Author: admin

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อเล่าเรื่องหลวงปู่นาค…วัดระฆัง ปลุกเสกพระ

เรื่องของหลวงพ่อนาค เขียนไว้อีกข้อเดียว คือเรื่องดูใจเวลาปลุกพระ นี่เรื่องมันเกี่ยวกันกับอาตมา ต้องขอประทานโทษบรรดาท่านผู้อ่านหรือท่านผู้ฟัง เมื่อฟังแล้วอ่านแล้วก็อย่าคิดว่าอาตมาเป็นผู้วิเศษ อย่าคิดยังงั้นนะ จงคิดเสียว่าอาตมาก็เป็นเถรหัวล้านธรรมดาๆ ไม่มีอะไรดีกว่าท่านผู้ฟัง เกิดแล้วก็แก่ แก่แล้วก็เจ็บ เจ็บแล้วก็ตาย กินแล้วก็ขี้

ตื่นแล้วก็หลับ ธรรมดา ปวดเมื่อยไม่สบาย ปวดฟันตาฟ้าหูฟางเหมือนกัน พูดจาเอะอะโวยวายหยาบคายก็ได้ พูดนิ่มนวลก็ได้ ทำท่าเป็นผู้ดีก็ได้ ทำท่าเป็นสิงห์หน้าพลับพลาก็ได้ ทำเป็นหมาเห่าชาวบ้านก็ได้ เป็นทุกอย่าง ไอ้ที่ทำอย่างนั้น เพราะใจมันเป็นอย่างนั้น ไม่เหมือนหลวงพ่อนาค ท่านดีจริงๆ เลยยอมรับนับถือท่าน

มาครั้งหนึ่ง ที่วัดชิโนรสาราม ธนบุรี ตอนนั้น สมัยนั้น เจ้าคุณสุวรรณเวที(ทองดี) อดีตเป็นพระของวัดระฆังมาเป็นเจ้าอาวาส ท่านก็ทำพิธีพุทธาภิเศก ปลุกพระเรียกว่าบวชพระพุทธเจ้า พระเครื่องนี่เขาทำรูปเปรียบพระพุทธเจ้าบ้าง บางทีก็ทำรูปเปรียบของพระสงฆ์ 

แต่วันนั้นทำรูปเปรียบเฉพาะพระพุทธเจ้า ก็เลยเรียกว่าไปบวชพระพุทธเจ้ากัน ปลุก ไม่ใช่บวชกระมัง ท่านกำลังหลับ ไปปลุกให้ตื่น ท่านมีหน้าที่ปลุกเขานิมนต์มา 9 องค์ พระอะไรบ้างก็ไม่ทราบ แต่เท่าที่รู้จักมีอยู่หลายองค์ แต่พูดถึงอยู่ 2 องค์ คือ หลวงพ่อนาค กับพระครูธรรมาภิราม พระแขนสั้นแขนยาวนครปฐม นอกนั้นที่รู้จักก็มีชื่อเสียงโด่งดังเหมือนกัน ในสมัยนี้ก็โด่งดัง สมัยนั้นก็โด่งดังอีก 7 องค์

แต่ไม่พูดถึงหรอก คือพูดถึงไม่ได้ เดี๋ยวจะถูกด่า เวลาท่านปลุกพระ สำหรับพระครูธรรมาภิราม รู้จักอาตมาดี อาตมาเรียกหลวงน้า พอเจอะท่านเข้าก็คุยตามแบบฉบับ ทีแรกก็ทำท่าเป็นพระติ๋มๆ เพราะไม่เคยรู้จักใคร พออาตมาเข้าไปก็เลยออกท่าตามแบบฉบับ ออกท่าอะไรทราบไหม ท่าลิง ก็ไปยั่วท่านด้วยอาการต่างๆ ท่านก็ทำโน่นทำนี่
ชาวบ้านเขาก็เลยรู้สึกว่าท่านจะล่อกแล่กไปหน่อย ก็เลยบอกว่าหลวงน้า ไอ้แก้วน้ำน่ะ มันอยู่ไกลผม หลวงน้าช่วยหยิบมาให้ทีเถอะ 

ท่านบอก เฮ้ย แขนกูหยิบไม่ถึงนี่หว่า ก็เลยบอก เอ๊อะ พระจะปลุกพระนี่ เอาพระที่ไม่มีฤทธิ์มามันก็เสีย เสียของเปลืองที่ ไม่เอา ถ้าหยิบแก้วน้ำไม่ได้ก็นิมนต์กลับวัด ไม่มีประโยชน์ พระแบบนี้ ความจริงตอนนั้นพระคณาจารย์หลายองค์ก็นั่งอยู่ด้วย แต่เราไม่เกี่ยว เราคุยกับน้าชาย ท่านบอกไอ้นี่มันดูผิดคนนี่หว่า 

หนอยแน่มันดูถูกนี่หว่า หาว่ากูหยิบไม่ได้เรอะ ก็ตอบว่าไม่ได้ดูถูก แต่ว่าหยิบไม่ถึง นิมนต์กลับวัดเลย เอามารกที่ พระประเภทนี้ เสียศักดิ์ศรีครูบาอาจารย์ นี่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อปานนะ แล้วก็เป็นหลานชายหลวงพ่อปานด้วยนะ ไม่ใช่ลูกศิษย์อย่างเดียว มองหน้าเป๋ง
เออ มึงดูถูกกู กูก็เอาได้วะ เรื่องอะไร ท่านก็ยื่นแขนซ้ายออกไปมันก็ไม่ถึง เลยเอาแขนขวาตบตรงข้อศอก บอกแขนยาวออกไปซิหว่า ไอ้แขนมันค่อยๆ ยาวออกไปๆ ความจริง ไอ้แก้วน้ำตั้งอยู่ห่างสุดแขนท่านสักเมตรหนึ่งเห็นจะได้หรือเมตรเศษๆ ในที่สุดท่านก็หยิบแก้วน้ำมาส่งให้

คนพวกนั้นมองกันตาตั้งหมดแปลกใจว่าพระทำได้ ท่านก็บอก ไอ้นี่มันเป็นยังงี้ละ ถ้าไปเจอะมันเข้าทีไรมันทำเสียผู้ใหญ่ทุกทีแหละ มันให้เล่นอย่างโน้นเล่นอย่างนี้ ไม่เล่นมันก็ว่า 

เราจะให้มันทำมั่งมันก็บอกว่ามันลูกศิษย์รุ่นหลัง มันเล็กกว่า มันไม่ทำ นี่ให้มันทำอะไรซี มันไม่ทำหรอก แล้วมันก็ไม่ทำจริงๆ เพราะอะไร เพราะว่า หลวงน้า คือหลวงพ่อปานนะ ท่านเรียกหลวงน้า หลวงน้าท่านสั่งมันไว้ ห้ามไม่ให้ทำ 

มันก็เลยเลิกทำ ไอ้นี่เคารพคำสั่งครูบาอาจารย์จริงๆ ไอ้เราไม่ถูกจำกัดนี่ มันก็เลยใช้ให้เราทำอะไรต่ออะไรเรื่อยไป ชาวบ้านเขาถามว่าไม่โกรธมันรึ ลูกหลาน บอก โกรธมันยังไงไปด่ามันเข้าซี ดีไม่ดีมันล้วงย่ามเอาสตางค์หมด ไม่ได้หรอก ไปด่งไปด่ามันไม่ได้หรอก 

ถ้ามันจะว่าอะไร จะใช้อะไรก็ต้องตามใจมัน เดี๋ยวมันไม่ชอบในมันก็หยิบก็ล้วงเอาตามพอใจ เขาก็ถามว่าไม่บาปเรอะ มันจะบาปยังไง มันลูกมันหลาน มันเอาไปแล้วก็เลยนึกให้มันไปเลย ไม่เอาโทษเอาโพยกับมัน นี่เล่าเรื่องตอนต้นนะ สำหรับครูธรรมาภิราม

ทีนี้ถึงเวลาปลุกพระจริงๆ เก้าองค์เข้าไปนั่ง อาตมาเองคิดในใจ ว่าเราก็ไม่มีความรู้อะไร ความดีด้านสมาธิก็ไม่มีอะไร เพราะเป็นคนธรรมดาๆ เป็นพระเดินผ่านหน้านรกไปผ่านหน้านรกมา เดินห่างนรกอยู่ครึ่งนิ้วเท่านั้นเอง ถ้าเผลอเมื่อไรหัวก็ทิ่มนรกเมื่อนั้น ก็เลยนึกในใจว่าเอาพระ 9 องค์นี้องค์ไหนมีอานุภาพมากบ้าง อยากรู้ก็เลยเข้าไปในโบสถ์ เขาปลุกในโบสถ์ ไปนั่งอยู่ท้ายอาสนสงฆ์ สำหรับพระที่ปลุกพระเขาทำเก้าอี้ให้นั่ง เอาไม้ไผ่มาทำเก้าอี้ เขาบอกว่าถ้าปลุกด้วยเก้าอี้ไม้ไผ่มันขลังดี ไอ้นั่นเรื่องของอุปาทาน
ไม่เกี่ยว เรื่องของคนคิด
เมื่อไปนั่งอยู่ท้ายอาสนสงฆ์ตั้งจิตอธิษฐาน อาราธนาบารมีพระพุทธเจ้า คือมองดูพระประธานเป็นกำลัง ขอบารมีพระพุทธเจ้าได้โปรดสงเคราะห์ ข้าพระพุทธเจ้าอยากจะดูอานุภาพจิตของพระแต่ละองค์ที่มานั่งปลุกพระในวันนี้ ถ้ากระแสจิตของบุคคลใด มีขนาดเท่าใด มีอานุภาพอย่างไรก็ขอให้ปรากฏแก่อารมณ์ของข้าพระพุทธเจ้า นึกเท่านี้นะ อธิษฐานเอาตามเรื่อง ตามเรื่องของคนที่ไม่มีฌานสมาบัติชั้นดีอย่างเขาหรืออาจจะไม่มีเลย พออธิษฐานเท่านั้นก็จับลมหายใจเข้าออก ทำจิตสงบนิดหนึ่ง ก็เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ นี่เป็นอำนาจของพุทธานุภาพจริงๆ นะ 

ไม่ใช่ความดีของอาตมา เห็นกระแสจิตของพระทุกองค์ใสแจ๋ว เหมือนกับเห็นของในเวลากลางวัน สำหรับกระแสจิตหลวงพ่อนาคนี่พุ่งออกมาใหญ่เหลือเกิน คลุมเครื่องรางของขลังทั้งหมด เรียกว่าแสงสว่างของจิตแทรกลงไปในเครื่องของขลังอยู่ที่ผิดด้านหน้า ยันข้างล่างสุด เรียกว่าคลุมหมด อาบลงไปหมดเลย โพลงสว่างชัด ของพระครูธรรมาภิราม พุ่งออกมาเหมือนหอก เป็นกระแสเล็กแต่พุ่งแรงมาก แสดงว่าพระครูธรรมาภิราม เป็นพระนักเลง ชอบคงกระพันชาตรี ของหลวงพ่อนาคนี่เต็มไปด้วยอำนาจพระพุทธบารมีจริงๆ มีความเยือกเย็นสบายๆ ยังไงชอบกล แต่พระอีก 9 องค์ มองดูไปแล้วกระแสจิตไม่ได้ออกมา เหมือนกับจุดเทียนจุดริบหรี่ ปักอยู่ในอกนั่นเองอยู่เฉยๆ เป็นดวงนิดหนึ่ง แล้วก็อยู่ในอกเฉยๆ ก็นั่งดูอยู่ยังงั้นจนกว่าเขาจะเลิกปลุกกัน

เมื่อถึงเวลา 23 น. เศษๆ ก็หมดสัญญาณการปลุก ความจริงการปลุกพระนี่ ไม่ต้องใช้เวลามาก ถ้าใช้เวลามากแล้วไม่มีผล ควรจะให้พระกำหนดกันเอง ปลุกพร้อมกัน ใครเต็มเมื่อไรก็พัดผ่อนได้เมื่อนั้น แต่ยังไม่ลุกออกมา ยังงี้จะดีมาก แล้วเวลาปลุกพระ ต้องใช้กำลังสมาธิสูงมาก

ถ้าพระได้สมาบัติยังต่ำหรือโยเยอยู่ ยังไม่มั่นคงนัก จิตจะส่ายไปตามกระแสสวด ผลจะไม่ดี แต่ว่าที่ทำกันเวลานี้ ก็มีพระสวดพุทธาภิเศกควบไปด้วย เขาเอาแบบมาจากไหนก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าเอาแบบมาจากไหน แต่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีแค่ไหนก็ตามเรื่อง หากมีพระกำลังจิตดีก็ใช้ได้ ถ้าพระกำลังจิตไม่ดีก็เลยนั่งหลับตา อีตอนนั่งหลับตาใครจะรู้ว่าทำอะไรบ้าง บางวัดก็เกณฑ์กันตลอดรุ่งไม่เห็นมีประโยชน์ เคยไปร่วมกับเขาเหมือนกัน ถ้าเกณฑ์ตลอดรุ่งดีไม่ดีก็นั่งหลับเลย

ตานี้ พอเขาเลิกทำพิธี พระอาจารย์ทุกองค์ก็ลงมา พอลงมาเสร็จท่านก็ไปนั่งกันตามหน้าอาสนสงฆ์แต่ไม่ถึงท้าย อาตมานั่งอยู่ทางท้ายกับพระสมุห์สมบูรณ์ พอลงมานั่งกันเรียบร้อย หลวงพ่อนาคก็บอกว่านี่ท่านพวกนี้รู้ไหม ไอ้ขโมยมันมานั่งขโมยอยู่ พระพวกนั้นก็ทำหน้าล่อกแล่กๆ มีพระครูธรรมาภิรามองค์เดียวยิ้ม หันมายิ้มด้วยแสดงว่าท่านรู้ก็เลยยิ้มกับท่าน แต่หลวงพ่อนาคท่านก็ทำเฉย ทำไม่รู้ไม่ชี้ บอกท่านทั้งหลายรู้หรือเปล่า ไอ้ขโมยมันมานั่งขโมยอยู่ ท้ายอาสนสงฆ์ แล้วก็มีญาติโยมคนหนึ่งถามว่าขโมยอะไร ถามขโมยอะไรเจ้าค่ะหลวงพ่อ ท่านก็บอก มันไม่ได้ขโมยอะไรหรอก มันมานั่งขโมยดูใจพระปลุกพระ ไอ้ขโมย มันนั่งอยู่ท้ายอาสนสงฆ์

ตานี้เวลาที่ท่านลงมาแล้วเขาขอพระท่าน ท่านก็แจก เวลาท่านแจกไปขอท่านมั่ง ท่านไม่ให้ บอกไอ้นี่ขโมย ไม่ให้ละ ทำได้อย่างที่เขาทำนี่ ทำได้ไปทำเอาเองซี ท่านไม่ให้ ก็มีพระหลายองค์ท่านมองหน้า 

ท่านก็เลยบอกว่าไอ้นี่แหละขโมย ขโมยดูใจพระทุกองค์ มันรู้ ว่าใจพระองค์ไหนเป็นยังไง นี่มันทำได้นะพระนี่ มันทำได้ ทำได้คล้ายๆ ข้าแหละ 

แต่ไอ้ข้ากับมันใครดีกว่ากันข้าไม่รู้หรอก แต่วันนี้ท่านผู้ฟังจำไว้นะ ว่าอาตมาไม่ดีเท่าหลวงพ่อนาค แล้วก็ดียังไม่ใกล้หลวงพ่อนาค ยังไกลอยู่นะ เพราะยังเป็นปุถุชนคนธรรมดา ยังเป็นคนปวดอุจจาระ 
ปวดปัสสาวะ มีหนาว มีร้อน มีเมื่อย มีหิว มีกระหาย รู้เปรี้ยว รู้เค็ม รู้เผ็ด แล้วมีอารมณ์ เสียงดังบ้าง ดุบ้าง ด่าบ้าง ว่าบ้าง คำสุภาพบ้าง ยิ้มแย้มแจ่มใสบ้าง หน้าบึ้งขึงจอบ้าง

อย่างนี้อย่าชมกันว่าดีนะ เป็นอาการของคนเลว แต่มันยังอยากจะเลวอยู่ก็ปล่อยมันไป ตายเมื่อไร เลิกเมื่อนั้น

เป็นอันว่าเรื่องของหลวงพ่อนาค ยุติกันเพียงเท่านี้ แต่ก็ยังไม่เลิกพูด เวลามันยังไม่หมด วันนี้เห็นจะสรุปงานกันได้แล้วนะ เพราะว่าเทปเหลือนิดเดียว

พระราชพรหมยาน

by admin admin ไม่มีความเห็น

ตอน 33

สวัสดีครับ…วันนี้มีเหตุน่าปีติมาเล่าให้อ่านครับ

เมื่อวานช่วงเช้าผมและคณะช้างเผือกได้มีโอกาสไปกราบครูบาน้อย จากนั้นก็กลับมายังบ้านน้องอุย ในทริปช้างเผือก วันนี้อยุ่กัน5ชีวิตก็ราวๆบ่าย2ครับ ไม่มีไรทำก็เล่นเฟดเอารูปลงให้พี่น้องดูกันพอดีมีน้องท่านนึงเป็นผู้หญิงครับผมเห็นเธอว่างๆก็เลยหยิบหนังสือประวัติหลวงปู่ปานไปให้น้องเค้าอ่านครับ พักเดียวเองครับมีความรู้สึกทางกายขนลุกซู่ขนหัวตั้ง ผมเลยหันไปถามน้องที่นั่งข้างๆว่ารู้สึกอะไรมั้ย มันบอกรู้สึกคับ ไอ้อาการอีแบบนี้เนี้ยไม่ค่อยได้เป็นครับ

ผมจะเป็นก็ต่อเมื่อพระพุทธเจ้าท่านเสด็จ คราวนี้รู้สึกก็เลยวางอารมณ์และกำหนดดูครับ แปลกใจคับตอนแรกก็คิดว่าเอพระพุทธเจ้าท่านจะเสด็จรึ ก็งงๆครับ พอกำหนดเห็นหลวงปู่ปานครับท่านมายืนมองน้องที่อ่านหนังสืออยู่อีกห้องนึง ห้องที่ผมนั่งกับห้องที่น้องเค้านอนอ่านหนังสือมีกระจกใสกั้นอยู่ ผมก็มองท่านๆก็มองน้องผมก็คิดครับ เอท่านมาทำไมแล้วไม่เห็นท่านหัมมามองผม

มองท่านอยู่พักนึงท่านก็ไม่ไปไหน ทีนี้ชักหลอนเลยพนมมือมองท่าน ท่านก็ไม่หันมาพูดอะไรกับผม แหมผมนี่โง่จริงๆ จากนั้นผมลุกจากที่นั่งไปในห้องข้างๆบอกน้องคนนั้นว่าหลวงปู่ปานท่านมาให้น้อมจิตกราบท่านผมก็กราบท่าน พอกราบเสร็จท่านยิ้มนิดนึง แล้วท่านก็ไปครับ

อารมณ์ตอนนั้น งงๆครับปกติไม่ค่อยได้พบท่าน แต่ก็ดีใจที่ได้กราบพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล….

