศัยกำลังใจ การจักมานิพพานก็ต้องอาศัยกำลังใจ แต่ว่าเจ้าจงอย่าสนใจอภิญญาให้มากจนเกินไป อย่าเพิ่งคิดเอากายเนื้อไปไหนๆ จงซักซ้อมเอากายใจมาพระนิพพานในชั่วขณะจิตดีกว่า<o
  2. สนใจกับการชำระจิตให้ปลดสังโยชน์ อันเป็นหนทางพ้นทุกข์ได้ดีกว่า อภิญญาใหญ่ใหญ่จักได้หรือไม่ได้อย่าพึงสนใจ<o
  3. เอาความขยันไปตัดสังโยชน์ดีกว่า เพราะเล่นฤทธิ์ก็จักเป็นการถ่วงการบรรลุมรรคผล อย่างวันที่พิจารณาถึงทุกข์ทั้งภายในภายนอกและภายใน ก็จัดได้ว่าพอใช้ จงหมั่นทบทวนอยู่เสมอๆ พยายามให้จิตทรงตัว พิจารณาจนยอมรับทุกข์นั้นอย่างจริงใจ<o
  4. หลังจากนั้นก็พิจารณาถึงสมุทัย เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ด้วย ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำจิตจักยอมรับความจริงของกฏธรรมดายิ่งขึ้น พิจารณาให้สม่ำเสมอ อย่าคิดทิ้งคิดขว้าง รวดเร็วเกินไป จิตมันไม่ยอมรับ<o
  5. โทษและทุกข์ของกาม และ กามสัญญา ต้องหมั่นคิดทบทวน ใคร่ครวญอยู่เสมอ<o
  6. เช่นเดียวกันกับอารมณ์ปฏิฆะ ทำให้เกิดโทษและทุกข์อย่างไร ก็หมั่นคิดทบทวนเช่นกัน<o
  7. การตัดราคะและปฏิฆะต้องตัดพร้อมๆกัน ตัวหนึ่งเบาอีกตัวหนึ่งก็ต้องเบาไปด้วย เพราะทุกข์และโทษของปฏิฆะและราคะ ล้วนทำให้ต้องมาเกิดทั้งสิ้น<o
  8. หมั่นดูอารมณ์จิตให้ดีๆ ดูด้วยอารมณ์เบาๆ จิตจักสบาย อย่าดูด้วยอารมณ์เครียด และมีอารมณ์หดหู่ได้ง่าย ข้อนี้จึงพึงระมัดระวังให้จงหนัก<o

<o

ในวันต่อมาพระพุทธองค์ก็ทรงเมตตา ช่วยตรัสสอนต่อ<o

เรื่องอารมณ์หนักใจ คือความเครียดจากลืมอานาปาว่า<o

1.จักอยู่ที่ใดก็ตาม จักทำงานประเภทใดก็ตาม ต้องกำหนดจิตจับกรรมฐานรู้อยู่ตลอดเวลา<o

2.พยายามทำให้เกิดความเคยชินในอารมณ์ สมถะและวิปัสสนานั้นๆ<o

<o

3.รู้ด้วยอารมณ์เบา ๆ ทำให้จิตสบายๆ เวลานี้อารมณ์จิตของเจ้ายังค่อนข้างหนักอยู่ เกาะเวทนาของร่างกายมากเกินไป เวทนาย่อมรู้แล้จงหมั่นวางจิตให้สบายอย่าไปยึกเกาะเวทนานั้นๆ<o

<o

4.และจงอย่าลืมรู้ลมให้มากๆ เพราะอานาปานุสติกรรมฐานนี้ สามารถระงับเวทนาของร่างกายได้อยู่แล้ว อย่าปล่อยจิตให้เกาะเวทนามาเกินไป เพราะอาการเวทนาจักดึงจิตให้ฟุ้งซ่าน ก็พึงยิ่งต้องรู้ลม เพราะอานาปานุสสติระงับความฟุ้งซ่านได้อย่างดี
<o