20-01-2012, 10:51 PM, P. 164

by admin admin ไม่มีความเห็น

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๒ ๓ ม.ค. ๓๑

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๒ ๓ ม.ค. ๓๑ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน 
ที่มา หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๔๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓

ท่านสุปปพุทธกุฏฐิ ท่านเป็นโรคเรื้อนด้วย ที่อาตมาใช้คำว่าท่านก็เพราะว่าท่านเป็นพระอริยเจ้าตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้าทรงชีวิตอยู่ ถ้าพูดตามอายุท่านก็ต้องเป็นพี่ ดีไม่ดีเลยปู่ ๒,๕๐๐ ปี ปู่อายุไม่ถึงใช่ไหม ถ้าตามฐานะของพระท่านต้องเป็นพี่ เพราะเกิดก่อน และท่านผู้นี้ท่านเป็นพระโสดาบัน แล้วการเป็นของท่านก็เป็นไม่ยาก เพราะว่าบารมีถึง ตามบาลีท่านก็ไม่ได้บอกว่า พระพุทธเจ้าทรงเทศน์ว่าอย่างไร เป็นแต่เพียงว่าท่านบอกว่าพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์อยู่ คือพระพุทธเจ้าไปนั่งเทศน์ขวางทาง

คำว่าขวางทางท่านทราบว่าวันนี้สุปปพุทธกุฏฐิจะมาที่นี่ คำว่ากุฏฐิแปลว่าโรคเรื้อน สุปปพุทธเป็นชื่อ ท่านเป็นขอทาน ท่านก็ทราบตั้งแต่ตอนเช้ามืดว่า วันนี้ท่านสุปปพุทธกุฏฐิจะมาฟังเทศน์จากเรา เมื่อเราเทศน์จบ เธอจะได้พระโสดาบัน และก็ทรงทราบต่อไปว่า วันรุ่งขึ้นเธิจะมารายงานผลที่พึงได้รับคือ ความเป็นพระโสดาบัน หลังจากนั้นก็ถูกนางยักษิณีแปลงเป็นวัวแม่ลูกอ่อนขวิดตาย

เมื่อองค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบอย่างนี้ จึงเสด็จไปเทศน์ขวางทาง พอท่านไปนั่งที่ไหนคนก็มามาก มามากท่านก็เทศน์ ท่านสุปปพุทธกุฏฐิท่านเป็นขอทานด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย เมื่อผ่านไปพบพระพุทธเจ้ากำลังเทศน์ก็ไม่กล้าเข้าไปนั่งใกล้ใคร แล้วในฐานะก็ไม่ควรจะนั่งใกล้ คือความเป็นโรคเรื้อนก็ไม่ควรจะนั่งใกล้ผู้อื่น ก็นั่งไกลหน่อย

แต่การนั่งนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท จะใกล้ก็ตาม จะไกลก็ตาม คนที่ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีการแสดงธรรมเป็นปาฏิหาริย์ ก็คือว่าคนทุกคนจะนั่งด้านไหนก็ตาม จะมีความรู้สึกเห็นว่าพระพุทธเจ้าหันหน้าเข้าไปหาตนเองอยู่เสมอ ไม่มีหลัง มีแต่หน้า

แล้วประการที่ ๒ จะนั่งไกลแสนไกลเท่าไหร่ก็ตาม อาศัยพระพุทธปาฏิหาริย์ คนฟังทุกคนจะฟังเข้าใจชัดเจนถนัดทุกคน เป็นอันว่าสุปปพุทธถึงแม้จะนั่งไกลไปหน่อย ก็ฟังเทศน์จากพระพุทธเจ้าได้ชัดเจนแจ่มใส

เมื่อฟังเทศน์จบท่านก็บรรลุพระโสดาปัตติผล พระพุทธเจ้าก็ทรงกลับ ท่านสุปปพุทธก็กลับ กลับกระท่อม พระพุทธเจ้ากลับวิหาร ตอนกลางคืนท่านมานั่งครุ่นคิดว่า เมื่อตอนกลางวันเราฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระพิชิตมาร เราเป็นพระโสดาบัน ถ้าหากว่าพระพุทธเจ้าทรงทราบว่าเราซึ่งเป็นขอทานด้วย เป็นโรคเรื้อนด้วย เป็นโรคที่คนรังเกียจ แต่บังเอิญเวลานี้เป็นพระโสดาบัน พระพุทธเจ้าจะดีใจมาก จึงตั้งใจว่าวันพรุ่งนี้จะไปเฝ้าองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบในความเป็นพระโสดาบัน

หลังจากนั้นพระอินทร์ทรงทราบก็มาลองใจท่านสุปปพุทธ ตอนนี้ก็จะให้บุคคลทุกคนทราบว่ากำลังของพระโสดาบันมีแค่ไหน ความจริงกำลังพระโสดาบันมีไม่มาก กำลังของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีน่ะมี ๓ ก็คือ

สักกายทิฏฐิ มีความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย คือสักกายทิฏฐินี่มีความรู้สึกไม่เท่ากัน พระโสดาบันและพระสกิทาคามีที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีสมาธิเล็กน้อย มีปัญญาเล็กน้อย แต่มีศีลบริสุทธิ์

ฉะนั้นการใช้ปัญญาของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีในข้อสักกายทิฏฐิ จึงมีแต่ความรู้สึกว่าชีวิตนี้ต้องตาย

ถ้ากำลังของพระอนาคามีในข้อสักกายทิฏฐิซึ่งเป็นนิพพิทาญาณ คือมีความเบื่อหน่ายในร่างกาย

ถ้ากำลังของพระอรหันต์นี่สักกายทิฏฐิ จะมีความรู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา

ที่นี้กำลังปัญญาของพระอริยเจ้าไม่เท่ากัน ในเมื่อพระโสดาบันมีกำลังน้อย อันดับแรกก็มีความรู้สึกด้านปัญญาว่าชีวิตนี้ต้องตาย

แล้วต่อมาพระโสดาบันก็มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า พระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี ย่อมเป็นที่พึ่งสำหรับเรา ชีวิตของเราจะมีความเป็นสุขได้ในปัจจุบันและสัมปรายภพก็เพราะพระไตรสรณาคมน์ทั้ง ๓ ประการ คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ ฉะนั้น จึงตัดสินใจด้วยกำลังของปัญญายอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ ไม่เคลือบแคลงสงสัยต่อไป

หลังจากนั้นก็ทรงศีลบริสุทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามที่ทราบมาว่าพระโสดาบันนี่ไม่ใช่ศีล ๕ แต่เป็นกรรมบถ ๑๐ เพราะจะสังเกตถ้อยคำของนางวิสาขาก็ดี อนาถบิณฑิกเศรษฐีก็ตาม หลายท่านที่เป็นพระโสดาบัน สังเกตที่วาจา ศีล ๕ ท่านห้ามเฉพาะพูดคำเท็จเท่านั้น แต่คำหยาบหรือการเสียดสีกัน หรือการพูดเพ้อเจ้อเหลวไหลไม่ได้ห้าม

และพระโสดาบันนี่ไม่ใช่ว่าไม่พูดเท็จอย่างเดียว ไม่พูดเท็จด้วย ไม่ใช้วาจาหยาบเป็นที่สะเทือนใจใครด้วย ไม่เสียดสีใครให้แตกร้าวกันด้วย ไม่ใช้วาจาที่ไร้ประโยชน์ด้วย ก็รวมความว่าพระโสดาบันกับพระสกิทาคามี มีกรรมบถ ๑๐ อันนี้เป็นเครื่องสันนิษฐานนะ ก็รวมความว่าพระโสดาบันทรงทั้งศีล ๕ และกรรมบถ ๑๐ ครบถ้วน เหตุที่พูดตามนี้เป็นตามหลักสูตร ตามหลักสูตรของหนังสือ

แต่ว่าแนวการปฏิบัติจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท ถ้าทำสมาธิวิปัสสนาญาณร่วมก็ต้องสังเกตอาการ อาการของบุคคลที่จะเป็นพระโสดาบันน่ะมีอยู่ ตอนนี้หนังสือเขาไม่ได้เขียน เพราะหนังสือเขียนไม่ไม่ได้ต้องคนเขียน แล้วอาการที่เป็นพระโสดาบันที่มีอยู่ให้สังเกตตามนี้

ขณะที่ทรงสมาธิร่วมวิปัสสนาญาณ ก่อนที่จะภาวนาเราต้องใช้ปัญญาเสียก่อนจึงจะดี ปัญญาก็ใช้การพิจารณาตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนี้มันต้องตาย เมื่อมีความเกิดแล้ว ต่อไปก็ต้องแก่ ขณะที่ทรงตัวอยู่ในก็ป่วย แล้วก็การพลัดพรากจากของรักของชอบใจ มีความตายในที่สุด

ในเมื่อความตายมีอยู่อย่างนี้ เราก็ต้องกาโมกขธรรม คือธรรมที่พ้นจากความตาย ธรรมที่ทำให้พ้นจากความตายจริงๆ ก็ต้องเป็นอรหันต์ หรือว่ายังเป็นอรหันต์ไม่ได้ ความมั่นใจยังไม่พอ จะเป็นอรหันต์ได้หรือไม่ได้ก็ต้องยึดอารมณ์พระโสดาบันไว้ก่อน เพราะว่าอารมณ์พระโสดาบันนี่ทำลาย คือปิดกั้นเขตของอบายภูมิ บุคคลใดที่เป็นพระโสดาบันแล้ว บาปกรรมเก่าๆ ทั้งหมดที่ทำมาแล้วจะมากจะน้อยอย่างไรก็ตาม ร้ายแรงแบบไหนก็ตาม ไม่มีโอกาสให้ผล

ถ้าตายจากความเป็นคนก็ไปเกิดเป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง ถ้ายังไปนิพพานไม่ได้ แต่ถ้าบุญบารมีเต็มเพียงใดก็ไปนิพพานทันที เรื่องอบายภูมิไม่ลงกัน รวมความว่าผลของบาปเก่าไม่มีต่อไปอีก ไม่มีโอกาสให้ผล ในเมื่อมั่นใจอย่างนี้ก็มีความเคารพในพระพุทธเจ้า พระธรรม ปละพระอริยสงฆ์ และมีศีลบริสุทธิ์

แล้วการพิจารณากรรมฐานต้องตัดสินใจก่อน ก่อนเจริญกรรมฐานให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดนี่มันเป็นทุกข์ ถ้าเราจะอยู่อย่างนี้อีกก็มีแต่ความทุกข์ เราไม่ต้องการการเกิดอีก เราต้องการจุดเดียวคือนิพพาน หวังสูงไว้ก่อน 

หลังจากนั้นก็พยายามยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ด้วยความจริงใจ แล้วเอาศีลคุมกำลังสมาธิไว้ เพราะว่าสมาธิจะทรงได้เพราะศีล ถ้าศีลบกพร่อง สมาธิก็บกพร่อง ต้องควบคุมศีลไว้ให้ทรงตัว

หลังจากนั้นก็เจริญสมาธิตามธรรมดา เมื่อกำลังปัญญายังอ่อน สามารถเข้าเขตพระโสดาบันได้ แต่ขณะที่จะเข้าเขตพระโสดาบันนี้ต้องเข้าถึงโคตรภูญาณของพระโสดาบันก่อน คำว่า โคตรภูญาณ ก็หมายความว่าความรู้ที่เข้าอยู่ในระหว่างระหว่างโลกีย์กับโลกุตตระคำว่าโลกีย์คือโลก จิตยังเต็มไปด้วยโลกโลกุตตระคือมรรคผล พ้นโลก แล้วจิตอยู่ในช่วงโลกีย์กับโลกุตตระ

ท่านเปรียบเหมือนว่า เรายืนคร่อมลำรางเล็กๆ เท้าขวาก้าวไปเหยียบฝั่งโน้น แต่เท้าซ้ายยังไม่ยกจากฝั่งนี้ ยืนคร่อมแบบนี้ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณ จะเรียกว่าพระโสดาบันก็ยังไม่ได้ จะเป็นญาณโลกีย์ก็ไม่ได้ เพราะคร่อมระหว่าง

ในระหว่างโคตรภูญาณนี่บรรดาท่านพุทธบริษัท สิ่งที่ท่านจะสังเกตได้ว่าเป็นโคตรภูญาณ ในตอนนั้นจะรู้สึกอารมณ์ของท่านจริงๆ ท่านจะมีความรู้สึกรักเฉพาะพระนิพพานอย่างเดียว จิตจะมีความมั่นคงเฉพาะพระนิพพาน ไม่ต้องการอย่างอื่นอีก ถึงแม้จะตัดกิเลสยังไม่หมด

ถ้าถามว่าความรักยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความอยากรวยยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความโกรธยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี
ความหลงยังมีไหม ก็ต้องตอบว่ามี

แต่ว่าทั้ง ๔ อย่างนี้จะมีได้ก็อยู่ในขอบเขตของศีล ๕ 

รัก ก็ไม่ละเมิดศีล ๕
อยากรวย ก็ไม่ละเมิดศีล ๕
โกรธได้ แต่ไม่ทำลายเขา ไม่ละเมิดศีล ๕
ความหลงก็หลงได้ แต่ไม่ละเมิดศีล ๕

อยู่ในขอบเขตของศีล ๕ มันยังมีอยู่ มันไม่หมด แต่ความรุนแรงน้อยไป แต่ตอนนี้กำลังใจของทุกคนที่เข้าอยู่ในเขตโคตรภูญาณ จิตจะรักพระนิพพานอย่างยิ่ง มีความมั่นคงในพระนิพพานจริงๆ

ในระหว่างนั้นอารมณ์ใจจะโปร่ง มีความผ่องใสมาก จิตใจทรงตัวดี ถ้ากำลังใจอย่างนี้แล้วจิตใจจะไม่ยอมเปลี่ยนแปลงจากพระนิพพาน อย่างนี้ท่านเรียกว่าโคตรภูญาณของพระโสดาบัน แล้วคำว่าโคตรภูญาณนี่มีทุกขั้นนะ ของพระโสดาบันก็มี พระสกิทาคามีก็มี พระอนาคามีก็มี พระอรหันต์ก็มี เหมือนกันหมด และอยู่ในระหว่าง

ถ้าญาติโยมจะถามว่าจิตจะทรงอยู่ในโคตรภูญาณสักกี่วัน อย่างนี้ก็ตอบได้ยาก สุดแล้วแต่กำลังอธิษฐานบารมีของแต่ละบุคคล ถ้าบุคคลนั้นปรารถนาพุทธภูมิมาก่อนแล้วก็มาลาพุทธภูมิภายหลัง ปรารถนาเป็นสาวกภูมิ พวกนี้ต้องทรงโคตรภูญาณนานหลายวันอยู่ ดีไม่ดีต้องทรงโคตรภูญาณถึงเดือน

สำหรับท่านที่มุ่งหมายมาเป็นพระสาวกโดยเฉพาะ อย่างนี้ถ้าจิตทรงโคตรภูญาณอย่างนานที่สุดไม่เกิน ๗ วัน แต่บางคนก็ทรงได้แค่วันสองวันก็เป็นพระโสดาบันเลย ทีนี้ตอนหลังถ้าจิตเข้าถึงพระโสดาบันจริงๆ อารมณ์รักพระนิพพานยังทรงตัว มีความหนักแน่นมาก แต่ว่าจะมีอารมณ์เพิ่ม คืออารมณ์ธรรมดา ความรู้สึกของจิตว่าธรรมดาย่อมเกิดขึ้น

สมัยก่อนเราไม่ค่อยจะมีธรรมดาใช่ไหม ผิดใจหน่อยเราก็ใช้ธรรมด่าแทน งดอารมณ์ไม่พอใจ ถ้าด่าเสียได้เมื่อไหร่หมดอารมณ์ไม่พอใจเสียเมื่อนั้น ตอนนี้พอเข้ามาถึงอารมณ์พระโสดาบันเข้าครองใจจริงๆ ที่ยังตอบไว้เมื่อกี้นี้ ถ้าถามว่ายังมีความโกรธอยู่ไหม ก็ต้องตอบว่ามีความโกรธ

แต่ความโกรธของพระโสดาบันและพระสกิทาคามีไม่รุนแรง ไม่ถึงกับทำร้ายร่างกาย และถ้าหากว่าถามว่าถ้าอารมณ์ธรรมดาเกิดขึ้น ในเมื่อเป็นพระโสดาบันจริงอารมณ์ธรรมดาก็เกิดขึ้น การกระทบกระทั่งไม่รุนแรงเกินไปใจก็เฉย 

พระโสดาบันนี่มี ๓ ขั้นนะ คือ
๑. เอกพิซี
๒. โกลังโกละ
๓. สัตตักขัตตุงปรมะ

เอกพิซี มีอารมณ์ละเอียดมาก สูงสุดของพระโสดาบัน อย่างนี้ถ้าเกิดเป็นมนุษย์อีกชาติเดียวจะเป็นพระอรหันต์
โกลังโกละ ขั้นกลาง ถ้าเป็นอย่างนี้ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๓ ชาติจึงเป็นพระอรหันต์
สัตตักขัตตุงปรมะ ต้องเกิดเป็นมนุษย์อีก ๗ ชาติจึงเป็นพระอรหันต์

ฉะนั้นกำลังของพระโสดาบันไม่เหมือนกัน ถ้าในขั้นสัตตักขัตตุงปรมะ การกระทบกระทั่งเบาๆ จะไม่มีความรู้สึก แต่การกระทบกระทั่งเพื่อให้โกรธรุนแรงจะมีความรู้สึกบ้างแต่ไม่รุนแรงนัก ไม่ถึงกับคิดอยากฆ่า

ถ้าหากโกลังโกละนี่ กระทบกระทั่งแรงๆ ยังเฉย แต่ถ้ากระทบบ่อยๆ ก็มีความหวั่นไหวเหมือนกัน ถ้าเอกพิซี เอกพิซีกับพระสกิทาคามีนี่มีความคล้ายคลึงกันมาก อย่างนี้เพื่อนด่าวันี้ อีก ๓ วันจึงรู้สึกว่าเขาด่า มีไหม เขาด่าวันนี้นะ นั่งฟัง ลืมไปว่าเขาด่าอีก ๓ – ๔ วันรู้สึกว่าไอ้หมอนั่นมันด่ากูนี่หว่า แหม มันไปไกลแล้ว จิตสงบมากนะ นี่เป็นเครื่องสังเกต

ถ้าอารมณ์พระโสดาบันเกิดขึ้น คำว่าธรรมดาย่อมปรากฏ คำว่าธรรมดาปรากฏก็หมายความว่า ถ้าเราเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ก็ถือสุภาษิตว่า
นัตถิ โลเก อนินทิโล คนที่ไม่ถูกนินทาเลย ไม่มีในโลก
การกระทบกระทั่ง การนินทา เป็นของธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลกนี้ ทุกจุดในโลกนี้เต็มไปด้วยการนินทาและสรรเสริญ สรรเสริญก็มี นินทาก็มี

ฉะนั้นคนที่เป็นพระโสดาบันจึงใจเชื่องไปหน่อย ใจจืดไปนิดสำหรับการนินทาและสรรเสริญ เขานินทาความหั่นไหวก็น้อย เขาสรรเสริญการยินดียิ้มแย้มแจ่มใสก็น้อยไป มันยอมรับนับถือความเป็นจริงว่าเราจะดีหรือจะชั่วอยู่ที่การประพฤติปฏิบัติ ก็วันนี้มันมาอย่างไรนี่ถึงมาลงพระโสดาบันได้ ก็รวมความว่า ไหนๆ พูดแล้วก็พูดกันไป เข้าเรื่องกันให้ได้นะ

ทีนี้มาถึงการปฏิบัติบรรดาท่านพุทธบริษัท เมื่อคืนนี้พูดถึงอริยสัจ อริยสัจคือทุกขสัจ เห็นว่าโลกนี้เป็นทุกข์ การเกิดเป็นทุกข์ ต่อนี้ไปก็จะขอพูดเรื่องวิปัสสนาญาณสักข้อหนึ่ง ใช้คำศัพท์ว่าวิปัสสนาญาณรู้สึกว่าจะหนักนัก คำว่าวิปัสสนาญาณภาษาไทยเขาแปลว่ารู้แจ้งเห็นจริง ถ้าพูดให้เข้าใจชัดก็แปลว่าเข้าใจตามความเป็นจริง

วิปัสสนาญาณข้อนี้ขอนำนิพพิทาญาณมา นิพพิทาญาณนี้เป็นอารมณ์ของพระอนาคามี ถ้าหากถามว่าถ้าจะเป็นอนาคามีได้ไหม ก็ต้องตอบว่า เป็นได้หรือไม่ได้ก็ไม่แปล เราจะใช้อารมณ์เบื่อหน่ายสักวันละ ๒ นาทีจะไม่ได้หรือ พยายามชนะกำลังใจสักวันละ ๒ นาที ให้มีความรู้สึกเบื่อหน่ายโลกนี้จริงๆ จะเอาเวลาไหนก็ได้

ก่อนหลับหรือตื่นใหม่ๆ ก็ได้ เพราะตื่นใหม่ๆ มันหายเพลีย พอลืมตาขึ้นมาปั๊บก็คิดถึงความจริงของโลกนี้ ว่าโลกนี้มีมุมไหนบ้างที่มีความสงบหรือมีความสุขจริง เราก็จะไม่พบความสุขหรือความสงบของโลก โลกจะมีความวุ่นวาย ที่พระยศท่านบอกว่าที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ คำว่าวุ่นวายคือตัวเราเองก็วุ่นวาย 

พวกเราตื่นขึ้นเช้าสิ่งที่ต้องทำก็คือกิน ถ้าไม่กินมันก็หิว ก่อนที่จะกิน ก่อนนั้นมา ก็ต้องหาเงินหาทองมาเพื่อกิน แล้วอาศัยสถานที่อยู่ นี่ก็วุ่นวายพอดู นี่ก็วุ่นวายตลอดชีวิต ตอนนี้มาความวุ่นวายของร่างกาย ร่างกายของเราจากความเป็นเด็กมันก็มาความเป็นหนุ่มเป็นสาว มันไม่ทรงตัว มันเคลื่อนเรื่อย พอถึงความเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วมันเคลื่อนไปหาวัยกลางคน จากวัยกลางคนมาถึงคนแก่ จากคนแก่ก็จะเป็นคนตาย ขณะที่ทรงชีวิตอยู่ ยังไม่ตายก็มีการป่วยไข้ไม่สบายบ้าง กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่เราไม่ชอบใจบ้าง พลัดพรากจากของรักของชอบใจบ้าง

ก็รวมความว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย ไม่น่าอยู่ เอาง่ายๆ แบบนี้ก่อนนะ แล้วก็ตัดสินใจมองดูว่าโลกนี้มุมไหน เราจะเกิดเป็นคนธานะเช่นใดบ้างที่พ้นจาก
๑. ความแก่
๒. ความป่วย
๓. ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจ
๔. ความตาย

เราจะเกิดในตระกูลไหนที่มันจะพ้นจากอาการนี้ ถ้าคิดจริงๆ แล้วเราก็ไม่พ้น ไม่ว่าตระกูลไหนทั้งหมด คนฐานะเช่นใดทั้งหมดก็มีประสบการณ์เหมือนกัน ต้องแก่เหมือนกัน ต้องป่วยเหมือนกันหมด

ก็มองไปดูว่าถ้าเราเกิดในโลกนี้อีกกี่ชาติ เมื่อใดเราจะพบกับความสุขคือความมั่นคง คำว่ามั่นคงหมายความว่าเที่ยง จะไม่มีการเคลื่อนตัว เราก็ไม่พบอีก เพราะโลกทั่งโลกเป็นอนิจจัง เป็นของไม่เที่ยง แต่ความจริงอาการอย่างนี้ของพระอาทิตย์เที่ยง แต่เรามีความรู้สึกว่าไม่เที่ยง คนที่เรารัก คนที่เราเคารพ คนที่เราชอบใจ ต้องการให้ท่านอยู่กับเรานานๆ ตลอดกาลตลอดสมัยแต่วาระเข้ามาถึงท่านก็ต้องตาย ความไม่เที่ยง ความสลดใจความเสียใจอ้างว้างก็เกิดขึ้นกับเรา 

นี่รวมความว่าโลกนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ น่าเบื่อเหมือนกัน ร่างกายของเราพอแก่ก็เดินเข้ามาหาความตายทุกวัน จะเลี้ยงขนาดไหน จะรักษาขนาดไหน จะบริหารขนาดไหน ร่างกายก็ไม่หยุดความแก่ ในที่สุดมันต้องตาย ก็น่าเบื่อร่างกายเราอีกเหมือนกัน

รวมความว่าโลกก็ดี สมบัติของโลกก็ดี คือเรา คือสิ่งที่น่าเบื่อนั่นก็คือร่างกาย ถ้าหากว่ามันเบื่อจริงๆ เราก็ต้องคิดอย่างพระโมคคัลลาน์กับพระสารีบุตร ที่พระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรท่านดูมหรสพ ดูไปปีก่อนๆ มาเคยมีความรื่นเริงบันเทิงใจกับมหรสพ ในกาลควรให้รางวัลก็ให้ ควรชมเชยก็ชม

แต่ว่ามาปีสุดท้ายทั้ง ๒ ท่านดูมหรสพไม่สนุก นั่งดูสองคนตั้งแต่ต้นจนปลายไม่มีใครยิ้ม ไม่มีใครชม ไม่มีใครให้รางวัลทั้งสองคน เมื่อเลิกแล้ว ทั้งสองท่านก็ถามว่าเพื่อนทำไมเหงาไป ต่างคนต่างก็ถามว่าเธอคิดอะไร

ทั้งสองคนก็มีความรู้สึกเหมือนกันว่านับตั้งแต่มหรสพก็ดี คนดูก็ดี ทั้งหมดนี้ไม่ถึงร้อยปีต่างคนต่างตายหมด เราผู้ดูก็ตาย ผู้แสดงก็ตาย คนอื่นที่มาดูก็ตายเหมือนกัน แล้วก็พากันคิดว่าธรรมที่ทำให้บุคคลเกิดแล้วตายมีอยู่ ธรรมที่ธรรมให้คนไม่ตายต้องมีอยู่ เพราะโลกนี้มีของคู่กัน คือมีมือก็ต้องมีสว่าง มีรักก็ต้องมีเกลียด

ก็รวมความว่าทั้งสองคนตัดสินใจหาโมกขธรรม คำว่าโมกข์แปลว่าพ้น คือธรรมเป็นเครื่องพ้นจากความตาย ท่านจึงเดินไป ผลที่สุดก็ไปชนสำนักสัญชัยปริพาชก ในที่สุดสำนักนั้นสองดีไม่พอ ไม่พ้นจากความตาย ไปพบพระอัสชิเข้า ก็ไปหาพระพุทธเจ้า

บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทก็เช่นเดียวกัน ในเมื่อเห็นว่าเราจะต้องเกิดอย่างนี้ ต้องมีความทุกข์แบบนี้ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงแบบนี้ ต้องถูกทรมาณแบบนี้ ต้องตายแบบนี้ทุกชาติ เราก็หาทางพ้นจากความเกิดเสีย

ความพ้นจากการเกิดอันดับแรกอย่างท่าน ก็คืออารมณ์พระโสดาบัน คิดว่าชีวิตนี้มันต้องตาย เราไม่ต้องการชีวิตอย่างนี้ต่อไปอีก การที่เราจะพ้นจากความตายต่อไปได้ก็ต้องอาศัยพระพุทธเจ้า พระธรรมพระอริยาสงฆ์เป็นที่พึ่ง ยอมรับนับถือด้วยความจริงใจ หลังจากนั้นก็มีศีล ๕ กรรมบถ ๑๐ ให้ครบถ้วน รักษากำลังใจกำลังกายให้มีความสุข

เมื่อเรามีความสุขตามนี้จิตก็คิดว่าเราต้องการนิพพานจุดเดียว เมื่อทรงอารมณ์อย่างนี้ได้แล้ว ก็ตัดตัวสุดท้ายคืออวิชชาอวิชชานี่พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่าตัวไม่รู้ คือไม่รู้อริยสัจ ไม่รู้ความจริง อย่างอื่นเขารู้ แต่ตัวที่จะไม่เกิดเขาไม่รู้อวิชชา พระพุทธเจ้าทรงแยกไว้ในขันธวรรค แยกศัพท์ไว้เป็น ๒ ศัพท์คือ ฉันทะกับราคะ

อันดับแรกก็คือตัดฉันทะ คือความพอใจในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แดนพ้นทุกข์ ในมนุษย์มีแต่ความทุกข์ไม่มีความสุข เทวโลกกับพรหมโลกมีความสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีก็ต้องมาเกิดใหม่ เราตัดสินใจว่าขึ้นชื่อโลกทั้ง ๓ เราไม่ต้องการ เราต้องการนิพพานจุดเดียว

หลังจากนั้นก็ตัดราคะ คือความเห็นว่าสวยเห็นว่ามนุษย์โลกสวยไม่มีในเรา เห็นว่าเทวโลกและพรหมโลกสวยก็ไม่มีในเรา เราต้องการนิพพาน

ในเมื่อจิตต้องการนิพพานอย่างนี้ ก็ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทใช้อารมณ์ใจวางเฉย เหนือจากนิพพิทาญาณขึ้นไปหน่อย เป็นตัวสุดท้ายคือ สังขารุเปกขาญาณ

สังขารุเปกขาญาณเป็นวิปัสสนาญาณตัวสุดท้าย คือไม่จำเป็นต้องใช้ทั้ง ๙ ตัว ถ้ามีความฉลาดพอสมควรก็ใช้แค่สองตัวก็พอสำหรับวิปัสสนาญาณ ใช้สังขารุเปกขาญาณคือฝึกเฉพาะเวลานิดหน่อย

สังขารุเปกขาญาณคือวางเฉยในร่างกาย ร่างกายมันจะแก่เราไม่ทุกข์เพราะว่ามีความรู้สึกตามธรรมดาว่าร่างกายมันเกิดมาเพื่อแก่ ร่างกายป่วยมันก็มีทุกขเวทนาเป็นเรื่องของมัน แต่ใจไม่ยอมทุกข์ด้วย ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของร่างกายที่เกิดมา มันต้องป่วยอย่างนี้เหมือนกันทุกคน แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังต้องมีหมอชีวกโกมารภัจจ์ เป็นหมอประจำตัว เพราะป่วยเหมือนกัน

ก็รวมความว่าร่างกายจะเป็นอย่างไรก็เป็นเรื่องของร่างกาย อย่างนี้ใช้เวลาฝึกอารมณ์จิตสักวันละ ๑๐ นาทีก็พอ ถ้าจะได้มากกว่านี้ก็ดี ตัดสินใจว่าถ้าร่างกายเลวๆ อย่างนี้มันต้องแก่มันต้องป่วย อย่างนี้เราก็ไม่ต้องการมันอีก ถ้าร่างกายนี้พังเมื่อไหร่ขอไปนิพพานจุดเดียว หลังจากนั้นก็หาทางทำลายรากเหง้าของกิเลสก็คือ

๑ ตัดโลภะด้วยจาคานุสติกรรมฐานและการให้ทาน ยังไม่มีทรัพย์สินจะให้โอกาสยังไม่มีให้ก็คิดว่า ถ้าใครเขามีทุกข์เราจะสงเคราะห์ให้มีความสุขตามกำลัง ถ้าโอกาสเรามีเราก็ให้ โอกาสไม่มีเราก็ไม่ให้ ใช้กำลังใจตัดไว้ก่อน

พยายามค่อยๆ ตัดโทสะเบาๆ ด้วยเมตตาและกรุณาทั้ง ๒ ประการ คือตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์ กำลังของศีลจะบริสุทธิ์จริงก็คือ ๑ ต้อมีเมตตา ความรัก ไม่ใช่สมาทานเฉยๆ ๒ กรุณาความสงสาร พยายามให้อภัยแก่บุคคลที่ทำให้เราไม่ถูกใจตามสมควร เอาแค่วันละเล็กน้อย

ในที่สุดก็พยายามตัดโมหะคือความหลง หลงที่เห็นว่าร่างกายเราดี ตอนนี้เราไม่หลงแล้วคือเห็นว่าร่างกายมันไม่ดีอยู่แล้ว หากว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งใจทำอย่างนี้ แล้วใช้อารมณ์สังขารุเปกขาญาณ วางเฉยในการเคลื่อนไหวของร่างกาย ร่างกายจะแก่ก็เชิญแก่ เป็นเรื่องของเอ็ง ร่างกายจะป่วยก็เชิญป่วยเป็นเรื่องของเจ้า ร่างกายจะตายก็ตายไป เมื่อตายเมื่อไหร่เราต้องการนิพพานเมื่อนั้น

ถ้ารักษากำลังใจและปฏิบัติจากการให้ทาน ทำลายความโลภ
รักษาศีลทำลายความโกรธ
แล้วก็เข้าใจความจริงของร่างกายเพื่อตัดความหลงอย่างนี้

ถ้ากำลังใจของท่านพุทธบริษัทแบบนี้นะ ง่ายๆ ถ้าเวลาจะตายจริงๆ เมื่อเวลาป่วย กำลังอารมณ์ทั้งหมดจะรวมตัว มันจะมีความรู้สึกเฉยๆ กับอาการป่วยของร่างกาย ร่างกายมันจะตายก็เป็นเรื่องของมัน กำลังใจในตอนนั้นของบรรดาท่านพุทธบริษัทมันจะเฉยๆ ทุกอย่าง ไม่ห่วงร่างกายด้วย ไม่ห่วงบุคคลด้วย ไม่ห่วงทรัพย์สินด้วย จิตใจตั้งตรงจุดเดียวคือพระนิพพานถ้ากำลังใจแบบนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท ตายเมื่อไหร่ไปนิพพานเมื่อนั้น

เวลาหมดพอดี ต่อนี้ไปขอบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายตั้งใจสมาทานศีล สมาทานพระกรรมฐาน สวัสดี

by admin admin ไม่มีความเห็น

ตอน 32

วันนี้ก็จะเล่าเรื่องทริปการฝึกมโนมยิทธิ..สงครามช้างเผือกครั้งที่1

จุดเริ่มต้นแห่งสงครามครานี้ เกิดจากน้องๆที่เชียงใหม่สนใจจะฝึกก็จัดไปอย่าให้เสียศรัทธา ผมเดินทางวันเสาร์เช้าครับถึงสนามบินตอนตี4เศษแหมมาเช้าจัด

หลังจากจัดแจงเสร็จก็เดินเล่นครับ พอดีน้องคนนึงโทรมาครับน้องนั้งเครื่องไปพร้อมกับผม คุยไปคุยมาหลวงพ่อท่านมาก็บอกว่าทุกคนที่มาตั้งใจมาและอยากให้ผมเต็มที่ก็รับปากท่านครับ มาถึงเชียงใหม่ก็ได้พี่หมู ท่านแม่ทัพน้อยจัดม้ามารับและเดินทางไปยังวัดโขงขาว

มาถึงก็เจอพี่ๆน้องๆนั่งกันหน้ามึนๆงงๆ สงสัยจะงงไอ้นี่หรอจะมาสอนมโนยิทธิ ผมทักทายทุกคนที่มาและทักทายที่ไม่ใช่คนที่มาก็มาก จากนั้นก็ลุยกันครับรายละเอียดการฝึกขอไม่เล่านะครับเอาไว้ให้เจ้าตัวมาเล่าเองรอบแรกไปได้เกือบหมดยกเว้น2คนครับ ก็จัดไปครับอัดพลังส่งกระแสให้ไป2คนพอใจเบาสบายก็ไปกันได้

การมาเชียงใหม่คราวนี้ผมมีเรื่องประเภทอภินิหารและเหลือจาเชื่อมาเล่าหลายเรื่องครับ ออคราวนี้พระพุทธเจ้าท่านสงเคราะห์ผมเหมือนเดิมและหลวงพ่อท่านก็อยู่ด้วยตลอดการฝึกครับ

การฝึกในช่วงกลางวันและกลางคืนมีเทวดา พรหม นาค นางไม้ มาชมบารมีพระพุทธเจ้ากันมากครับบางท่านสัมผัสได้ว่ามีสิ่งที่มองไม่เห็นมากันมากมาย โชคดีของทริปเราครั้งนี้ครับวัดนี้เป็นของเราล่อญาน8ตั้งแต่3ทุ่มยันตี4 แต่ครั้งนี้ผมเตรียมพร้อมครับอัดแบรนด์ไปร่วม10ขวดครับหากฉีดเข้าเส้นได้คงฉีดไปแล้วครับทำให้ผมมีแรงเหลือลุยได้ไม่จำกัด

เช้าวันรุ่งขึ้นก็ไปวัดพระพุทธบาท4รอย ผมนอนไปราว2ชั่วโมงเศษก็ตื่น. ช่วงหลังมานี่นอนน้อยครับแต่ไม่ยักง่วงที่ไม่ง่วงก็น่าจะเป็นเพราะทรงอารมณ์ฌานได้อาการง่วงนอนจึงไม่มีแต่อารมณ์ดีทั้งวันครับหัวเราะได้ทั้งวัน วันอาทิตย์ทุกคนได้มโนมยิทธิบางคนแจ่มใสบางคนได้แค่ความรู้สึกแรกครับ หลังจากลุยกันมาทั้งคืนวันนี้มีไปกราบพระพุทธบาท4รอยครับ ระหว่างทางก็คุยไปใช้ญานดูนู้นนี่นั้นไป ฮากันไปครับ

จนไปถึงวัดแหมเทวดามากจริงๆครับวัดนี้คล้ายว่าท่านจะทราบก็มาทักทายกันมากครับ. จากนั้นก็ไปสักการะรอยพระบาทครับ และไปกราบพระพุทธเจ้า28พระองค์ ออก่อนไปกราบพระพุทธเจ้า28พระองค์ พอดีว่ามีรูปหล่อหลวงพ่อท่านอยู่ แวบแรกมองก็อ้าวท่านมาจริงหรือเราคิดไปเอง ผมเห็นรูปหล่อท่านเป็นหลวงพ่อท่านมานั่งอยู่ครับ ผมคลานเข้าไปกราบที่ตักท่านครับท่านลูบหัวด้วยความเมตตาแล้วพูดกับผมว่าดีลูกดี และสอนผมเรื่องการรักษาอารมณ์พระอริยเจ้าผมกราบท่านในท่าเดิม. จุกลำคอ น้ำตาไหล หลายคนในทริปหากใช้มโนมยิทธิดูก็จะทราบครับว่าท่านมาจริงมั้ย จากนั้นแวะอีกสองสามวัด

กลับมาถึงวัดโขงขาวราวบ่าย3โมงครับ กลับมาก็จัดเต็มกับน้ำมนต์ให้ท่านที่ถูกลมเพลมพัดและถอนของไม่ดีออกจากร่างกาย น้ำมนต์นี่เป็นวิชชาของอิสลามครับ จากนั้นก็ช่วงสุดท้ายเป็นการสรุปผลการปฏิบัติและชาร์จแบต แหมอีตอนนี้หลายคนชอบครับเรียกคิวกันรับกระแส บางท่านผมก็ให้กระแสเบาสบาย บางท่านผมก็จัดไปเอาแบบได้แล้วน้ำตาไหลจุกลำคอ บางท่านก็ได้ทั้งสองอย่าง จัดเต็มครับ ใครจะว่าอวดเก่ง อวดฤทธิ์ อะไรก็ตามใจท่านนะแล้วแต่จะคิดกัน

อยากรู้ก็ไปถามท่านที่ได้รับและกันนะว่าเค้ารู้สึกแบบไหนกันบ้าง จากนั้นก็แยกย้ายครับ ผมตัดสินใจยังไม่กลับและคิดว่าจะอยู่ต่ออีกเพราะไม่รู้จะกลับไปทำอะไร. มีคณะช้างเผือกติดตาม8ชีวิต ก็ไปเที่ยวกันครับ ไปวัดถ้ำเมืองนะ ไนท์ซาฟารี ปาย วัดพระนางจามเทวี พระพุทธบาทตากผ้า. พระธาตุลำปางหลวง ดอยสุเทพ. เยอะครับคุ้มแหละ ผู้ติดตามที่ตามผมไปนี่ได้ฝึกต่อกันหมด ผมก็จัดสรรแบบจัดเต็ม.

มีหลายเรื่องครับที่ว่าอภินิหารบ้าง แสดงอะไรที่พิสดาร ให้ผู้ติดตามได้ดูได้ฝึก สนุกกันมากและมันส์มากมาย เช่น การระลึกย้อนอดีตที่เมืองปายครับแหมที่นี่เร้าใจมาก เป็นสถานที่ๆคณะเราเคยมาพักแรมเมื่อสมัยปราบกบฎเมืองย่อยๆหน้าด่าน พวกเราที่มาเคยก่อกองไฟนั่งคุยกันครับ ขณะนั้นผมยกทัพมาราว500คนเศษ แต่ไม่ต้องการรบเพราะเหมือนมาตายครับมากันแค่500จะไปสู้เมืองที่มีกำลังราว2-3พันได้ยังไง ก็เลยวางแผนกันครับว่าจะเจรจาจะเห็นสมกว่าแต่หากเจรจาไม่สำเร็จก็ต้องสู้ตายคล้ายเหมือนมาตายกันนั้นแหละครับ

ในคืนวันนั้นก็คุยกันครับว่าเราทั้งหมดจะมีชีวิตรอดมานั้งคุยกันแบบนี้อีกมั้ย มีการบอกกล่าวเทวดาบริเวณนั้นครับ แหมความจริงเทวดาท่านมาหาผมก่อนตั้งแต่ก่อนเข้าพักที่รีสอร์ทนี้อีกครับท่านมา3องค์ ท่านเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราช มาเล่าให้ฟังว่าสมัยนั้นผมได้บอกกล่าวเหล่าเทวดาที่ดูแลเขตบริเวณนี้ไว้ให้ท่านช่วยเหลือคุ้มครอง ก็แปลกดีครับ คืนที่นอนที่เมืองปายเราฝึกมโนมยิทธิกันครับคืนนี้รีสอร์ทเป็นของเราไม่มีใครก็ดีหน่อยแหมไปที่ไหนคนแตกตื่นกันครับ. สงสัยคณะเราจะบ้าๆบอๆเพี้ยนๆ ฮากันไป คืนนี้การฝึกผ่านไปได้ด้วยดี

จากนั้นก็ปล่อยโคมลอยกันครับ ช่วงปล่อยโคมลอยนี่ผมก็รอให้เค้าปล่อยกันไปอ้าวจังหวะเหมาะโคมเหลือก็อธิษฐานร่วมกันครับ เวลานี้ผมก็กล่าวนำครับแหมพระท่านมาเรียกชื่อผมพอดีก็เลยเอาชื่อที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกครับ ใช้กล่าวนำอธิษฐานนำขอบารมีพระพุทธเจ้านำและขอเกิดชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย พูดถึงชื่อนี่ก็แปลกครับผมเพิ่งได้ยินชื่อนี้ครั้งแรกก็งงๆครับปกติพระท่านจะเรียกผมว่าเธอแต่คราวนี้ท่านเรียกชื่อ มาล่าสุดน้องคนนึงที่มาฝึกในทริปมาพบผมเพื่อฝึกญาน8 น้องคนนี้ไม่ได้ไปเมืองปาย ผมก็เอาเลยครับให้น้องเค้าถามพระว่าท่านเรียกชื่อผมว่าอะไร น้องท่านนี้ตอบชื่อผมถูกตามที่พระท่านเรียก หลายคนที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ทึ่งกับความสามารถของน้องท่านนี้ นานๆผมจะเจอคนที่คุยกับพระได้และวางอารมณ์ได้ แหมถ้ารู้ว่าชาจทแบตให้แล้วทุกคนคล่องตัวแบบนี้ คงต้องชาจทกันหมดทุกคนกระมัง