5.อนึ่ง เป็นปกติของคนเรา เมื่อร่างกายเจ็บไข้ได้ป่วย อารมณ์วิตกจริตมันเกิดขึ้น ก็ต้องหมั่นรู้ลมให้มากขึ้น เพราะอานาปานุสสติแก้วิตกจริตได้เป็นอย่างดีเช่นกัน<o

<o

6.อนึ่ง ควรคิดพิจารณาให้จิตยอมรับกฏของธรรมดา ว่าสภาพที่แท้จริงของร่างกาย ย่อมเป็นเพื่ออาพาธ (ป่วย)เป็นธรรมดา<o

<o

7.ไม่มีร่างกายของผู้ใดที่เกิดมาแล้ว จักไม่มีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียน ชิคัจฉา ปรมา โรคา แม้ความหิวก็ได้ชื่อว่าเป็นโรคที่เบียดเบียนอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นขึ้นชื่อว่ามีร่างกายย่อมหนีอาพาธไปไม่พ้น <o

8.เมื่อเป็นเช่นนี้จงอย่าหนี ทำจิตให้ยอมรับความเป็นจริงของร่างกาย เบื่อหน่ายร่างกายด้วยเห็นทุกข์ เห็นโทษของร่างกายทำจิตให้คลายกำหนัดในการอยากมีร่างกายนี้เสีย ด้วยเห็นสภาพธาตุ 4 มาประชุมกันเป็นอาการ 32 เป็นของสกปรกและไม่เที่ยง มีความเสี่อม และสลายตัวไปในที่สุด<o

9.เมื่อไม่อยากมีร่างกายเกิดขึ้นในอารมณืจิตแล้ว ก็จงอย่าทำอารมณืจิตให้เครียด จงปล่อยวางอารมณ์ที่หนักใจนั้นเสีย จิตจักเป็นสุข มีอารมณ์เบาได้ (ก็รับคำสั่งสอนนั้น แต่ก็ยังมีความหนักใจ เพราะวางอารมณ์เบื่อไม่ได้<o

10.ทรงตรัส ที่ยังวางไม่ลง เพราะจิตไร้กำลังตัดสักกายทิฏฐิ การพิจารณายังไม่ถึงที่สุด คือจิตยังยึดเกาะร่างกายอยู่เจ้าก็ต้องอาศัยรู้ลม ทำอานาปานุสสติให้จิตมีกำลัง<o

11.การเข้าถึงฌาน จิตจักสงบได้เป็นระยะๆ ตามที่ต้องการตราบนั้น จิตจักสงบได้เป็นระยะๆ ตามที่ต้องการตราบนั้นจิตจักมีกำลังพิจารณาร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเราได้จนถึงที่สุด เมื่อนั้นจิตจักยอมรับกฎของธรรมดา และวางอารมณ์หนักใจลงได้<o

12.เจ้าเห็นความสำคัญของอาณาปนุสสติหรือยัง เห็นแล้วก็จงหมั่นให้มากๆ กรรมฐานทุกกอง จักเป็นผลขึ้นมาได้ ก็ด้วยอานาปานุสสตินี้ พยายามรู้ลมให้มากในระยะนี้จักอยู่ในอิริยาบถไหนก็ตาม จักทำงานอะไรอยู่ก็ตามให้จิตกำหนดรู้ลมให้มากๆ

พระราชพรหมยานมหาเถระ (หลวงพ่อฤาษีวัดท่าซุง)
<o

รวบรวมโดย พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน จากหนังสือ ธรรมที่นำสู่ความทุกข์ (เล่ม4)
หน้าที่51-54