ขากลับก็แวะเที่ยวตามทางครับจนมาแวะทานกาแฟร้านนึง ร้านกาแฟร้านนี้สวยมากครับผมเอารูปลงเฟดไว้ไปดูกันได้ พอสั่งกาแฟเสร็จ ผมก็เดินดูรอบๆมีเทวดาชั้นจาตุท่านมาพบครับท่านว่าท่านปกครองดูแลเขตนี้อยู่ เจ้าที่ก็มาพบครับคุยกันเรื่อยเปื่อยไป ระหว่างคุยอยู่มีภาพอุบัติเหตุรถตู้สีขาวแหกโค้งเข้ามาที่ร้านและมีคนได้รับบาดเจ็บมาก เทวดาองค์นั้น ออ ผมลืมถามชื่อท่านเสียด้วย ท่านบอกว่าผมเนี้ยช่วยได้ ก็ถามท่านครับว่าช่วยยังไงท่านบอกว่าผมทราบดีอยู่แล้ว นั่นล่อผมเข้านั่น ท่านรู้วาระจิตผมครับ ผมก็ลงมือเลย เดินจงกลมดึงสมาธิให้เข้าฌาน พักเดียวเมื่อรู้สึกว่าเข้าฌานได้ถึงที่สุดแล้ว ผมใช้คาถาพระพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ก็เดินเป่าเพี้ยงๆๆไปเรื่อย คนเห็นคงคิด แหมยังหนุ่นยังแน่นไม่น่าบ้าๆบอๆ เป่าเสร็จก็คิดครับหลวงพ่อท่านเคยบอกว่าการที่เราจะทำอะไรไว้เพื่อคุ้มครองคนอื่นนี่อย่าใช้กำลังตัวเอง

ท่าจาจริงเพราะตัวผมยังคุ้มครองตัวเองไม่ได้ ก็เอาใหม่ครับทีนี้ก็ใช้มโนมยิทธิแหละครับขึ้นกราบพระพุทธเจ้าข้างบน จากนั้นขอบารมีพระองค์สงเคราะห์ เวลานี้ผมใช้มโนมยิทธิแบบเกือบเต็มกำลังและลืมตา ผมกำหนดโดยการอฐิษฐานสร้างกำแพงขึ้นมาเป็นแนวยาวครับ เดิมทีตั้งใจให้กำแพงนี้เป็นสีแก้วคล้ายกำแพงวิมานพระพุทธเจ้า แต่นี่ครั้งแรกครับ ผมกำหนดขึ้นเป็นกำแพงคล้ายกำแพงเมืองมีหลายชั้น มีความรู้สึกว่าเออ ง่ายดีจังแค่กำหนดกำแพงมาจากนั้นอาราธนาบารมีพระพุทธเจ้าท่านคลุม เวลานี้มากันอีกครับ เทวดา พรหม นางไม้ เจ้าที่ เจ้าเขา ท่านมากราบสักการะบารมีพระพุทธเจ้า กำแพงนี่ผมกำหนดเสร็จจะเป็นสีน้ำตาลครับออกทองๆ พอ พระท่านช่วยตอนนั้นก็เป็นสีแก้วระยิบระยับมีสีรุ้งล้อมรอบครับ พอเสร็จผมเห็นเป็นสีขาวแทน เลยไม่รู้ว่าตกลงเอาไงแน่ ตอนนี้เริ่มชักมันส์ครับ ผมเดินเข้าไปถามคณะที่มาด้วยกันว่าเห็นอะไรมั้ย บางคนเห็น บางคนไม่เห็น บางคนบอกเห็นเมือง บางคนบอกเห็นกำแพง

เออ ใช้ได้ๆ ไม่เสียแรงฝึก ระหว่างที่ผมยืนคุยนั้นมีน้องท่านนึงอยู่ใกล้ผมครับ น้องท่านนี้บอกครับว่าผมเดิมมาอยู่ใกล้ๆแล้วมีความรู้สึกวูบวาบ ขนลุก และสัมผัสได้ถึงพลังงานบางอย่าง

ผมกำหนดดูผลงานชิ้นล่าสุดอีกครั้งครับ เออดีกว่าผมทำเองเยอะ อีแบบนี้ช่วยปกป้องคุ้มครองคนได้จริงๆ ผมดูต่อครับว่ากำแพงนี่จะอยู่ไปนานแค่ไหน แหมขอไม่บอกแล้วกันนะ

การมาเชียงใหม่ครั้งนี้ชาวคณะที่ติดตามก็เหมือนหนูลองยาแหละครับผมก็ลองไปเรื่อยไม่รู้นึกพิเรนพิสดานอะไรขึ้นมา มีอยู่วันนึงครับวันนั้นกลับจากการกราบหลวงตาม้า มานั่งกินข้าวกันกินเสร็จผมก็นึกสนุกครับถามทุกคนว่าอยากเห็นเมืองสุโขทัยสมัยก่อนมั้ย แหมตอนนี้งงกับผมแหละครับ ผมบอกว่าผมจะเอาเมืองเชียงใหม่สมัยก่อนนั้นมาวางไว้บนโต๊ะที่เรากินข้าวกัน

เอาแล้ว..ตื่นเต้นกันแหละครับเวลานี้ชาวคณะเริ่มสนอกสนใจ ผมก็จัดเต็ม อะไรประเภทพิสดารนี่ผมรู้เองว่าต้องกำหนดยังไงทำยังไง เออ แปลก ผมให้ทุกคนทำอารมณ์ใจเบาๆสบายๆ จากนั้นผมก็เอาเมืองเชียงใหม่ออกมาวางบนโต๊ะกินข้าวครับ เมืองที่เอาออกมาวางนี่เป็นภาพ4มิติ ย้ำอีกครั้ง4มิติ น้านเป็นไง ท่านผู้อ่านคงจะงงๆว่าเป็นยังไง หากท่านเคยดูหนังเรื่อง ไอร่อนแมนภาค2 ภาพจะลอยแบบในหนังเรื่องนี้เลยครับ

เวลานี้ทุกคนเห็นเมืองกันครับอธิบายได้ถูกต้องหมด ออ เค้าลืมตากันหมดเลยนะครับเห็นแบบลืมตานี่แหละ ที่นี้ชักสนุกครับ เอามาทุกเมืองเลย ทั้งเชียงใหม่ อยุธยา ดูกันไปเล่ากันไป เอ้าเด็กเสริฟกับเจ้าของร้านชักงง เออไอ้พวกนี้ท่าจะบ้ากันทั้งคณะ ชี้ว่าเจดีย์อยู่ตรงนี้ วังอยู่ตรงนั้น เออเอาเข้าไป ใครเห็นก็งงแหละครับบ้าๆบอๆกันหมด แต่คณะเรานี่สิสนุกกันมากครับทำไปทำมาก็นึกสนุกครับ

ที่ว่านึกสนุกนี่ก็เพราะน่าจะแจ่มถ้าผมเอามาใช้ร่วมกับเจโตของผม ซึ่งปกติเจโตผมนี่ยังงูๆปลาๆอยู่ หากเอาความคิดคนอื่นดึงออกมาแล้วทำเป็นภาพ4มิติดูบนโต๊ะนี่คงมันส์มากกกแต่ติดตรงที่ว่าถ้าดูคงต้องดูคนเดียวก็ลองเลยครับ ผมนี่มันประเภทจะทำอะไรต้องทำให้ได้ความมุ่งมั่นสูงยิ่งเรื่องเจโตนี่แหมชอบบมากกกก ชาวคณะผู้ใกล้ชิดจะทราบดีครับว่าทำไมผมชอบฝึกเจโตและฝึกทุกวันซ้อมทุกวันเรียกได้ว่าไม่มีเบื่อกันเลยทีเดียว ก็ลองเลยครับเอาความคิดผุ้อื่นขณะนั้นมาวางบนโต๊ะแล้วดู เออแจ๋วจริงๆ ชาวคณะที่ไปกับผมบางทีเห็นผมนิ่งๆยิ้มคนเดียว ขำคนเดียว ก็คงคิดครับ เออพี่บอลนี่เป็นเยอะ เออพี่แกบ้ารึ แต่ก็อยากจะรู้ว่าผมเห็นอะไรมั่ง ใครถามก็ไม่บอกหรอกครับ ได้มโนมยิทธิแล้วดูเอง อย่าถาม ก็รวมความว่าได้ของเล่นใหม่มาครับ

ออพูดถึงหลวงตาม้าแล้วขอซักนิดนะ วันนั้นคณะเราไปกราบหลวงตาที่วัดครับไปถึงยังไม่พบหลวงตา ภาษาพุทธเรียกติดเพล หรือเปล่าไม่แน่ใจ พวกเราก็นั่งสมาธิฝึกมโนมยิทธิกันในถ้ำไปดูนู้นนี่นั้นกัน วันนี้พระศรีท่านมาหาตั้งแต่ตอนเดินทางเลยครับ มาถึงวัดก็พระศรีท่านอยู่ หลวงพ่อท่านมา พอหลวงตาท่านขึ้นมา ท่านมองจ้องมาทางผมครับ ชาวคณะคงเห็นแต่ไม่ทราบว่าเพราะอะไร ความจริงที่ท่านมองน่ะท่านมองพระศรีที่อยู่ข้างๆผมครับและท่านน้อมจิตกราบ จากนั้นตามท่านไปที่กุฏิเพื่อรับลูกประคำ ท่านเดินไปหยิบและเดินออกมามองหน้าผมอีกรอบท่านเดินตรงมาที่ผมและคล้องให้ผมก่อนตอนนั้นแหมปลื้มใจครับ

พระอีกรูปนึงที่คณะผมได้ไปกราบพร้อมกับคณะศูนย์พุทธศรัทธาคือ ครูบาอริยชาติ ที่เชียงรายครับ พระท่านอายุยังน้อยแต่บารมีมากมายครับ ท่านพุทธภูมิครับ เป็นพระอีกรูปที่จ้องตาผม ออขอขยายความอีกนิดนะความจริงพระกับผมนี่คุยกันยากเพราะผมใช้ภาษาคุยกับพระไม่เป็นเกรงว่าคุยไปคุยมาพระท่านจะงงๆกับผมว่าทำไมคุยแปลกๆ ซึ่งปกติหากเลี่ยงได้จะไม่ค่อยคุยกับพระครับ แหมเคยหน้าแหกมาแล้วครับกราบเสียสวยงามเชียวดันไปคุยกับคนข้างๆให้ท่านได้ยินว่าใกล้เที่ยงแล้วเดี๋ยวท่านต้องไปกินข้าวก่อน ท่านก็มองแบบงงๆ เออผมเลยเลือกที่จะเลี่ยงหากต้องคุยกับพระ แหมบางที่ก็จะเอาราชาศัพท์มาคุยกะท่าน เอ้าต่อ

ท่านเป็นพระอีกรููปที่มองแล้วมีความสุขใจปีติ ครับชาวคณะได้มากราบและร่วมทำบุญกับท่าน

มีอยู่ช่วงท่านมองอ.ชนะ แล้วก็บอกเกี่ยวกับอ.ชนะ แหมท่านก็ใช้เจโตนั้นแหละครับ ท่านว่าอ.ชนะนี่เมตตาสูง ไม่คิดร้ายกับใคร ท่านพูดเยอะนะแต่จำไม่ได้ ระหว่างที่ท่านสอนอยู่นั้นท่านมองผม2ครั้งครับครั้งแรกมองผ่านไปแล้วกลับมามองใหม่ ออ ผมไม่ได้คิดอะไรไม่ดีนะครับ แค่มองจริยาท่านแล้วน่ากราบจากนั้นมีอยู่ช่วงท่านพูดของท่านไปแต่ท่านก็มองไปทางอื่นแต่ท่านหมายถึงผมครับผมน้อมจิตฟังแล้วยิ้ม ท่านพูดเรื่องที่ท่านสอนผมเสร็จท่านก็หันมามองอีกครั้งแต่ครั้งนี้มองตาและมองนานครับ แหมปีติครับ ปลื้มใจ ขอน้อมกราบท่านอีกครั้งแบบสนิทใจครับ

ทริปสงครามช้างเผือกนี่น่ารักกันทุกคนครับ อบอุ่น หลายคนรู้สึกครับว่าเหมือนรู้จักกันมานานสนิทใจ และสนิทกันไว้มากก ก็ไม่แปลกสำหรับผมครับ เราเกี่ยวเนื้องกันเราถึงได้มาเจอกันและปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้น ในทริปนี้ทุกคนรู้จักพระนิพพานมากขึ้นกว่าเดิม สัมผัสได้ถึงความเมตตาที่หลวงพ่อท่านมีต่อพวกเราทุกคน เมื่อทุกท่านยอมตายเพื่อพระพุทธเจ้าและพระนิพพานได้ ผมจะยอมตายเพื่อสอนท่านให้รู้จักทางไปพระนิพพาน หากท่านไม่ทิ้งพระ พระจะอยู่กับท่านเสมอ และที่สำคัญคือท่านพ่อจะอยู่กับลูกหลานท่านเสมอครับ….

13-01-2012, 07:54 PM

by admin admin ไม่มีความเห็น

ตอน 31

นอนระลึกชาติและความเก่าแต่หนหลัง….

สวัสดีปีใหม่ครับ…วันนี้ก็จะเล่าเรื่องที่ค้างไว้ต่อเลยนะครับ

เมื่อราวๆเดือนตุลาคม ผมได้มีโอกาสพบน้องคนนึงเวลานั้นผมฝึกให้เธอแบบข้ามโลกกันไป แหมไปได้ดีแต่ชัดไม่ชัดอีกเรื่องครับ เวลานั้นผมมีความรู้สึกว่าเอ.. ทำไมเห็นแต่หน้าเธอตลอดหรือเราจะหน้าหม้อกระมัง แต่ก็ทบทวนความรู้สึกตัวเองครับแหมของเราออกจะเพอร์เฟกยังจะหาเรื่องหางานอีก

แต่แปลกครับผมคิดถึงเธอทุกวัน จนต้องใช้มโนมยิทธิย้อนดูครั้งแรกนี่ดูคราวๆนะครับ ย้อนไปในสมัยเชียงแสนเลยครับผมเห็นว่าสมัยนั้นแหมผมนี่นักรบขี่ม้าเก่งรบเก่งและมีเธอผู้เป็นลูกเจ้าเมืองในสมัยนั้น เป็นเมียมาก่อน นั่นเอาเข้านั้นแหมอีตอนนั้นก็ตายไม่ค่อยจะสวยซักเท่าไหร่ แต่ท่าจะนานจัดเลยย้อนดูใกล้ๆเข้ามาสมัยอโยธยาเป็นราชธานี เอออันนี้เริ่มชัดขึ้นมาหน่อยครับ เวลานั้นเธอเป็นลูกกษัตริย์ครับ ผมก็แหมอีตอนนั้นไม่อาจเอื้อมแต่ดูไปดูมา เอ ชักสงสัยเธอชื่ออะไรก็ดูต่อครับ คล้ายดูหนังนะเวลานี้นอนดูไปเรื่อย จนรู้ชื่อเธอก็ชักสงสัยครับว่า เราคิดไปเองหรือเปล่า

หลังจากนั้นไม่นานเธอติดต่อต้องการฝึกญาน8ต่อครับ ผมก็เอาเลยญาน8 จัดไป ก็ให้เธอดูนั้นดูนี่ไปเรื่อยจนมาดูอดีตชาติของตัวเอง นั่นเอาแล้วแหมอยากรู้ครับที่ดูเองจะตรงกันมั้ย ก็ให้เธอย้อยดูแต่ละชาติครับดูไปดูมาแหม เจาะลึกและครับ ผมให้เธอดูชื่อของตัวเองในชาติที่เกิดยุคกรุงศรีอโยธยา แหมเธอตอบชื่อไม่ได้ครับ

ผมเลยให้เธอถามพระ เวลานั้นเธอยังฟังพระไม่ค่อยจะได้แต่ได้ยินลางๆ แหมตอบเฉียดๆเกือบถูกครับเธอบอกชื่อเหมือนผู้ชาย ผมก็เอาเข้าแล้วงานท่าจะเข้า จากนั้นอีท่าไหนไม่รู้เอาชื่อสมัยเก่ามาก็ถูกตามที่ผมนอนดูแหละครับ หลังจบการฝึกครั้งนั้นก็เล่นซะอยากรู้แหละครับ ว่าเอ..มันจะตรงมั้ยแต่ไม่รู้จะถามใคร

มาช่วงเดือนพฤศจิกายน มีโอกาสไปศูนย์ครับวันนั้นไม่ได้ฝึกแต่ไปฝึกให้คนอื่น เห็นอ.วิอยู่ก็ แหมเอาซะหน่อย พอฝึกให้ผู้อื่นเสร็จก็คิดครับว่า ท่านจะบอกมั้ยหากถามแบบนี้ ผมก็เลียบๆเคียงๆคุยโน้นคุยนี่จนหมดเรื่องคุยก็ บอกท่านว่าอีกเรื่องครับอาจารย์เรื่องสุดท้าย ผมถามท่านว่าเธอนี่ใช่ลูกหลวงพ่อไหมครับและใช่พระ…….หรือไม่ใช่ครับ แหมโชคดีครับท่านดูให้บอกว่าใช่ไม่ผิด โฮๆๆแหมอีตอนนั้นดีใจล่ะครับที่ดีใจนี่เพราะมโนมยิทธิเราสามารถระบุชื่อได้ตรง แหมอีตอนนั้นรู้สึกว่าเพื่อนร่วมเวปชื่อ ชาตรี ช้างน้อยจะอยู่ด้วยกระมัง

ขออนุญาตเอ่ยนามเพราะเจอเรื่อง ช้างเหยียบลูกโลกเข้าไปนี่ตรึงจิตตรึงใจกับครูบาอาจารย์ท่านนี้จริงๆ แหมท่านรู้เรื่องในนี้โดยไม่ได้ใช้อินเตอร์เน็ต เอ้าต่อถึงไหนและช่วงนี้ประสาทสติเพี้ยนๆ ครับ

เออนอกเรื่องอีกหลังจากนั้นกลับมาก็จำได้ว่าคืนวันนั้นเลยครับ ย้อนดูในชาตินั้นด้วยความที่ผมชอบสอดเสือกเรื่องแบบนี้เป็นปกติวิสัย ก็ดูเห็นว่าสมัยนั้นเรานี่นักรบใหญ่ เธอนี่ก็ใช่ย่อย ดูไปดูมาแหมร้องไห้ซะเลยครับดีนะอยู่คนเดียววันนั้นแหมเรื่องมันเศร้าจริงๆ

ชีวิตเธอสมัยนั้นเศร้าหมองมากครับ ขาดความอบอุ่นสุดๆจากบ้านจากเมืองมา จมปลักกับชายชั่วเช่นผมผู้มากไปด้วยรัก แหมรักเค้าไปทั่วถูกใจใครจักต้องขอพ่อแม่เค้า เธอมักเศร้าโศกเสียใจในการกระทำของผมครับ มีอยู่คราวนึงวันนั้นเป็นวันงานอะไรซักอย่างหากจำไม่ผิดเป็นวันลอยกระทง เอาอีกแล้วลอยกระทงนี่แหมอธิษฐานอีก จำไว้นะน้องๆหนูๆอย่าไปอธิษฐานส่งเดชนะจะงานเข้าเสีย เธอก็อธิษฐานแหละครับ

เธอเรียกผมสมเด็จพี่ในยุคนั้นไอ้เราก็เออ เวลานั้นมันรักเยอะไปหมดใครจะขออะไรอธิษฐานอะไรก็ตามสะบาย ผมไม่เคยอธิษฐานต้องการเจอใครซักคน สรุปนอนน้ำตาร่วงทั้งคืนครับ มาวันที่สอง ตื่นมาก็คิดครับว่าเอ…เรานี่ท่าจะบ้าหนักคนไม่เคยรู้จักมักจี่ทำไมหน้าเธอลอยมาทั้งวัน หน้าเธอนี่หน้าสมัยนั้นนะครับ สไบแดง มีชฎาน้อยๆ ผิวพรรณดี รบเก่ง ใจถึง ไม่กลัวตาย และพร้อมรบและตายเคียงข้างผมในเวลานั้น

บางทีก็เป็นภาพใส่ชุดนักรบแบบชายอยู่บนคอช้าง แหมไม่รู้ชาตินี้เธอชอบขี่ช้างมั้ยไม่เคยถาม มาคืนนี้ดูต่อครับหลังจากสวดมนต์ไหว้พระเสร็จก็นอนผมกำหนดขึ้นพระนิพพานและดูภาพสมัยนั้นต่อ มีอยู่ช่วงนึงครับช่วงท้ายๆของบิดาเธอ เวลานั้นบิดาเธอคงเห็นว่าเธอทุกข์หลายเรื่อง บิดาเธอจึงทำในสิ่งที่พ่อหลายคนไม่ทำครับ ท่านบวชเพื่อให้ลูกๆและบริวารของท่านพ้นจากนรก ภาพนี้ก็เล่นเอาต่อมน้ำตาแตกอีกครับเพราะผมรักพ่อเธอเหลือเกินผม