by admin admin ไม่มีความเห็น

องค์ฌานในกสิณทั้ง ๑๐ กอง

ปฐมฌาน 

มีองค์ ๕ คือ วิตก มีอารมณ์จับอยู่ที่ปฏิภาคนิมิต กำหนดจิตจับภาพปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ วิจาร พิจารณาปฏิภาคนิมิตนั้นคือพิจารณาว่า รูปปฏิภาคนิมิตสวยสดงดงาม คล้ายแว่นแก้วที่มีคนชำระสิ่งเปรอะเปื้อนหมดไป เหลือไว้แต่ดวงเก่าที่บริสุทธิ์สะอาดปราศจารธุลีต่าง ๆ ปีติ ๕ ปรากฏอาการ สุข มีอารมณ์เป็นสุขเยือกเย็น ในขณะที่พิจารณาปฏิภาคนิมิต เอกัคคตา มีจิตเป็นอารมณ์เดียว คือมีอารมณ์จับอยู่ในปฏิภาคนิมิตเป็นปกติไม่สอดส่ายอารมณ์ออกนอกจากปฏิภาคนิมิต
ทั้ง ๕ อย่างนี้เป็น ปฐมฌาน มีอารมณ์เหมือนกับฌานในกรรมฐานอื่น ๆ แปลก แต่กสิณมีอารมณ์ยึดนิมิตเป็นอารมณ์ ไม่ปล่อยอารมณ์ให้พลาดจากนิมิต จนจิตเข้าสู่ จตุตถฌาน หรือ ปัญจมฌาน
ทุติยฌาน 

มีองค์ ๓ คือตอนนี้จะเว้นจากการภาวนาไปเอง การกำหนดพิจารณารูปกสิณจะยุติลง คงเหลือแต่ความสดชื่นด้วยอำนาจ ปีติ อารมณ์สงัดมาก ภาพปฏิภาคนิมิตจะสดสวยงามวิจิตรตระการตามากกว่าเดิม มีอารมณ์เป็น สุข ประณีตกว่าเดิม เอกัคคตา มีอารมณ์จิตแนบสนิทเป็นสมาธิมากกว่า 
ตติยฌาน 

มีองค์ ๒ คือ ตัดความสดชื่นทางกายออกเสียได้ เหลือแต่ความ สุข แบบเครียด ๆ คือมีอารมณ์ดิ่งแห่งจิต คล้ายใครเอาเชือกมามัดไว้มิให้เคลื่อนไหว ลมหายใจอ่อนระรวยน้อยเต็มที ภาพนิมิตดูงามสง่าราศีละเอียดละมุนละไม มีรัศมีผ่องในเกินกว่าที่ประสบมา เอกัคคตา อารมณ์ของจิตไม่สนใจกับอาการทางกายเลย 
จตุตถฌาน 

ทรงไว้เพียง เอกัคคตา กับ อุเบกขา คือ เอกัคคตา มีอารมณ์ดิ่ง ไม่มีอารมณ์รับความสุขและความทุกข์ใด ๆ ไม่รู้สึกในเวทนาทั้งสิ้น มี อุเบกขา วางเฉย ต่ออารมณ์ทั้งมวลมีจิตสว่างโพลงคล้ายใครเอาประทีปที่สว่างมาก หลาย ๆ ดวงตั้งไว้ในที่ใกล้ ไม่มีอารมณ์รับแม้แต่เสียง ลมหายใจสงัด รูปกสิณเห็นชัดคล้ายดาวประกายพรึก ฌานที่ ๔ เป็นฌานสำคัญชั้นยอด ควรกำหนดรู้แบบง่าย ๆ ไว้ว่าเมื่อมีอารมณ์จิตถึงฌาน ๔ จะไม่ปรากฏว่ามีลมหายใจ ควรกำหนดไว้ง่าย ๆ แบบนี้สะดวกดี
ท่านทำได้ถึงระดับนี้ ก็ชื่อว่าจบกิจในกสิณ ไม่ว่ากองใดก็ตาม จุดจบกสิณต้องถึงฌาน ๔ และนิมิตอะไรต่ออะไรตามอำนาจกสิณ ถ้าทำไม่ถึงกับนิมิตได้ตามอำนาจกสิณ ก็เป็นเสมือนท่านยังไม่ได้กสิณเลย

Top