ออกจากสมาธิมานั่งร้องไห้อีก เวรจริงๆอยากดูก็อยากแต่มันเศร้าแท้ครับ วันที่สามก็ดูจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตเธอในชาตินั้น เธอตายก่อนผมครับตายแล้วไปดีเสียด้วยไปอยู่ดาวดึงส์ ผมก็ดูชีวิตผมต่อเออยังดีชาตินั้นแก่ตาย ชาตินั้นผมรบทั้งชีวิต ฆ่าคนก็มากมายมากแค่ไหน ก็ลองนึกถึงทะเลสาปนะเอาศพไปทิ้งในทะเลสาปก็สามารถเดินข้ามได้สบายๆครับ

หลังจากนั้นมาเกิดอีก เกิดอีกเป็นนักรบอีกแต่ชาตินี้ดีหน่อยฆ่าน้อยกว่าเดิมหน่อย สองชาตินี่ผมรู้ชื่อตัวเองครับว่าชื่ออะไร แต่ย้อนไปจนถึงพระเจ้าประเสนธิโกสน ครั้นจะดูชื่อก็เห็นว่าไร้ประโยชน์ เอามันสองสามชาติล่าสุดก็แล้วกัน ชาตินี้รบหนักเหมือนกันครับฆ่าพม่ารามัญตายตกตามกันไปมากมาย ฆ่าพวกมันมาหลายชาตินัก จนพอมีลูกน้องเป็นพม่านี่แหมอยากกระทืบมันแบบไม่มีเหตุผล บางทีมองมันคิดในใจกูฆ่ามึงเสียดีมั้ยเนี้ย แต่เดี๋ยวนี้เบาลงไปเยอะครับ เป็นคนใจร้อนมาแต่ไหนแต่ไร เดี๋ยวนี้เย็นเป็นหิมะ แต่ไม่แน่นะครับ หิมะนี่กัดผิวหนังก็เอาเรื่องเหมือนกัน อ้าวนอกเรื่องอีก ถึงไหนแล้วชาตินั้นผมก็เรียกได้ว่า รบนอกแบบ นอกลู่นอกรอย มันติดมาจากสันดานเก่าๆเดิมครับอะไรที่รบพิสดารนี่ผมถนัด มันติดมาจนชาตินี้เลยครับ อะไรพิสดารนี่ล่อหมด ทำธุรกิจแข่งขันราคากับชาวบ้านก็หากลยุทธแปลกๆมาใช้บางทีลูกน้องตามไม่ทัน

ในชาตินั้นเธอตามมาเกิดอีกชาติครับเกี่ยวพันกับหลวงพ่ออีก เออดีสงสัยจริงเชียว ออเรื่องที่สงสัยนี่ไม่เล่าและกันนะไร้สาระแต่พวกขี้สงสัยคงอยากรู้ ชาติสุดท้ายก่อนผมลงมาจากดาวดึงส์ก็ตั้งใจครับว่าลงมาคราวนี้จะมาเป็นครั้งสุดท้ายแล้วชาตินั้นก็เป็นหลานหลวงพ่อครับรบแบบพลีกายถวายหัว ให้รบเสี่ยงตายแค่ไหนผมเอาหมดชอบจริงๆ ชาตินั้นเป็นชาติสุดท้ายครับดีตอนตายก็ไปดาวดึงส์ ก่อนลงมานี่ให้สัญญาไว้กับท่านแม่ว่าจะช่วยท่านพ่อพาพี่่น้องแห่งเราไปพระนิพพานกันชาตินี้

จากนี้ไปเราในลูกหลานท่านพ่อจักไปสุขกันที่พระนิพพาน คนประเภทบ้าๆบอๆเพี้ยนอย่างผมนี่มีน้อยครับขี้เกียจทำงานจะสงเคราะห์พี่น้องท่าเดียวเออดี หรือไม่มีอันนี้ไม่ทราบเพราะเห็นพล่ามบ้าบออยู่คนเดียวเที่ยวบอกทางไปพระนิพพานเค้าไปทั่วตัวเองอาจอยู่ไม่ได้ไปก็เป็นได้ครับ วันนี้กลับมาบ้านเจอน้องชายตัวเองเพิ่งกลับมาจากเชียงรายเลยถามไปดอยตุงมามั้ย มันบอกเปล่าขากลับแวะลำพูนไปที่พระธาตุไรจำไม่ได้ ดันไม่อยากกลับอยากอยู่ที่นี่ แล้วไปบูชาพระนางเจ้าจามเทวีมา ทั้งๆไม่รู้จักว่าเป็นใครมาจากไหน ตอนมันเล่าก็กินข้าวเย็นกันอยู่ ท่านแม่ท่านมายืนข้างๆน้องผมท่านบอกว่าดึงมาให้แล้วนะลูกพาน้องไปให้ได้

กินข้าวเสร็จเลยบอกน้องผมว่ามันเคยเกิดเป็นลูกท่านมาก่อนท่านอยากพบ เออดีมันยังไม่ด่าพี่มันบ้า จากนั้นผมก็พาไปด้วยวิธีพิเศษ แหมไปถึงพระจุฬามณีแต่เข้าเขตไม่ได้ครับ เทวดาท่านบอกศีลไม่ครบ เลยถามมันแหมมันบอกเพิ่งฉลองซัดเหล้าไปหลายวัน เออดีผมก็ไม่ได้ถามแต่แรกเล่นซะหมดแรง จากนั้นท่านแม่มาอีกครับบอกว่าเตือนลูกเราบ้างนะนั่นตกลงน้องหรือลูกชักงง แต่ไม่เป็นไรยังไงคงได้พาไปอีกเมื่อศีลได้ล่ะครับ

2-01-2012, 10:33 PM

by admin admin ไม่มีความเห็น

ธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่างๆ-ธรรมะที่ได้ขณะกินอาหาร

เรื่อง ธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่างๆ

ในวันพุธที่ 7 ต.ค. ปี 2535 หลวงพ่อฤาษีท่านเมตตาสอนเรื่องธาตุ 4 ในอาหารชนิดต่าง ๆ มีความสำคัญ ดังนี้

1. ผักบุ้งมีไวตามินสูง โดยเฉพาะไวตามินเอ คนตาไม่ค่อยเห็นในตอนกลางคืน เพราะขาดไวตามินเอ ผักบุ้งมีฤทธิ์ เป็นยาระบาย กินมากก็เสาะท้อง ท่านไม่ได้ฉันมานานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ชอบ และยังรักษาโรคไตได้ ที่ท่านฉันก็เพื่อให้ท้องถ่ายง่าย แต่ถ้าเป็นผักบุ้งดองก็แสลงต่อโรคไต คนท้องผูกเพราะธาตุไฟ ไม่ทำงาน ในคนสูงอายุธาตุไฟอ่อนกำลังเพราะความเสื่อมของร่างกาย

2. อาหารรสจัด ๆ ของเผ็ดร้อนเป็นธาตุไฟ ซึ่งพวกคนแก่จะทานได้น้อย เมื่อธาตุไฟอ่อนกำลังลงทำให้ไม่สามารถขับธาตุลม ให้ไปขับธาตุน้ำ ให้ไปไล่ธาตุดิน (ขี้หรืออุจจาระ) ให้ออกไปได้ ท้องคนแก่จึงผูกด้วยเหตุนี้

3. อาหารทุกชนิดมีทั้งคุณและโทษ ธรรมะที่เกี่ยวกับอาหารเป็นของละเอียด เพราะเกี่ยวข้องกับธาตุ 4 โดยตรง ซึ่งพวกพุทธจริต(คนที่ลาพุทธภูมิมาเป็นสาวกภูมิ)เท่านั้นจึงจะพูดกันเข้าใจและรู้เรื่องได้ดี ยิ่งพวกกินอาหารโดยขาดการพิจารณาด้วยยิ่งไปกันใหญ่ อาหาเรปฏิกูลสัญญา,ปัจจเวกขณะ 4 ซ้ำอาหารบางอย่างมีคุณค่าเป็นยารักษาโรค มีคุณค่าของอาหารต่าง ๆ กัน คนส่วนใหญ่กินอาหารตามสัญญาเดิม กินตามอุปาทานของตน และกินเพราะติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร

4. ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ทราบว่าขณะนี้ร่างกายกำลังขาดธาตุอะไร หรือมีธาตุอะไรเกินพอ จึงไม่สามารถเอาธาตุ 4 ภายนอกไปเสริมได้ถูก ดีไม่ดีแทนที่จะเป็นคุณกลับเป็นโทษก็ไม่น้อย

5. ผักมีธาตุน้ำพอ ๆ กับธาตุดิน ข้าว เผือก มัน ฟักทอง มีธาตุดินมากกว่าธาตุน้ำ ต้มจืดมีธาตุน้ำมาก ต้มยำมีธาตุไฟและธาตุน้ำมาก ผักดองมีแก๊ส(ลม) และกรดมาก ดังนั้นหากขาดธาตุลมต้องกินผักดอง น้ำตาลมีธาตุไฟมาก เป็นความหวานในขนมและผลไม้ ผลไม้ธาตุน้ำมากกว่าธาตุดินซึ่งมีแร่ธาตุหลายชนิด ความหวานเป็นธาตุไฟ ทุเรียนมีธาตุลมมาก แต่พวกมีเม็ดเลือดมากอย่ากิน
ความดันจะขึ้นสูงง่าย บางรายกินและลมดันขึ้นจนหัวใจวายตายก็มี ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเป็นธาตุไฟ ฝรั่งมีธาตุดิน แตงโมมีน้ำ 98 % เพราะฉะนั้นการกินจึงต้องใช้มัชฌิมา ไม่กินเพื่อให้อ้วน ให้ผอม ให้ผิวพรรณผ่องใส แต่กินตามที่ร่างกายต้องการธาตุที่ขาด (ธรรมเรื่องอาหารนี้จึงยาก เพราะละเอียดมาก ดังนั้นผู้ที่รู้ดีจริงในเรื่องนี้ จึงควรจะเป็นพระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณเท่านั้น) สับปะรดเปรี้ยวใช้รักษาโรคนิ่วได้ เพราะน้ำสับปะรดเป็นกรดสามารถละลายก้อนนิ่วได้

6. น้ำปัสสาวะมีธาตุดินออกมามากเหมือนกัน แต่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องอาศัยดูจากกล้องขยาย ถ้าต้องการเห็นด้วยตาเปล่า หากปัสสาวะเป็นกรด ให้เอาด่างเติมลงไป จะเห็นธาตุดินที่ละลายอยู่ในกรด ตกตะกอนเป็นสีขาว ๆ ให้เห็นได้ชัดเจน

7. สภาพของธาตุดินที่เห็นชัดคือกระดูก แต่ส่วนใหญ่อยู่ในรูปเหมือนโคลนที่อยู่ในน้ำเละ ๆ เปราะบางและสกปรก

ธรรมะที่ได้ขณะกินอาหาร 

1. ก่อนจะกินอาหาร เอาจิตคิดขอถวายอาหารเพื่อบูชาความดีของพระพุทธองค์ เพื่อเอาบุญเสียก่อน และเพื่อความไม่ประมาทในธรรม ควรอาราธนาคาถาป้องกันและทำลายพิษที่อาจมีอยู่ในอาหารเสียก่อนทุกครั้ง

2. พิจารณาอาหารเป็นอาหาเรปฏิกูลสัญญา รวมทั้งคุณและโทษของอาหารที่จะบริโภคด้วย เพราะบางคนแพ้หรือไม่ถูกกับอาหารบางชนิด ก็ต้องเว้นเสีย และต้องจำให้ได้ด้วย (หลวงพ่อฤาษีท่านไม่ฉันทุเรียนและสับปะรด เพราะไม่ถูกกับร่างกายของท่าน)


3. เห็นวัฏฏะ เห็นสันตติธรรม เห็นไตรลักษณ์ของธาตุ 4 เราจึงต้องเอาธาตุ 4 ภายนอก(อาหาร) เข้ามาเสริมธาตุ 4 ภายใน(ร่างกาย) อยู่เสมอ เป็นวัฏฏะ หรือสันตติ หรือไตรลักษณ์เวียนอยู่อย่างนี้ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายไม่มีวันหยุด หยุดเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น


4. พิจารณาเห็นทุกข์จากการหาอาหาร,ปรุงหรือประกอบอาหาร,ระหว่างบริโภคอาหาร และหลังบริโภคอาหารแล้ว มีทุกข์ตลอดเวลา มีรายละเอียดอยู่มาก ตั้งแต่การถางป่า ขุดตอไม้ ไถ ปลูก ระวัง รักษา เก็บเกี่ยวข้าว ขอเขียนย่อ ๆ ไว้แค่นี้(รวมทั้งทุกข์จากการประกอบอาหาร และทุกข์จากข้ออื่น ๆ จากอาหารด้วย)

5. ทุกข์จากระเบียบ วินัย มารยาทในการบริโภค โดยเฉพาะพระสงฆ์มีข้อบังคับอยู่มาก จะฉัน จะนั่ง จะเอื้อมมือตักอาหาร จะเอาช้อนเข้าปาก จะเคี้ยวไม่ให้มีเสียงดัง ห้ามพูดห้ามคุยระหว่างฉัน และอีกมากมาย


6. ทุกข์จากการติดในรูป รส กลิ่น สีของอาหาร อันเป็นทุกข์ที่เกิดจากใจ จากกิเลส ตัณหา อุปาทานที่เกาะติดใจมาทุก ๆ ชาติ หากเรารู้ไม่ทัน


7. ให้จบลงในอารมณ์มรณานุสสติควบอุปสมานุสสติ(พระนิพพานระลึก) โดยคิดว่า อาหารมื้อนี้อาจเป็นมื้อสุดท้ายที่เราบริโภค ความตายอาจเกิดกับเราเมื่อไหร่ก็ได้ หากกายพังเมื่อไหร่ จิตเราก็พร้อมจะไปพระนิพพานเมื่อนั้น นิพพาน สุขัง และจงอย่าลืมอุทิศกุศลให้กับอาทิสสมานกายของผู้บริจาคสังขารเป็นทาน เป็นอาหารให้เรายังชีวิตอยู่ด้วยทุก ๆ ครั้ง ในข้อนี้จิตใครละเอียดแค่ไหน ก็คิดได้ละเอียดแค่นั้น ขอเขียนไว้เป็นแค่ตัวอย่างเท่านั้น



ผมก็ขอจบไว้สั้น ๆ แค่นี้ เพราะเรื่องอาหาเรปฏิกูลสัญญาพระองค์สอนเฉพาะพวกพุทธจริต(พวกจริตรอบรู้) เท่านั้น จึงมีรายละเอียดอยู่มากและบารมีธรรมของคนเราก็สะสมกันมาไม่เสมอกัน 
จิตอยู่ระดับไหน ย่อมรู้ธรรมได้แค่ระดับนั้นเป็นธรรมดา


พล.ต.ท.นพ. สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อสอนพิจารณากายในกายเพื่อทรงฌาน4

การพิจารณากายในกายในขั้นแรก ท่านถือเอากองลมเป็นสำคัญ เรียกว่า อานาปานบรรพ หรือว่า อานาปานุสสติกรรมฐาน นั่นเอง จำให้ดีนะบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เฉพาะอานาปานุสสติกรรมฐานนี้มีกำลังมาก มีความสำคัญมาก สามารถทรงฌาน ๔ ได้

แล้วถ้าหากว่าท่านเจริญตามแบบในนี้ ท่านจะมีความสุขแบบสุขวิปัสสโก แต่โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาสติปัฏฐานสูตรนี้ เราจะดัดแปลงขึ้นไปสู่วิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้ จะทำกันตอนไหนเล่า ก็ทำกันตอนอานาปานสตินี่แหละ จะสามารถสร้างวิชชาสาม อภิญญาหก ปฏิสัมภิทาญาณก็ทำได้

อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เข้าถึงจุดของฌาน ๔ นับเป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญมาก กรรมฐานกองนี้ ถ้าใครไม่สามารถเข้าถึงฌานเสียได้แล้ว กรรมฐานทุกกองที่ท่านปรารถนาจะทำ ก็ไม่สามารถจะทรงไว้ได้ ไม่มีประโยชน์เลย เพราะว่าอะไร เพราะว่าไม่สามารถจะทรงสมาธิไว้ได้ 


การกำหนดรู้ลมหายใจเข้ากับลมหายใจออก การกำหนด ก็รู้กันแค่จมูก เวลาลมหายใจเข้ากระทบจมูก เวลาลมหายใจออกกระทบจมูก ใช้กันแบบง่ายๆ อย่างนี้ชั่วระยะเวลา ๗ วัน ถ้ายังไม่ดี ก็ทำต่อไปอีก ถ้ายังไม่ดีก็ทำเรื่อยไป เลย ๗ วันก็ได้เอาจนกระทั่งกว่าจะดี หมายความว่าการรู้ลมหายใจเข้า รู้ลมหายใจออกนี่เราไม่ต้องระวังกัน ไม่ต้องตั้งท่า ไม่ต้องหาเวลา จะเป็นเวลาใดก็ตาม เวลาที่กินข้าวอยู่ก็ดี หรือว่าเวลาทำการงานก็ดี เวลาพูดคุยกับเพื่อนฝูงก็ดี เดินไปก็ดี ยืนอยู่ก็ดี นอนอยู่ก็ดี ทุกๆ อิริยาบถ เราสามารถรู้ลมหายใจเข้าลมหายใจออกได้อย่างสบาย อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงอานาปานุสสติ หรือมหาสติปัฏฐานสูตรข้อนี้แล้ว ถ้ายังไม่เข้าถึงตอนนี้ ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ ที่กำลังรับฟังอยู่เพื่อฝึก ก็จงอย่าเคลื่อนไป อย่าทำให้มากไปกว่านี้ จนกว่าจะรู้สึกว่าเราทำได้ดี

ทีนี้หากว่าสามารถจะรู้ลมเข้าลมออกได้แค่จมูกนี้ก็จัดว่าดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี แต่ว่ายังดีไม่มาก เพราะว่ามหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้ามุ่งสอนเอาพระนิพพานเป็นสำคัญ ไม่ใช่เราจะมาสอนปฏิบัติกันเพื่อเป็นอุปนิสัยปัจจัย แต่การที่เข้าถึงพระนิพพานนั้น ต้องค่อยๆ สะสมความดี ทีนี้การรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ก็เพื่อเป็นการทรงสติ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนบอกว่า จงรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก คำว่ารู้แปลว่าสติ หรือว่าสติ แปลว่ารู้อยู่ ให้รู้ ตามธรรมดาคนเราหายใจวันละหลายหมื่นครั้ง แต่ว่าคนที่จะรู้ว่าตัวหายใจจริงๆ หายาก

ทีนี้มาพูดกันถึงว่าเราทำได้ถึงตอนนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เรื่องของพระกรรมฐานกับนิมิตเป็นของธรรมดา นี่แหละนักปฏิบัติ กรรมฐาน ๔๐ หรือมหาสติปัฏฐานสูตร ก็เหมือนกัน ไม่มีอะไรต่างกัน เป็นแต่เพียงเรียกชื่อต่างกันเท่านั้น เรื่องนิมิตที่พึงเกิดจากสมาธินี่เป็นของธรรมดา นิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐานก็มีเช่น สีเขียว สีแดง สีสว่างคล้ายๆ แสงไฟฉาย หรือเหมือนแสงฟ้าแลบ นี่เป็นนิมิตของอานาปานุสสติกรรมฐาน 

ขอเลี้ยวตรงนี้นิดหนึ่ง สำหรับญาติโยมแก่ๆ จะว่าอายุแก่หรือแก่ปฏิบัติก็ตาม มันก็แก่เหมือนกัน แก่ฟังก็ใช้ได้ เรียกว่าแก่เหมือนกัน คือคงจะคิดว่า เอ นี่หลวงตานี้แกมาทำยังไงของแกนี่ ก็การเจริญพระกรรมฐานที่จะให้เข้าถึงบุญ เขาก็จะต้องภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ หรือว่าพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็แกมาสอนให้กำหนดเฉพาะลมหายใจเข้าออกเท่านั้นนี่ แล้วมันจะไปได้บุญได้ทานยังไง ถ้าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทหรือพระคุณเจ้าทั้งหลายที่กำลังรับฟังอยู่ ถ้าคิดว่าจะไม่ได้บุญละก็ ขอพระคุณเจ้าโปรดคิดว่า เขตของการบุญน่ะมันอยู่ตรงที่จิตเป็นสมาธินะ ตัวบุญน่ะอยู่ที่จิตเป็นสมาธิที่มีอารมณ์ตั้งมั่น ไม่ใช่ตัวบุญอยู่ที่องค์ภาวนาอย่างเดียว

หากว่าเราภาวนาแบบชนิดนกแก้วนกขุนทอง ว่าไป พุทโธ ธัมโม สังโฆ ว่าไปโดยจิตไม่ตั้ง อารมณ์ไม่ทรงอยู่ พอว่าไปภาวนาไป แต่จิตอีกส่วนหนึ่งมันแลบไปสู่อารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้ว่าเท่าไรก็ไม่เป็นบุญ การที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้มีการภาวนาด้วย ก็เพื่อจะใช้อารมณ์ยึด คือ สติ ให้รู้อยู่ว่านี่เรากำหนดลมหายใจเข้าออก หรือว่าภาวนาว่ายังไง แล้วก็ควบคุมอารมณ์อยู่เฉพาะอย่างนั้นอย่างเดียวให้เป็นเอกัคคตารมณ์ คำว่าเอกัคคตารมณ์แปลว่า เป็นหนึ่ง อารมณ์ของเราเป็นหนึ่งไม่มีสอง อย่างนี้จัดว่าเป็นสมาธิ คือร่างกายอย่างเดียวคือตัวรู้อยู่ นี่ว่ากันถึงคำภาวนาเป็นบุญหรือไม่เป็นบุญนะ ต้องถือว่า ตัวบุญใหญ่คือการทรงสมาธิจิต

ถ้าสมาธิทรงได้สูงมากเพียงใด นิวรณ์ที่จะมากั้นความดีคืออารมณ์ของความชั่ว คำว่านิวรณ์ก็ได้แก่อารมณ์ของความชั่วก็เข้าสิงจิตได้ยากเพียงนั้น ถ้าขณะใดจิตทรงสมาธิที่เรียกกันว่าเป็นฌาน คำว่าฌานนี้ ฌานํ แปลว่าการเพ่ง การทรงอยู่ของจิต จิตเพ่งอยู่เฉพา่ะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง อันนี้เราเรียกกันว่าฌาน อย่างเราภาวนาว่า พุทโธก็ดี หรือว่ากำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้าออกก็ดี ขณะนั้นจิตอยู่เฉพาะลมหายใจเข้า หายใจออก จิตไม่ส่ายไปสู่อารมณ์อย่างอื่น อย่างนี้เราเรียกกันว่าฌาน แต่ว่าจะเป็นฌานขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลายอะไรก็ตาม นั่นก็เป็นเรื่องอีกอย่างหนึ่ง เป็นอาการละเอียดของจิต เป็นอาการทรงของจิต

ทีนี้ก็มาว่ากันถึงจิต เรามีสติสามารถจะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ที่กระทบเข้าและกระทบออกที่จมูกได้ รู้แล้วนะ เมื่อรู้ไปๆ ๆ ๆ เข้าก็รู้ออกก็รู้ อย่างนี้จิตก็จะเริ่มเป็นสมาธิ สมาธิอาจจะยังไม่ใหญ่พอ เพราะยังหยาบหนัก อย่างนี้จะเป็นสมาธิก็ต้องเรียกว่าขณิกสมาธิ ตอนขณิกสมาธิเบื้องปลาย ตอนละเอียดของขณิกสมาธิ คำว่าขณิกสมาธิ แปลว่าสมาธิเล็กน้อย เมื่อเริ่มเข้าถึงขณิกสมาธิตอนปลาย จิตเริ่มละเอียด ลมที่กระทบจมูกเริ่มละเอียดลง ทีแรกๆ เราทำรู้สึกว่าจะหยาบมาก มีการกระทบแรง แต่ว่าต่อมาจะรู้สึกว่าลมที่กระทบจมูกน่ะ เบาลงๆ แต่ว่าจิตมีความเรียบร้อยดี เพราะส่ายออกไปน้อย ตอนนี้แหละ แล้วตอนต่อไป เมื่อขณิกสมาธิละเอียดเกิดขึ้น จิตก็จะเข้าสู่อุปจารสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิสูงกว่านั้น ใกล้จะถึงฌาน ตอนนี้อารมณ์ของจิตที่เป็นทิพย์จะปรากฏ

เมื่อจิตว่างจากนิวรณ์ ๕ ประการแล้ว จิตก็สามารถจะเป็นทิพย์ แต่ว่าจะเป็นมากหรือเป็นน้อยก็ขึ้นอยู่กับสมาธิจิต บางทีมันเป็นประเดี๋ยวเดียว ว่างจากนิวรณ์นิดหนึ่ง แว๊บหนึ่ง แค่ชั่วของวินาที หรือครึ่งวินาที จิตก็กลับมัวหมองใหม่

ทีนี้เวลาที่จิตเป็นทิพย์มันเป็นยังไง จิตเป็นทิพย์มันก็จะเห็นแสง เห็นสี เห็นภาพต่างๆ ที่เราไม่ถึง ที่เราคาดไม่ถึง จำให้ดีนะ คือบางทีก็เห็นเป็นแสง เป็นสีเขียว สีแดง เป็นแสงสว่างแปลบปลาบ คล้ายๆ กับฟ้าแลบก็มี นี่ตอนนี้จงรู้ว่าจิตของเราเป็นสมาธิละ และจิตเริ่มเป็นทิพย์สามารถเห็นแสงสีที่เป็นทิพย์ได้ แต่ถ้าอาการปรากฏอย่างนี้มักจะปรากฏแผล็บเดียวแล้วก็หายไป

ในเมื่อปรากฏแล้วหายไปบางคนเสียกันตอนนี้เยอะ บางคนมาเอาดีกันตอนเห็น ต่อไปถ้าเห็นไม่ได้จิตใจก็ฟุ้งซ่าน นี่มาเสียกันตอนนี้เสียมาก เพราะอะไร เพราะว่าเข้าใจพลาด คิดว่าอาการเห็นอย่างนั้นเป็นของดี แล้วก็ควรจะยึดถือเพราะว่าเป็นของใหม่ มีความปลื้มใจ มีการภูมิใจมาก บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพ ถ้าอาการปรากฏขึ้นอย่างนั้นนะ ขอโปรดทราบว่า ภาพที่ปรากฏก็ดี แสงสีที่ปรากฏก็ดี จงอย่าถือ อย่าเอาจิตเข้าไปเกาะ สมาธิของท่านจะคลาย สมาธิของท่านจะเคลื่อน ความดีจะสูญไป


เอาแต่เพียงเป็นเครื่องกำหนดว่า ถ้าหากว่าเราเห็นนาน หรือเร็ว เห็นภาพแว๊บหนึ่งหายไป จงรู้ตัวว่า นี่จิตของเราเป็นทิพย์ เข้าสู้อุปจารสมาธิได้นิดเดียว เมื่อเห็นภาพหายไปนั้น แสดงว่าจิตของเราเคลื่อนจากสมาธิ ความมัวหมองปรากฏแก่จิตแล้ว แล้วจงทิ้งอารมณ์นั้นเสีย ทิ้งภาพที่เห็นเสีย อย่าเอาจิตเข้าไปติด หนีมาเริ่มต้นความดีกันใหม่ จับลมหายใจเข้าออกกันใหม่

ต่อไป อุปจารสมาธิ มีอะไร ก็มีปีติให้ปรากฏ มีความชุ่มชื่น มีขนพองสยองเกล้า มีน้ำตาไหล มีร่างกายโยกโคลงเป็นต้น มีความอิ่มเอิบ มีความปลาบปลื้มใจ มีอารมณ์ดิ่ง มีอารมณ์ละเอียด มีความสบายมากกว่าปกติ นี่เป็นปีตินะ ความอิ่มใจเกิดจากการรักษาอารมณ์ตอนนี้ ทีนี้ เวลาเข้าไปถึง ปฐมฌาน ปฐมฌานมีอาการที่เข้าถึงเป็นอย่างนี้นะ อารมณ์ของเราในขณะนั้นย่อมไม่ข้องกับนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ คือ ความพอใจในรูปสวยเสียงเพราะ รสอร่อย กลิ่นหอม สัมผัสนิ่มนวลไม่มี อารมณ์นิ่งพอใจในการภาวนา หรือพอใจในการกำหนดลมหายใจเข้าออก ความโกรธความพยาบาทไม่ปรากฏ ความง่วงเหงาหาวนอนไม่ปรากฏ

อารมณ์ภายนอก นอกจากการกำหนดลมหายใจเข้าออกไม่ปรากฏ ทรงอารมณ์หายใจเข้าออกไว้ เวลาหูได้ยินเสียงภายนอกทุกอย่าง เสียงเขาฟังวิทยุ เสียงเขาเปิดเครื่องขยายเสียง เสียงชาวบ้านทะเลาะกัน เสียงคุยกัน เสียงนินทาว่าร้าย แม้แต่นินทาว่าร้ายเราเอง หูได้ยินทุกอย่าง แต่ว่าใจไม่กังวล จิตใจนี่ไม่สอดส่ายไปตามอารมณ์นั้น คงรักษาลมหายใจเข้าออกไว้ได้อย่างสบายๆ ไม่เกิดความรำคาญ อาการอย่างนี้เป็นอาการของปฐมฌาน บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้า่ที่เคารพโปรดรับทราบไว้ด้วย จะได้ไว้เป็นเครื่องวัด 

แบบนี้ก็เหมือนกันนะ แบบรักษาลมหายใจเข้าออก รู้อยู่ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว หายใจออกสั้นหรือยาว พระคุณเจ้าค่อยๆ ทำไป อย่ารีบนะขอรับ หาเวลาวันหนึ่งๆ ทำให้มาก อย่าทำแต่เฉพาะสองทุ่ม สามทุ่ม สองยาม สามยามเป็นเวลาทำกรรมฐาน นอกนั้นปล่อยอารมณ์ให้เลื่อนลอยไป อย่างนี้เชื่อว่าไกลความสำเร็จมาก เพราะว่าอานาปานุสสตินี้เป็นกรรมฐานใหญ่ สามารถทรงได้ถึงฌาน ๔ 

คราวนี้ เมื่อเข้าถึงปฐมฌาน ก็รู้อยู่แล้วนี่ว่าจิตไม่กังวล อย่างนี้ท่านกล่าวว่าจิตมันเริ่มแยกจากกาย หูเป็นกาย สัมผัสกับเสียง แต่จิตที่อยู่ภายในกายนี้ไม่สนใจกับเสียง ได้ยินเหมือนกันแต่ว่าจะยังไงก็ช่าง จะนินทาหรือจะชมจะร้องเพลงร้องละครก็ช่าง ฉันไม่เกี่ยว ทรงอารมณ์สบายๆ นี่เป็นอาการของปฐมฌาน หากว่าท่านพิจารณาลมหายใจเข้าออกและกำหนดรู้อยู่ ว่าหายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาว นี่จะเข้าถึงปฐมฌานได้ง่าย ตรงนี้นะ ถ้าทำได้แล้วจะไม่พูดให้ยาว

ต่อไปก็ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนะ ฟังให้ดีนะขอรับ ขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก เราจะกำหนดกองลมเสียก่อน คำว่ากำหนดกองลม คือตั้งใจไว้ว่า นี่เราจะหายใจเข้า ว่านี่เราจะหายใจออก แล้วหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ก็รู้ไว้ด้วย อย่าลืมนะขอรับขยับเข้าไปอีกนิดหนึ่ง อีตอนต้นหายใจเข้าหายใจออก รู้เฉพาะเท่านั้น ไม่ต้องกำหนดกองลม แล้วตอนหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น ไม่ต้องกำหนดรู้กองลม คือว่ามันจะหายใจก็หายใจของมันเอง 

ตานี้มาตอนที่สาม รู้อยู่ว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก นี่ทำสติของท่านให้ละเอียดเข้าไปอีกนิดหนึ่ง ให้กระชั้นเข้าไป แต่การกำหนดให้รู้อยู่ว่านี่เราจะหายใจเข้า นี่เราจะหายใจออก หายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาว ไอ้การอย่างนี้ถ้าสามารถทรงอยู่ได้เป็นเอกัคคตารมณ์ หมายความว่าไม่ปล่อยอารมณ์อื่นให้เข้ามายุ่ง เรากำหนดอย่างนี้ได้ครั้งละ ๒ ถึง ๓ นาที หรือ ๕ นาทีก็ตาม แสดงว่าอารมณ์จิตของท่านเข้าถึง ฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓

อย่างนี้บรรดาคณาจารย์ทั้งหลายอาจจะเถียง ไอ้ฌานที่ ๒ และฌานที่ ๓ นี่มันไม่มีการภาวนา ไม่มีการกำหนดรู้อยู่ ก็จะขอบอกว่า การภาวนาไม่มีจริง ถ้าทำถึงนะ แต่การรู้ลมหายใจเข้าออกยังมีอยู่อย่างนี้ ลองสอบสวนอารมณ์จิตของท่านให้ดี ถ้าท่านจะค้านว่า ต้องไม่รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก อันนี้ไม่ถูก ที่ถูกต้องบอกว่ารู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ถ้านึกกรรมฐานใช้องค์ภาวนาด้วยตั้งแต่ฌานที่ ๒ ขึ้นไป จะเลิกภาวนา องค์ภาวนาจะหยุดไปเอง ไม่ใช่มาหยุดลมหายใจเข้าออกกัน แต่เวลาลมหายใจเข้าออกจะรู้สึกว่าเบาลงไป มีความรู้สึกนะ สำหรับฌานที่ ๒ รู้สึกว่าลมหายใจเข้าออกเบาลงไป มีจิตชุ่มชื่น มีความเยือกเย็น มีความสบายมากขึ้น หูยังได้ยินเสียง แต่รู้สึกว่าเบากว่าปกตินิดหนึ่ง เบากว่าสมัยที่ได้ปฐมฌานไปนิดหนึ่ง 

ทีนี้พอเข้าถึง ฌานที่ ๓ จะรู้สึกว่าทางกายมันเครียด เรานั่งธรรมดา เรานอนธรรมดาเหมือนมีอาการเกร็งตัว มีอาการตึงเป๋ง ลมหายใจรู้สึกว่าน้อยลง เสียงที่ได้ยินเบาเข้า เสียงที่ได้ยินจากภาพนอกนะ เขาพูดแรงๆ ก็รู้สึกว่าเบาลงมาก นี่เป็นอาการของฌานที่ ๓ ทำได้ตอนนี้นะขอรับพระคุณเจ้า รักษาไว้ทรงไว้ให้ดี อย่ารีบจู่โจม อย่ารีบ นี่เราใกล้จะดีแล้ว ถ้าอานาปานุสสติกรรมฐานที่ทำได้ถึงฌาน ๔ แล้วก็ทรงฌาน ๔ เข้าไว้ตลอดชีวิต เรื่องการทรงฌานนี้กระผมขอร้อง ได้แล้วอย่าทิ้ง อย่าคิดว่าตัวดี ถึงแม้ว่าจะได้ฌานก็จัดว่าเป็นฌานโลกีย์ ก็ต้องคิดว่า จะเป็นฌานโลกีย์ก็ตาม ฌานโลกุตตระก็ตาม ต้องคิดว่าสิ่งเหล่านี้เราจะรักษาด้วยชีวิต ไม่ใช่ได้แล้วก็ปล่อย

เมื่อกำหนดกองลมว่า ต่อไปเราจะหายใจเข้าแล้วเราก็หายใจเข้า แล้วเวลาหายใจเข้าสั้นหรือยาวเราก็รู้ เวลาจะหายใจออก ก็นึกในใจว่านี่เราจะหายใจออก ไม่ต้องไปอั้นเอาไว้นะ ปล่อยไปตามปกติ หรือเวลาที่ลมมันไหลออกมาก็รู้อยู่ว่า เอ๊ะ นี่เราหายใจออกแล้วนี่ เวลาลมมันไหลเข้าก็ว่า เอ๊ะ นี่เราหายใจเข้าแล้วนี่ ที่รู้ก่อนมันจะเข้ามันจะออกนิดหนึ่งเป็นของไม่ยาก ที่เรียกว่ากำหนดกองลมก่อนจะหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่เป็นอันดับที่สามของอานาปานสติในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐาน

คราวนี้มาอันดับที่ ๔ ตอนเป็นอาการของ ฌาน ๔ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า จะไม่กำหนดรู้ลม คือปล่อยกองลมเสีย มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ เราจะไม่ยอมรู้มันละ ปล่อยมันไม่ยุ่งกับเรื่องของลม นี่พูดภาษาไทยชัดๆ นะ เราจะไม่ยุ่งกับเรื่องของลม มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ เรารักษาอารมณ์ดีไว้อย่างเดียว เห็นไหม แต่ว่าในตอนต้นๆ อาจจะต้องกำหนดลมหายใจเข้าออกอยู่บ้าง แต่ว่าลมหายใจเข้าออกน่ะรู้สึกว่าจะเบา ถ้าได้นะ ต้องทำได้ เวลาทำต้องขึ้นต้นมาตั้งแต่รู้ลมหายใจเข้าออก สักประเดี๋ยวหนึ่งแล้วก็มารู้ลมหายใจเข้าสั้นหรือยาว ออกสั้นหรือยาวอีกประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วกำหนดกองลมก็รู้อีกประเดี๋ยวหนึ่ง จิตมันละเอียดขึ้นมา ต่อมาอันดับสุดท้ายเราไม่สนใจกับกองลม

มันจะหายใจเข้าหรือหายใจออกก็ตามใจ ฉันไม่สนใจกับนาย สุดแล้วแต่นายซิ นายจะหายใจเข้าก็ตามใจ นายจะหายใจออกก็ตามใจ ฉันไม่เกี่ยว อีตอนนี้ถ้าทำไปๆ ตอนแรกเราก็ต้องรู้ลมเข้าลมออก หนักเข้าๆ ลมจะละเอียดเข้ามาๆ จนกระทั่งไม่รู้สึกว่ามีลมหายใจ ลมหายใจที่เรากำลังหายใจอยู่นี่นะ จะเกิดมีความรู้สึกเหมือนไม่หายใจ แต่อารมณ์จิตภายในมีความโพลง มีความสว่า่ง มีการทรงตัวมาก มีอารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นหนึ่ง เป็นอุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวง มีความชุ่มชื่น มีความสุขที่สุด มีความสบายที่สุด ไม่รู้สึกในการสัมผัสภายนอก คือลมจะมากระทบ ยุงจะมากัดเรา เวลานั่งความเมื่อยปวดไม่ปรากฏ อย่างนี้เป็นอาการของฌาน ๔ 

บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท เมื่อเข้าถึงฌาน ๔ หรือฌานที่เท่าไหร่ก็ตามที่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัททำได้แล้ว ขอจงรักษาไว้ให้มั่น หมั่นทำไว้เสมอให้จิตคล่้อง จะสามารถนั่งยืนเมื่อไร เข้าฌาน ๔ ได้ทันที แล้วก็สามารถจะกำหนดเวลาออกได้ด้วย 

อานาปานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่ระงับกายสังขาร มีคุณประโยชน์มาก เวลาป่วยไข้ไม่สบายมีทุกขเวทนาสาหัส ถ้ากำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตเป็นฌาน อาการปวดเมื่อยทั้งหลายเหล่านั้น มันจะสลายตัวไป ท่านที่ได้อานาปานุสสติกรรมฐานจนคล่อง จนสามารถจะกำหนดเวลาตายได้ ตัวอย่างเช่นหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ท่านบอกเวลาตายล่วงหน้าไว้ ๓ ปี กำหนดปี กำหนดเดือน กำหนดวัน กำหนดจนกระทั่งเวลาที่ท่านจะตาย นี่เห็นไหมว่าท่านคล่องในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อานาปานุสสติกรรมฐานนี่ท่านคล่องมาก

ในตอนท้าย พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ เรากำหนดเพื่อรู้ความเกิดขึ้น ความเสื่อมไป หรือการสลายตัว ว่าร่างกายเรานี้ที่ชื่อว่า ร่างกายของเรา เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วมันก็เสื่อมไป แล้วมันก็สลายตัว

เราจะไม่ยึดถืออะไรทั้งหมดในร่างกายนี้ ตอนนี้เป็นวิปัสสนาญาณ บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท คิดว่าอัตภาพร่างกายนี้เกิดขึ้นได้แล้ว จะเป็นกายเราก็ตาม กายคนอื่นก็ตาม ถ้ากายเราท่านเรียกว่ากายภายใน ถ้ากายคนอื่นเรียกว่ากายภายนอก ของเราเรียกว่าภายใน


นึกถึงว่านี่มันมีสภาพเหมือนกัน มีสภาพที่ปกติมีความเกิดขึ้น มีความเสื่อมไป และมีการสลายตัวเหมือนกัน เราจะไปยึดมั่นมันไว้เพื่อประโยชน์อะไร เราจงอย่าคิดว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเรา จงอย่าคิดว่าเรามีในกาย หรือกายมีในเรา นี่มันไม่มี สภาวะของมันเป็นยังไง มันก็ต้องเป็นยังงั้น ถึงเวลามันจะแตก มันจะสลายมันก็สลายตัวของมันเอง ไม่มีใครไปบังคับบัญชามันได้

ทีนี้ท่านย้อนกลับไปอีกนิดหนึ่งว่า ถ้าคิดอย่างนี้แล้ว ถ้าจิตใจยังไม่สบายเกิดอารมณ์ฟุ้งซ่าน ท่านบอกให้หักใจกลับเข้ามาเสียอีกนิดหนึ่ง ที่เรากำหนดการตั้งขึ้นของร่างกาย และความเสื่อมไปของร่างกายนี้ เราไม่กำหนดเพื่ออย่างอื่น เรากำหนดเพื่อรู้อยู่เท่านั้น เป็นการทรงสติไว้ นี่หลบกลับมาหาสมถะ ตอนนั้นเป็นวิปัสสนาญาณ ตอนนี้หลบเข้ามาหาสมถะ นี่บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าที่เคารพที่กำลังรับฟัง คงจะเห็นว่าการสอนสมถะของพระพุทธเจ้าย่อมควบวิัปัสสนาญาณไว้เสมอจบอานาปานบรรพในกายานุปัสสนามหาสติปัฏฐานจากหนังสือมหาสติปัฏฐานสี่ พระมหาวีระ ถาวโร 

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อสอนเรื่องพรหมวิหาร ๔ ตัดสังโยชน์ ๑๐

25.png

พรหมวิหาร ๔ ตัดสังโยชน์ ๑๐

พรหมวิหาร ๔ ในขั้นสุดท้าย ถ้าจิตใจของบรรดาท่านทั้งหลาย ทรงอิทธิบาท ๔ ครบถ้วน สำหรับพรหมวิหาร ๔ ก็จะสามารถทำให้ท่านทั้งหลายเป็นพระอรหันต์ได้โดยเร็ว

จงอย่าลืมธรรมะอีกข้อหนึ่งว่า เราจะแก้กิเลสตัวไหน กิเลสตัวนั้นมันเข้ามายุ่งกับใจเราเสมอ เพราะมันเป็นข้าศึก ถ้าหากว่าเราจะแก้ความโลภ ทรัพย์สมบัติมันจะเกิดขึ้นมามากโดยที่คาดไม่ถึง


ถ้าจิตของเราไปติดทรัพย์สมบัติทั้งหลายเหล่านั้น แสดงว่าเราก็แพ้กิเลส ถ้าหากว่าเราจะแก้ราคะ ความรักในเพศ หรือความสวยสดงดงาม นั่นจะพบกับแขกที่มีเพศตรงกันข้าม มีลักษณะท่าทางสวยงามสง่าผ่าเผย อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์สิน มีจริยาเพียบพร้อมเป็นที่น่ารัก มายั่วยวน ถ้าจิตใจของเราไม่คล้อยตามไป ชื่อว่าเราชนะ ถ้าเราคล้อยตามไป มีความพอใจ เราแพ้แก่กิเลส

เวลานี้บรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ กำลังเจริญพรหมวิหาร ๔ มีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร มุทิตา มีจิตอ่อนโยนไม่อิจฉาริษยาใคร อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ของความชั่ว ในขณะที่เราทรงพรหมวิหาร ๔ นี่ เพื่อเป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ คือ โทสะ ก็จงระมัดระวังว่า อาการที่มันจะเกิดโทสะขึ้นอย่างไม่คาดฝัน มันจะมีมาถึงเรา อยู่เฉยๆ อาจจะมีคนแกล้งมาหาเรื่องก็ได้ เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ผมประสบมามากในขณะที่ฝึก แต่่ว่าเราก็ผ่านมาได้แบบสบายๆ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับกำลังใจ หรือว่า อิทธิบาท ๔ อย่างเดียว

การเจริญพรหมวิหาร ๔ ของท่าน ผมได้กล่าวมาแล้วถึงขั้นอนาคามีผล คือว่า การเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นพระอนาคามีไม่ยาก ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะเรามี เมตตา ความรัก รักใคร รักตัวเรานี่แหละเป็นตัวสำคัญ กรุณา ความสงสาร เราสงสารใคร เราสงสารตัวเรา มุทิตา มีจิตอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยา คือไม่มีอารมณ์เครียด ในเมื่อความดีมันเข้ามาถึง อุเบกขา วางเฉย เฉยต่ออารมณ์ภายนอก เฉยต่ออารมณ์ภายใน เฉยต่ออาการของขันธ์ ๕ ความจริงการเจริญพรหมวิหาร ๔ นี้เป็นพระอรหันต์ได้ง่าย

ที่ผมว่ารักตัวเราก็เพราะอะไร คือว่าถ้าจิตของเราไปติดในกามฉันทะ ก็ชื่อว่าเราเป็นคนไม่รักตัวเราเอง เพราะกามฉันทะ เป็นกามคุณ ๕ ได้แก่ รูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสระหว่างเพศ อันนี้มันเป็นของไม่ดี อะไรที่ไหนมันสวยจริง กลิ่นที่ไหนมันหอมเสมอ รสที่ไหนมันอร่อยเลิศตลอดกาลตลอดสมัย สัมผัสเป็นเหตุเกิดความสุขใจ แต่มันทุกข์อะไรบ้าง นี่มันเป็นของไม่ดี ถ้าเรารักตัวเราจริงๆ เราก็ไม่ไปยุ่งกับราคะความรัก

และสำหรับโลภะ คือความโลภ ความร่ำรวยมันเป็นของดีหรือว่ามันเป็นของเลว เป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขหรือเป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ เรามองกันจริงๆ คนที่รวยก็แก่ ก็ป่วย ก็ตาย ด้วยกันทุกคน แล้วก็มีอารมณ์เร่าร้อน ทรัพย์สินทั้งหลายที่เขารวบรวมไว้ได้ ไม่มีใครนำไปได้ เมื่อเวลาตาย หากว่าเราไปติดรวยก็แสดงว่าเราไม่รักตัวเอง การที่เราจะรักตัวเองเราต้องเป็นคนวางภาระในความต้องการร่ำรวยเสีย

ต่อมาอารมณ์โกรธ อารมณ์โกรธนี่เป็นอารมณ์ของความเร่าร้อน ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เราจะฆ่าเขา เขาก็ตาย เราจะแกล้งให้เขามีทุกข์เขาก็มี ถ้าเราไม่ฆ่าเขาเขาก็ตาย เราไม่กลั่นแกล้งให้เขามีทุกข์ เขาก็ทุกข์อยู่แล้ว ฉะนั้นจะต้องไปทำทำไม ถ้าเรารักตัวเราก็อย่าสร้างโทสะ ความโกรธให้มันเกิดขึ้น มันสร้างความเร่าร้อนเปล่าๆ ไม่ได้เกิดประโยชน์ ใครจะบ้าก็ปล่อยให้เขาบ้าไปตามเรื่องตามราว เป็นอันว่าคนที่ทำให้เราโกรธ เราคิดว่านั่นเขาบ้า เขาบ้าตรงไหน บ้าชีวิต บ้าฐานะ บ้าความเป็นอยู่ เพราะอะไร เพราะคนโกรธก็มีอาการเหมือนคนบ้านั่นเอง ยามปกติคนทุกคนต้องการความสงบเสงี่ยม ต้องการความเรียบร้อย แต่ทว่า ความโกรธเกิดขึ้น สติสัมปชัญญะแห่งความดีมันก็หายไป มันก็เหลือแต่ความเลว มันหลั่งไหลมานอกหน้า นี่ถ้าเราสงสารตัวเราเอง เราก็จงอย่าโกรธ เพราะถ้าเราไม่โกรธเราไม่บ้า

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พราหมณ์ด่าพระพุทธเจ้าต่อหน้าธารกำนัล องค์สมเด็จพระทรงธรรม์ก็ทรงเฉย พราหมณ์ชี้หน้าบอกว่า “พระสมณโคดม แกแพ้ข้าแล้ว” พระพุทธเจ้าทรงถามว่า “แพ้ตรงไหน” พราหมณ์จึงตอบว่า “ฉันด่าแก แกไม่ด่าตอบข้า ก็แพ้ข้า” สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสว่า “พราหมณะ ดูก่อนพราหมณ์ ตถาคตคิดว่าถ้าใครเขาด่าตถาคต ถ้าตถาคตไปด่าตอบคนนั้น แสดงว่าตถาคตน่ะเลวกว่าคนนั้น” เป็นอันว่าพระพุทธเจ้าทรงด่าพราหมณ์อย่างหนัก พราหมณ์มีปัญญารู้สึกตัว คิดว่าตัวผิดไปเสียแล้ว จึงนั่งกระหย่งถวายนมัสการองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว แล้วกล่าวว่า “ภาษิตที่ท่านตรัสวันนี้เป็นของดีมาก ประเสริฐมาก คล้ายกับหงายหม้อที่กำลังคว่ำอยู่ ให้ปากชูขึ้นรับน้ำฝน” แล้วจึงได้น้อมจิตใจของตนขอบวชในพุทธศาสนา เพราะอาศัยที่รู้ตัวว่าชั่วของพราหมณ์ ไม่ช้าพราหมณ์ก็ได้สำเร็จอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคลเบื้องสูงในพระพุทธศาสนา

นี่เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่เราควรจะศึกษากัน จงคิดว่าคนที่มีความโกรธคือคนบ้า บ้าในชีวิต บ้าในฐานะ เมาในศักดิ์ศรี ซึ่งมันไม่เป็นของดี ไม่เป็นของจริง สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันเป็นอนิจจัง มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกขัง ถ้าเราเมาในมันก็เป็นทุกข์ มันเป็นอนัตตา ในที่สุดเราก็ตาย จะแบกยศถาบรรดาศักดิ์ไปทางไหนกัน เป็นอันว่าเรื่องของการเจริญพรหมวิหาร ๔ เป็นอรหันต์ง่าย เป็นอรหันต์เพราะว่าเรารักตัวของเราเอง เราสงสารตัวของเราเอง เรารักตัวเรา ก็คือเราไม่ทำความชั่ว เพราะความชั่วเป็นเหตุแห่งความเร่าร้อน เราสงสารตัวเราเราก็ระวังไม่ให้ความชั่วมันเกิดขึ้น

ข้อที่สาม มีจิตอ่อนโยน คือกำลังจิตไม่แข็งไม่กระด้าง โครเขาทำดีทำชั่ว ช่างเขา เราพยายามรักษากำลังใจของเราให้บริสุทธิ์

อุเบกขา วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งหมด อารมณ์ที่มันมาจากกระแสเสียงก็ดี มาจากอาการทางกายก็ดี ทั้งอารมณ์ภายนอกและอารมณ์ภายใน อารมณ์ภายนอกหมายถึงว่าตาสัมผัสรูป ไม่สนในรูป หูสัมผัสเสียงไม่สนใจในเสียง จมูกสัมผัสกลิ่นไม่สนใจในกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส ไม่สนใจในรส กายสัมผัสแตะต้อง ไม่มีความสนใจในการสัมผัส นี่เรียกว่าเป็นอารมณ์มาจากทั้งภายนอกและภายใน อารมณ์ภายนอกเราชอบใจในรูป ชอบใจในเสียง อารมณ์ภายในนี่กำลังใจที่เข้าไปชอบ เห็นรูปสวยเราชอบ นั่นล่ะรูป เป็นอารมณ์ภายนอก

ความรู้สึกเป็นอารมณ์ภายใน เราวางเสียให้หมด ถ้าเรารักตัวเรา นี่ถ้าเราเจริญพรหมวิหาร ๔ จริงๆ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ถ้าเราจะรักใคร เราต้องรักตัวเราก่อน ถ้าเราสงสารเขา เราก็สงสารตัวเราก่อน เราจะช่วยเขา เราต้องช่วยตัวเราก่อน อย่างภาษิตโบราณที่ท่านกล่าวว่า ถ้าจะเอาเตี้ยไปอุ้มค่อมมันก็ไม่มีความหมาย ต่างคนต่างเตี้ยด้วยกัน คนที่จะอุ้มคนขึ้นมาได้ให้มันพ้นพื้นดิน คนที่อุ้มต้องมีกายสูงกว่าใหญ่กว่าบุคคลที่ถูกอุ้มฉันใด แม้แต่การปฏิบัติในพระธรรมวินัยขององค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาก็เหมือนกัน เราจะทำให้ชาวบ้านเขาเป็นสุข เราต้องทำใจของเราให้ถึงความสุขเสียก่อน

มาตอนนี้เราก็มาพูดกันว่า เราจะทำยังไงล่ะ มันถึงจะสุขจริงๆ ขอบรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง ทุกวันที่เราลืมตาขึ้นมา จงมองดู พรหมวิหาร ๔ เป็นอันดับแรก แล้วก็ดู อิทธิบาท ๔ ดูบารมี ๑๐ แล้วก็ จรณะ ๑๕ ทั้ง ๔ ประการนี้ให้มันอยู่ครบถ้วน จากนั้นไปจิตใจของเราสบาย เราก็มานั่งไล่เบี้ยสังโยชน์ ๑๐ ประการ ตอนนี้เรามานั่งไล่เบี้ยกันแล้ว

สังโยชน์ ๑๐ ประการ เบื้องต้นคือ ๕ อย่างที่มีความร้างแรงและหนัก เราผ่านมาแล้วได้แก่

สักกายทิฏฐิ อันดับต้นมีความรู้สึกว่าเราจะตาย

วิจิกิจฉา การสงสัยในคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่มีในเรา คือคำว่าไม่สงสัยหมายความว่า พระพุทธเจ้าห้ามอย่างไหนเราละอย่างนั้น ทรงสนับสนุนอย่างไหน ปฏิบัติอย่างนั้น มีในเราแล้ว

สีลัพพตปรามาส นี่เรามีศีลบริสุทธิ์

กามฉันทะ เราตัดมันได้แล้ว จากอนาคามี

ปฏิฆะ อารมณ์ที่เข้ามากระทบใจ คือบุคคลใดเขาจะกลั่นแกล้งให้สร้างความโกรธ เราไม่่โกรธในเขา ให้อภัยทาน อย่างนี้เราชนะมันแล้ว

ต่อแต่นี้ไปก็ทบทวนสังโยชน์อีก ๕ ประการ ที่องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นอนุสัย มันเป็นกำลังใจที่ทำยากสักนิดหนึ่ง สังโยชน์ ๕ ประการหลังคือ

รูปราคะ การหลงไหลใฝ่ฝันในรูปฌาน คือเมาในการเข้าฌาน เห็นว่าการเข้าฌานนี่เป็นของประเสริฐ เป็นของเลิศ เป็นของดีพอที่จะโอ้อวดใครต่อใครได้ว่า เราทรงฌานได้ดี ใช้เวลานาน การเมาในรูปฌานอย่างนี้ไม่ดีแน่ เพราะว่า รูปฌาน ก็ดี อรูปฌาน ก็ดี ทั้งสองประการนี้เป็นแต่เพียงบันไดหรือว่าเครื่องรองรับที่จะก้าวเข้าไปสู่ พระนิพพาน ถ้าจิตใจของเรายับยั้งอยู่แค่รูปฌาน และอรูปฌานมันก็ใช้ไม่ได้ คือว่าท่านทั้งหลาย ถ้าจะทิ้งรูปฌานและอรูปฌาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าได้รูปฌานหรือว่าได้อรูปฌานด้วยก็ตาม ได้ฌานอะไรก็ตาม จะต้องทรงฌานไว้เสมอ ไม่ใช่ว่าถ้าเราจะไม่เมาในรูปฌานและอรูปฌาน นั่นเราไม่เกาะในรูปฌานและอรูปฌาน มันก็ไม่ถูก

เรื่องฌานนี้ต้องเกาะ แม้แต่พระพุทธเจ้าเองก็ยังทรงใช้ ในสมัยที่เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระที่เป็นพระอรหันต์ทุกองค์ก็ต้องทรงฌานเป็นปกติ แต่ว่าฌานของพระอริยเจ้าเรียกว่าโลกุตตรฌาน กำลังฌาน ฌานัง แปลว่า การเพ่ง หรือว่า การตั้งใจ กำลังใจพ้นจากสภาวะของโลก นั่นก็คือไม่ติดอยู่ในกามฉันทะ ไม่ติดอยู่ในโลภะ ไม่ติดอยู่ในความโกรธ ความพยาบาท ไม่ติดอยู่ในความหลง เป็นกำลังฌานที่ตั้งใจตรงเฉพาะ พระนิพพาน

ฉะนั้น การที่ไม่ติดอยู่ใน รูปฌาน และ อรูปฌาน แทนที่จะติดอยู่โดยเฉพาะว่า รูปฌาน และอรูปฌานเป็นของดี สามารถทรงกำลังจิตให้มั่นคง จิตเราจะตั้งตรงไว้เฉพาะรูปฌานและอรูปฌาน อย่างนี้เราไม่เอา เราก็เปลี่ยนเป็นว่าใช้กำลังใจให้เป็นฌาน แต่ฌานนี้อยู่ใน อุปสมานุสสติกรรมฐาน คือเอาอุปสมานุสสติกรรมฐาน เข้ามาเป็นอารมณ์ อุปสมานุสสติกรรมฐาน ก็คือ นึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ เห็นว่าโลกเป็นทุกข์ เทวโลกและพรหมโลกเป็นสุขจริง แต่สุขไม่นาน หมดบุญวาสนาบารมีเมื่อไร ก็ต้องลงกลับมาเกิดกันใหม่ มันก็ยุ่งกันอีก เป็นทุกข์ เราไม่ต้องการ

ฉะนั้น ฌานในที่นี้ให้ตั้งไว้ในอุปสมานุสสติกรรมฐาน จิตใจมีความพอใจในพระนิพพานเป็นอารมณ์ อย่างนี้ชื่อว่าไม่หลงในรูปฌานและอรูปฌาน

ต่อไปก็ มานะ การถือตัวถือตน ทรงตรัสว่า อย่าถือตัวเกินไปคำว่าถือตัวเกินไปน่ะมันเกินพอดี ไอ้ตัวน่ะต้องถือ รักษาศักดิ์ศรีในฐานะของตนว่า เวลานี้เราเป็นคนจะไปกินข้าวกับหมาน่ะมันก็ไม่ได้ หรือว่าถ้าเราในฐานะพุทธศาสนิกชน ถ้าเราเป็นพระ เราจะไปวิ่งเล่นกับเด็กมันก็ไม่สมควร หรือว่าถ้าเราเป็นเณร เราจะกินข้าวเย็น ขึ้นต้นไม้เล่นเหมือนลิงมันก็ใช้ไม่ได้ อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลายเป็นผู้ทรงศีล จะทำตนอย่างกะชาวบ้าน ที่เขาปราศจากศีลมันก็ไม่ถูก นี่คำว่าถือตัวนี่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวว่า อย่าถือตัวจนเกินไป คำว่า เกินไป มันก็แสดงว่ายังมีคำว่าถืออยู่ คือให้ถืออยู่ให้สมควรแก่ฐานะที่เราทรงอยู่ ไม่ใช่ไปรังเกียจชาวบ้าน เห็นว่าเราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา เราดีกว่าเขา คนนั้นชั่วคนนี้ดี ปล่อยเขา เราทรงอารมณ์ไว้ตามอัธยาศัย คือในฐานะที่เราเป็นนักพรต ทรง เนกขัมมบารมี แปลว่า ถือบวช

คำว่าเนกขัมมบารมีแปลว่าถือบวชนี่ บวชจะห่มผ้าเหลืองหรือไม่ห่มผ้าเหลืองก็ได้ นุ่งผ้าลาย นุ่งผ้าสีก็ได้ แต่ว่าถ้าใจเป็นพระ ใจปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า พระตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นมาท่านเรียกเราว่า พระ คือเริ่มเข้าเขตของความดี ที่เรียกว่า ประเสริฐ ฉะนั้น การถือตัวถือตนที่เรียกว่า มานะ จงวางเสีย แต่ว่าจงถือไว้แต่พอควร ให้สมควรแก่ฐานะของตน

ดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระทศพล พระพุทธเจ้าท่านเป็นพระพุทธเจ้าเป็นจอมอรหันต์ ท่านก็วางพระองค์ของท่านให้เหมาะสมในฐานะเป็นพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่ทรงถือสาหาความใคร ใครเขาจะเอาอาหารดีมาให้พระองค์ พระองค์ก็ฉัน อาหารที่ชาวบ้านเขาเรียกว่าเลว ให้มาแล้วพระองค์ก็ฉัน เวลาฉันก็ไม่เคยจะต้องหาแท่นที่ประทับเสมอไป ที่ไหนก็ได้ อย่างเรื่องของ นางบุญทาสี

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่อสอนพุทธานุสสติถึงสมาบัติ

พุทธานุสสติถึงสมาบัติ 

แทนที่เราจะภาวนาเฉยๆ เราก็ จับภาพพระพุทธรูป กำหนดภาพไว้ ลืมตาดูภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ ที่เราต้องการ เรามีความเลื่อมใสพอใจอยู่ เวลาจับลมหายใจเข้าออก ภาวนาว่า พุทโธ ก็นึกภาพขององค์สมเด็จพระบรมครู จะเป็นพระพุทธรูปก็ได้ ให้ปรากฏอยู่ในใจ ไม่ใช่ไปนั่งคอยให้ภาพลอยมาแบบนี้ใช้ไม่ได้ ภาวนาไปแล้วก็นึกถึงภาพไปด้วย จะนึกอยู่ในอก ให้เห็นอยู่ในอก หรือเห็นภายนอกก็ได้ไม่จำกัด ถ้านึกถึงภาพนั้นตามภาพเดิม อย่างนี้เรียกว่า อุคคหสมาธิ หรือ อุคคหนิมิต

ถ้าภาพเดิมนั้นขยายไป เปลี่ยนแปลงไปชักจะใหญ่ขึ้น จะสูงขึ้น จะเล็กลง แล้วก็มีสีสันวรรณะ เริ่มเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อยๆ จากสีเดิมกลายเป็นสีจางไปนิดหน่อย จางลงไปจางลงไป แต่เรารู้สึกอารมณ์จิตนึกเห็นชัด นึกเห็นนะไม่ใช่ภาพลอยมา อารมณ์จิตนึกเห็นจนกระทั่งปรากฏเป็นแก้วใส อย่างนี้ก็ชื่อว่าเป็น อุปจารสมาธิตอนกลาง

ตอนนี้แก้วใสที่กลายเป็นแก้วประกายพรึก แพรวพราวไปหมดทั้งองค์ จิตใจสามารถจะบังคับให้ภาพนั้นเล็กก็ได้ จะให้ใหญ่ก็ได้ สูงก็ได้ ต่ำก็ได้ ตั้งอยู่ข้างหน้าก็ได้ ข้างหลังก็ได้ ตามใจนึก นึกอย่างไร ภาพนั้นปรากฏไปตามนั้น มีความใสสะอาดสุกใสเป็นกรณีพิเศษ อย่างนี้องค์สมเด็จพระบรมโลกเชษฐ์ ท่านกล่าวว่าเป็น ปฐมฌาน

การจับภาพนี่จับให้สนิท ให้คิดอยู่เมื่อไรได้เมื่อนั้น เดินไปบิณฑบาต เดินไปธุระ นั่งอยู่ นึกเห็นเมื่อไรเห็นได้เมื่อนั้นทันที นี่อย่างนี้เป็น กสิณ ด้วย เป็นพุทธานุสสติกรรมฐานด้วย ถ้าการเห็นภาพแบบนั้นปรากฏว่า คำภาวนาว่า พุทโธ หายไป ภาพใสขึ้นผิดกว่าเดิม อันนี้เป็น ฌานที่ ๒ แต่มีจิตชุ่มชื่น อาการของจิตมันเหมือนกัน ภาพใสสะอาดขึ้น มีการทรงตัวมากขึ้น มีความแจ่มใสขึ้น ความชุ่มชื่นหายไป มีอาการเครียด จิตทรงตัวแนบนิ่งสนิท แล้วก็ลมหายใจน้อย ได้ยินเสียงภายนอกเบา อันนี้เป็น ฌานที่ ๓

การเห็นภาพชัดเจนแจ่มใสมากเป็นกรณีพิเศษ สว่างไสว คล้ายกับพระอาทิตย์ทรงกลด หรือว่าคล้ายกับกระจกเงาที่สะท้อนแสงแดดดวงใหญ่ ใจไม่ยุ่งกับอารมณ์อย่างอื่น เป็นอุเบกขารมณ์ ทรงสบาย เห็นแนบนิ่งสนิท จะนั่งนานเท่าไรก็เห็นได้ตามความปรารถนา หูไม่ได้ยินเสียงภายนอก ไม่ปรากฏลมหายใจ อย่างนี้เป็น ฌานที่ ๔ ก็ยังเป็นรูปฌานอยู่

ทีนี้ถ้าหากว่าเราจะทำเป็นอรูปฌาน จะทำอย่างไรเราจะทำถึงฌาน ๘ กันนี่ นี่เป็นวิธีแนะนำปฏิบัติตามผลแห่งการปฏิบัติจริงๆ ไม่ใช่เกาะตำราเสียจนแจแล้วไปไหนไม่พ้น การทำให้ถึงฌาน ๘ เขาทำแบบนี้

จับภาพพระพุทธเจ้าองค์นั้นแหละ ที่เป็นประกายพรึกอยู่ เพ่งจับจุดให้จิตจับดี เมื่อจิตทรงอารมณ์ดีแล้ว ก็เพิกภาพนั้นให้หายไป คำว่าเพิก เป็นภาษาโบราณ คือนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป จับ อากาสานัญจายตนะ แทน คือพิจารณาอากาศว่า อากาศนี้หาที่สุดมิได้ มันเวิ้งว้างว่างเปล่า ไม่ีมีจุดจบ จับอากาศเป็นอารมณ์อย่างนี้ เรียกว่า อากาสานัญจายตนะ จิตทรงอยู่ในด้านของฌาน ๔ จับอากาศ ความหวั่นการเคลื่อนไหวของอากาศว่า ว่างมาก โลกนี้หาอะไรเป็นที่สุดมิได้ หานิมิตเครื่องหมายอะไรไม่ได้เลย หาจุดจบไม่ได้ จนกระทั่งจิตทรงอารมณ์ทรงตัวดีแล้ว อย่างนี้จัดเป็น อรูปฌานที่ ๑ ถ้าจะเรียกกันว่าฌาน ก็เป็น ฌานที่ ๕ หรือ สมาบัติ ๕

เมื่อจับอารมณ์ของอากาศได้แบบสบายๆ ใจสบาย นึกขึ้นมาว่าอากาศมันเวิ้งว้าง ทุกอย่างมันว่างเปล่าเป็นอากาศไปหมด โลกทั้งโลกไม่ีมีอะไรทรงตัว คนเกิดมาแล้วก็ตาย สัตว์เกิดมาแล้วก็ตาย ต้นไม้เกิดมาแล้วก็ตาย ภูเขาไม่ช้ามันก็พัง บ้านเรือนโรงก็พัง ผลที่สุดมันก็ว่างไปหมด อย่างนี้เรียกว่า จิตเข้าถึงอากาศได้เป็นอย่างดี เป็น อากาสานัญจายตนะ

ทีนี้ก็มาเป็นวิญญานัญจายตนะ นึกถึงวิญญาณ คือจิต สภาวะของจิต ที่มีอารมณ์คิดเป็นปกติ มันก็ไม่มีอาการทรงตัว มันหาที่สุดไม่ได้ มันไม่มีอะไรทรงตัวอยู่เฉพาะแน่นอน เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็คิดอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็คิดอย่างโน้น ขึ้นชื่อว่าเอาจิตมีอารมณ์เกาะว่า นั่นเป็นเรา นี่เป็นเรา นี่มันไม่ใช่มีอะไรจริง ความจริงจิตมีสภาพไม่นิ่ง จิตมีสภาพไม่แน่นอน เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนั้น เดี๋ยวมันก็ชอบอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ต้องการอย่างโน้น จึงถือว่าอารมณ์ของจิตนี่หาที่สุดมิได้

นี่เราไม่มีความต้องการอารมณ์อย่างนี้ จนกระทั่งอารมณ์จิตของเรานี้ มีความแนบแน่นสนิท ไม่มีความผูกพันอะไร ในด้านร่างกายก็ดี ในวัตถุก็ดี ไม่เอา แล้วก็ไม่สนใจ ต้องการอย่างเดียว อากาศ คือความว่างเปล่า ปราศจากแม้แต่จิต ถ้าถือว่าขณะใดยังมีขันธ์ ๕ ยังมีภาพอยู่ ยังมีจิตเป็นเครื่องเกาะ มันมีความทุกข์อย่างนี้ ถ้าจิตมันทรงอยู่ได้ตลอดเวลา นึกขึ้นมาเมื่อไร อารมณ์ว่างไม่เกาะอะไรทั้งหมด มันจะเป็นอย่างไรก็ช่างหัวมัน สภาวะทั้งหลายในโลกไม่มีอะไรเป็นเรา เป็นของเราเลย มันไม่มีอะไรทรงตัว มีอารมณ์ว่าง หาที่สุดมิได้ ถ้าเราเกาะโลกอยู่เพียงใด ก็ชื่อว่าเราเป็นผู้มีทุกข์

นี่อาการอย่างนี้คล้ายคลึงวิปัสสนาญาณมาก อย่างนี้เรียกว่าได้ วิญญาณัญจายตนะฌาน นี่เป็นอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ เราพูดกันถึงอารมณ์ ถ้าไปอ่านตามแบบบางทีจะค้านกัน เมื่อเราได้วิญญาณัญจายตนะแล้ว ก็ชื่อว่าได้สมาบัติที่ ๖ หรือ ฌานที่ ๖ อย่าลืมนะว่า เราต้องจับภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณก่อน ต่อมาเราก็เพิกให้หายไป ถือเอากสิณนำให้จิตมันจับเป็นอารมณ์ทรงตัวก่อนนั่นเอง เพราะกสิณเป็นของหยาบ จับให้ทรงตัวแล้ว จงนึกว่าขอภาพนี้จงหายไป

ทีนี้ก็มาพิจารณา ฌานที่ ๗ หรือสมาบัติที่ ๗ คืออากิญจัญญายตนะฌาน พิจารณาว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรเหลือเลยนี่ มันพังหมดมันสลายตัวหมด ตึกรามบ้านช่อง เขาสร้างขึ้นมาอย่างดีๆ ก็พัง บ้านเมืองเก่าๆ เขาสร้างแข็งแรงก็พัง กำแพงเมืองใหญ่อย่างกำแพงเมืองจีน กำแพงเมืองไทย กำแพงเมืองฝรั่ง เขาสร้างแข็งแรงมากที่สุด มันก็พัง ภูเขามันก็มีอาการผุ เขาเอาดินมาทำลูกรัง มันก็ผุจมหายไปหมด คนก็ดี สัตว์ก็ดี ต้นไม้ก็ดี เรือนโรงก็ดี เมื่อถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรเหลือ อากิญจัญญายตนะ นี่เขาแปลว่า หาอะไรเหลือไม่ได้ จิตใจว่างจากอารมณ์ เลยไม่ยึดถืออะไรทั้งหมด อะไรเล่าที่เป็นสาระสำหรับเราไม่มี แม้แต่ร่างกายของเรานี้ ไม่ช้ามันก็พัง การทรงร่างกายอยู่อย่างนี้มันเป็นทุกข์ เราไม่ต้องการมีร่างกายอีก ถ้าอารมณ์อย่างนี้มันทรงตัวได้ดีแล้ว ก็ชื่อว่าเราได้ อากิญจัญญายตนะฌาน เป็นสมาบัติที่ ๗

ทีนี้มาสมาบัติที่ ๘ จับภาพพระพุทธรูปเป็นอารมณ์ ทรงอารมณ์แจ่มใสให้ใจสบาย เป็นอุเบกขารมณ์ อรูปฌานนี่ก็ทรงฌาน ๔ นั่นเอง แต่มาจับเป็นส่วนอรูป อารมณ์มันเท่ากัน มาจับเนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน เรามีสัญญาความรู้สึก ทำตนเหมือนคนไม่มีสัญญา เพราะเห็นว่าร่างกายไม่มีสาระ ร่างกายไม่มีแก่นสาร ร่างกายเป็นปัจจัยของความทุกข์ วัตถุทั้งหมดไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีอะไรเป็นที่อาศัยจริงจัง ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้

เวลาร่างกายมันจะหิว มันมีอาหารกินก็กิน ไม่มีกินก็ทำสบาย รู้สึกว่าหิวแล้วทำเหมือนว่าไม่หิว มันหนาวมันไม่มีอะไรจะเป็นเครื่องปกปิด ก็นอนมันเฉยๆ มันหนาวก็หนาวไป ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่หนาว ร้อนก็ทำเฉยๆ ทำเหมือนว่าเป็นคนไม่ร้อน ใครเขาด่าว่าอะไรก็ทำเหมือนว่าไม่มีคน ไม่สนใจกับอะไรทั้งหมด มีสัญญาก็เหมือนกับคนที่ไม่มีสัญญา คือความจำมันมีอยู่ แต่ทำเหมือนกับคนที่ไม่มีความจำ ทำแบบนี้แล้วจิตมันเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ จิตมันเป็นสุข ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา หนาวก็หนาวไป ช่างหัวมันไม่สนใจ ร้อนก็ร้อนไป มันอยากหิว หิวก็หิวไป ไม่มีจะกินก็แล้วไป มีกินก็กิน ไม่มีก็ไม่กิน มันอยากจะแก่ก็แก่ไป มันอยากจะป่วยก็ป่วยไป มันจะตายเมื่อไรก็ช่างหัวมัน ขันธ์ ๕ มันไม่ดี เราไม่ตั้งใจจะคบเลย ไม่ต้องการจำอะไรมันทั้งหมด ไม่สนใจอะไรกับมันเลยทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่าเป็น ฌานที่ ๘ หรือสมาบัติที่ ๘ นี่อาการมันใกล้วิปัสสนาญาณเต็มที

ฉะนั้นองค์สมเด็จพระชินศรีจึงกล่าวว่า คนที่ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ถ้าเจริญวิปัสสนาญาณ พระโบราณาจารย์ สมัยโบราณท่านบอกว่า เพียงแค่เคี้ยวหมากแหลกเดียวก็เป็น พระอรหันต์ หากว่าเราได้สมาบัติ ๘ แบบนี้แล้ว ใช้สมาบัติ ๘ เป็นพื้นฐาน พิจารณาวิปัสสนาญาณในด้านสังโยชน์ ๑๐ คือมีสักกายทิฏฐิ เป็นต้น หรือว่าพิจารณา อริยสัจ ๔ วิปัสสนาญาณ ๙ หรือพิจารณาขันธ์ ๕ ก็ตาม ประเดี๋ยวเดียวมันก็เป็น พระโสดา สกิทาคา อนาคา พอเข้าถึงพระอนาคามี เราก็ได้ปฏิสัมภิทาญาณ



จากหนังสือ กรรมฐาน ๔๐ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

by admin admin ไม่มีความเห็น

หลวงพ่ออธิบายเรื่องพรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร ๔

พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมเป็นที่อยู่ของพรหม คำว่าพรหม แปลว่าประเสริฐ เป็นอันได้ความว่า คุณธรรม ๔ อย่างนี้ เป็นคุณธรรมที่ทำผู้ประพฤติปฏิบัติให้เป็นผู้ประเสริฐ คือเป็นมนุษย์ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้ ก็เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐโดยคุณธรรม ถ้าตายจากมนุษย์ก็เป็นเทวดาผู้ประเสริฐโดยบุญญาธิการ คือไปเกิดบนชั้นพรหม นอกจากความประเสริฐโดยธรรมในสมัยที่เป็นมนุษย์แล้ว ท่านว่าคุณธรรม ๔ ประการนี้ยังให้อานิสงส์เป็นความสุขแก่ผู้ปฏิบัติถึง ๑๑ ประการ ตามที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค ดังต่อไปนี้ 

๑. สุขัง สุปฏิ นอนหลับเป็นสุข เหมือนนอนหลับในสมาบัติ 
๒. ตื่นขึ้นก็มีความสุข มีอารมณ์แช่มชื่นหรรษา ไม่มีความขุ่นมัวในใจ 
๓. นอนฝัน ก็ฝันเป็นมงคล 
๔. เป็นที่รักของมนุษย์ เทวดา พรหม และภูติผีทั้งปวง 
๕. เทวดาและพรหมจะรักษา ให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง 
๖. จะไม่มีอันตรายจากเพลิง ไม่มีอันตรายจากสรรพาวุธและยาพิษ 
๗. จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์สมาธิเป็นปกติ สมาธิที่ได้ไว้แล้วจะไม่เสื่อม จะเจริญรุดหน้ายิ่งขึ้น 
๘. มีดวงหน้าผุดผ่องเป็นปกติ 
๙. เมื่อจะตาย จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สติฟั่นเฟือน 
๑๐. ถ้ามิได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ ผลแห่งการเจริญพรหมวิหาร ๔ ก็จะส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลก 
๑๑. มีอารมณ์แจ่มใส จิตใจปลอดโปร่ง ทรงสมาธิ วิปัสสนา และทรงศีลบริสุทธิ์ผุดผ่องเป็นปกติ 

หัวข้อพรหมวิหาร ๔

๑ . เมตตา แปลว่าความรัก หมายถึงความรักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี แต่ต้องไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จะเป็นผลตอบแทนทางกำลังใจ หรือวัตถุก็ตาม จึงจะตรงกับคำว่าเมตตาในที่นี้ ถ้าทำไปแล้วหวังตอบแทนบุญคุณด้วย ด้วยการแสดงออกของผู้รับเมตตาหรือหวังตอบแทนด้วยวัตถุ ความต้องการอย่างนั้นถ้าปรากฏในความรู้สึกเป็นเมตตาที่เจือด้วยอารมณ์กิเลส ไม่ตรงต่อเมตตาในพรหมวิหารนี้

ลักษณะของเมตตา ควรสร้างความรู้สึกคุมอารมณ์ไว้ตลอดวันว่า เราจะหวังสร้างความเมตตาสงเคราะห์ เพื่อนที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่มีในโลกนี้ทั้งมวล เราจะไม่สร้างความสะเทือนใจ ความลำบากกายให้เกิดมีขึ้นแก่คนและสัตว์ เพราะความสุขความทุกข์ของคนและสัตว์ทั้งมวล เราถือว่าเป็นภาระของเราที่จะต้องสงเคราะห์หรือสนับสนุน ความทุกข์มีขึ้น เราจะมีทุกข์เสมอด้วยเขา ถ้าเขามีสุข เราจะสบายใจด้วยกับเขา มีความรู้สึกรักคนและสัตว์ทั่วโลก เสมอด้วยรักตนเอง 

๒. กรุณา แปลตามศัพท์ว่า ความสงสาร หมายถึงความปรานี ปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ ความสงสารปรานีนี้ ก็มีอาการที่ไม่หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกับเมตตา มุ่งหน้าสงเคราะห์คนและสัตว์ที่มีความทุกข์อยู่ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์เท่าที่จะทำได้ ลักษณะของกรุณา ก็คือการสงเคราะห์ในการให้ปันด้วยวัตถุ ตามกำลังที่พอจะช่วยได้ ถ้าวัตถุของเรามีไม่พอ ก็พยายามแสวงหามาสงเคราะห์โดยธรรม คือหามาโดยชอบธรรม

ทั้งนี้หมายความว่า ถ้าผู้ที่จะสงเคราะห์ขัดข้องทางวัตถุ ถ้าตนเองแสวงหามาได้ไม่พอเหมาะพอดี ก็แนะนำให้ผู้หวังสงเคราะห์ไปหาใครคนใดคนหนึ่งที่คิดว่าเขาจะสงเคราะห์ เป็นการชี้ช่องบอกทาง ถ้าเขาขัดข้องด้วยวิชา ก็สงเคราะห์บอกกล่าวให้รู้ตามความรู้ ถ้าตนเองรู้ไม่ถึงก็แนะนำให้ไปหาผู้ที่เราคิดว่ามีความรู้พอบอกได้

๓. มุทิตา แปลตามศัพท์ว่า มีจิตอ่อนโยน หมายถึงจิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน มีอารมณ์แจ่มใสแช่มชื่นตลอดกาลเวลา เห็นใครได้ดีก็ผ่องใส ชื่นอกชื่นใจ มีอาการคล้ายกับตนพลอยได้ด้วย ทั้งนี้อารมณ์ของท่านที่มีมุทิตาประจำใจนั้น คิดอยู่เสมอว่า ถ้าคนทั้งโลกมีโชคดีด้วยทรัพย์ และมีความเฉลียวฉลาดเหมือนกันทุกคนแล้ว โลกนี้จะเต็มไปด้วยความสุขและเยือกเย็น ปราศจากภยันตรายทั้งมวล คิดยินดี ให้ชาวโลกทั้งมวลเป็นผู้มีโชคดีตลอดวันและคืน อารมณ์พลอยยินดีนี้ ต้องไม่เนื่องเพื่อผลตอบแทน ถ้าหวังการตอบแทนแม้แต่เพียงคำว่าขอบใจ อย่างนี้เป็นมุทิตาที่อิงกิเลส ไม่ตรงต่อมุทิตาในพรหมวิหารนี้ ความแสดงออกถึงความยินดีในพรหมวิหาร ไม่หวังผลตอบแทนด้วยกรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

๔. อุเบกขา แปลว่าความวางเฉย ไม่ใช่เฉยตลอดกาล ใครจะเป็นอย่างไรก็เฉย ความวางเฉยในพรหมวิหารนี้ หมายถึงเฉยโดยธรรม คือทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ที่จะต้องได้รับทุกข์หรือรับสุข พร้อมกันนั้นก็มีอารมณ์ประกอบด้วยความเมตตาปรานี พร้อมที่จะสงเคราะห์ในเมื่อมีโอกาสจากหนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน หลวงพ่อพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี

Top